Wisesight เคยเปิดเผยว่า เอ็นเกจเมนต์บนโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวกับ Luxury Brand มีจำนวนครั้งสูงถึง 56 ล้าน เพียงแค่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นี่อาจสะท้อนได้ว่าความหรูหรากับคนไทยมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
ลึกลงไป การสร้างภาพลักษณ์ที่หรูหราสำหรับกลุ่มคนระดับบน ยังสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมและความสำเร็จ ผ่านการเลือกซื้อโปรดักส์เรื่อยไปจนถึงเลือกโครงการอยู่อาศัยอีกด้วย
เจาะข้อมูลสำคัญ ตลาดบ้านระดับลักชัวรีที่มีมูลค่าต่อหลังมากกว่า 20 ล้านบาท กำลังเติบโตและร้อนแรงในสังคมไทย ผ่านอัตราการเพิ่มขึ้นของซัพพลายใหม่สูงขึ้นอย่างมีนัย ตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ความต้องการเกี่ยวกับ “เฟอร์นิเจอร์” ในกลุ่มลักชัวรีสูงขึ้นอย่างโดดเด่นด้วยเช่นกัน สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคบางส่วนที่เริ่มมองหาสินค้าที่มีคุณภาพและความหรูหราเพื่อใช้งานมากขึ้นเช่นกัน
โดยกลุ่มลูกค้าของธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ระดับลักชัวรีในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์นำเข้า มีตั้งแต่โครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับหรู (ทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุด) กลุ่มนักออกแบบตกแต่งภายใน กลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์ที่มีกำลังซื้อสูง กลุ่มลูกค้าองค์กรที่ต้องการตกแต่งสำนักงานด้วยเฟอร์นิเจอร์ระดับพรีเมียม รวมถึงกลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทหรูไปจนถึงกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเฟอร์นิเจอร์เฉพาะทางอีกด้วย
อินไซต์บทวิเคราะห์ของวิจัยธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ รายงานว่า หากอ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า รายได้รวมของธุรกิจดังกล่าวในปี 2566 อยู่ที่ 71,807 ล้านบาท ซึ่งแม้รายได้รวมจะลดลง แต่พบว่าส่วนกำไรสุทธิรวมของธุรกิจอยู่ที่ 235 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 18.6% จากปีก่อนหน้า
สำหรับช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์โดยรวมอยู่ที่ 5,804 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลเฉพาะตลาดเฟอร์นิเจอร์ระดับลักชัวรีในประเทศไทย แต่ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป นั่นทำให้การแข่งขันในตลาดดุเดือดเช่นกัน
บริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ จำกัด (มหาชน) รายได้ 1.32 พันล้านบาท
บริษัท ชนินทร์ ลิฟวิ่ง จำกัด รายได้ 1.3 พันล้านบาท
บริษัท อาร์คิเทคทูรา จำกัด รายได้ 318 ล้านบาท
บริษัท เจริญทรัพย์กำลัง 3 จำกัด รายได้ 136 ล้านบาท
บริษัท โอลิเวีย ลีฟวิ่ง จำกัด รายได้ 135 ล้านบาท
บริษัท โลตัส โฮม ดีไซน์ จำกัด รายได้ 105 ล้านบาท
บริษัท ควอตโตร ดีไซน์ จำกัด รายได้ 92 ล้านบาท
บริษัท กราเทีย (อินเตอร์เนชั่นแนล) จำกัด รายได้ 47 ล้านบาท
บริษัท อินเดก้า ลิฟวิ่ง จำกัด รายได้ 18 ล้านบาท
บริษัท ราลฟ์ อาคิเทคเจอร์แอนด์อินทีเรียดีไซน์ จำกัด รายได้ 11 ล้านบาท
เจาะผู้เล่นอย่าง ชนินทร์ลิฟวิ่ง (CHANINTR) ได้นำเข้าแบรนด์ดังกว่า 30 แบรนด์ เช่น Herman Miller, Baker, Bernhardt จากสหรัฐฯ, Minotti จากอิตาลี, Bulthaup จากเยอรมนี
โดยสัดส่วนตลาดของ CHANINTR ในปี 2565 สูงถึง 27.9% ขณะยูโร ครีเอชั่นส์ (Euro Creations) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์หรูจากแบรนด์ดังต่างประเทศ เช่น Christopher Guy, Poltrona Frau และ Frette ส่วนอินเดก้า (INDECA Living) นำเข้าและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ระดับหรูจากแบรนด์ดีไซเนอร์ชั้นนำ โดยมีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ในอุตสาหกรรมการออกแบบภายใน
ส่วนตัวอย่างรายใหญ่ที่ขยายธุรกิจของตนเองสู่ตลาดลักชัวรี เช่น โมเดอร์นฟอร์ม เข้ามาถือหุ้นสัดส่วน 60% ในบริษัท เจริญทรัพย์กำลัง 3 จำกัด (MOTIF) ซึ่งเดิมเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ และของตกแต่งบ้านระดับพรีเมียมรายหลักรายหนึ่งในไทย โดยนำเข้าจากยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย
ทั้งนี้ วิจัยธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ประเมินต่อว่า แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ระดับลักชัวรีในไทย อีก 1-2 ปีข้างหน้า ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวตามลำดับ โดยเฉพาะจากปัจจัยการขยายตัวของโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับบน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เป็นต้น
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า , Wisesight , วิจัย LH
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney