หากพูดถึงสินค้าแบรนด์ดังที่อยู่คู่ครัวเรือนคนไทย คงจะมีชื่อของ แอทแทค, มาจิคลีน,ไฮเตอร์, ลอรีเอะ, บิโอเร ที่หลายคนคุ้นชื่อ หรือเคยเป็นลูกค้าอย่างแน่นอน แต่รู้หรือไม่ว่า? สินค้าทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้ “คาโอ” (KAO) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภค และเคมีภัณฑ์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น
ซึ่ง “คาโอ” (KAO) ก่อตั้งขึ้นในปี 1887 โดย “โทมิโร นางาเสะ” ที่ก่อนหน้านั้นได้เปิดร้านขายของจิปาถะนำเข้าจากแถบทวีปตะวันตก ชื่อร้าน “นางาเสะโชเต็ง” ต่อมาได้ทำการพัฒนาสินค้าแรกของคาโอซึ่งนั่นคือ “สบู่คาโอ”
เวลาต่อมา “คาโอ” ได้ขยับขยายธุรกิจไปยังหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลผ้า, ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้าน, ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม และผลิตภัณฑ์ความงามและสุขภาพ ผ่านผลิตภัณฑ์กว่า 20 แบรนด์สินค้าชั้นนำ อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อใช้ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการขยายไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งในเอเชีย, ยุโรป และอเมริกาเหนือ
พร้อมกับดำเนินธุรกิจโดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มายาวต่อเนื่องกว่า 137 ปี สร้างยอดขายรวมกว่า 1,530 พันล้านเยนต่อปี มีพนักงานกว่า 34,300 คนทั่วโลก
คู่รอยยิ้ม ครัวเรือนไทย
ขณะที่ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2507 โดยมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสินค้า เพื่อช่วยให้ชีวิตประจำวันของผู้คนง่ายขึ้น เริ่มจากผลิตภัณฑ์แรก คือ แชมพูแฟซ่าแบบผง สู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขอนามัยและการป้องกัน คู่รอยยิ้มครัวเรือนไทย ผ่านผลิตภัณฑ์กว่า 11 แบรนด์สินค้าชั้นนำ อาทิ แอทแทค มาจิคลีน ไฮเตอร์ ลอรีเอะ เมอร์รี่ส์ เมะกุริธึ่ม แฟซ่า ลิเซ่ บิโอเร คิวเรล และเจอร์เกนส์
ซึ่งตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ได้มีการวิจัยและพัฒนา รวมถึงลงพื้นที่สำรวจครัวเรือน จนเข้าใจวิถีของผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างดี จนสามารถผลิตสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและสังคมไทยอย่างแท้จริง จึงถือว่า “คาโอ” เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการสินค้าอุปโภคทั้งในประเทศญี่ปุ่น และไทยเลยก็ว่าได้
ส่วนเหตุผลอะไรที่ทำให้ “คาโอ” ครองใจคนไทย และอยู่ในตลาดมานานกว่า 6 ทศวรรษนั้น หลายๆ คนอาจจะตั้งข้อสงสัย โดยเฉพาะในยุคที่ทุกอย่างดูมาไวไปไวไปหมดไม่เว้นแม้แต่โลกธุรกิจ ยิ่งตลาดสินค้าอุปโภคที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมปราบเซียน
ยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวกับ Thairath Money ว่า จุดยืนที่ทำให้คาโออยู่ในตลาดมานานกว่า 60 ปี นั้นเห็นจะเป็นการเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคพร้อมกับอยู่เคียงข้างผู้บริโภคชาวไทยมาทุกยุคทุกสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมเพื่อเติมเต็มการใช้ชีวิตให้กับผู้บริโภค ทั้งการส่งมอบในเรื่องของตัวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละยุค ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าคาโอพยายามนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคชาวไทยอย่างต่อเนื่อง
ส่วนอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้คาโอตัดสินใจเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทย หากเล่าย้อนกลับไปในช่วงนั้นคาโอต้องการที่จะขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ และไทยก็เป็นประเทศแรกที่เป็นบริษัทนอกประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากความโดดเด่นในเรื่องของเศรษฐกิจที่มีการเติบโต รวมทั้งประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเมืองที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ บวกกับโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง อีกทั้ง เมื่อเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลาดเกี่ยวกับความสวยความงามของไทยจะค่อนข้างมีขนาดที่ใหญ่กว่า และขยายตัวได้ดี จึงเป็นสิ่งที่ทำให้คาโอมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจนั่นเอง
จับมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ สิ่งที่คาโอส่งมอบให้กับผู้บริโภคไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังได้ให้ความสำคัญกับด้านความยั่งยืน และเป็นส่วนร่วมสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม ที่จะเป็นแผนของการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ไป
สำหรับภาพรวมตลาดอุปโภคบริโภคปัจจุบันนั้น ชิมิซึ มองว่า ปี พ.ศ. 2567 ตลาดสินค้าอุปโภค ในไทยฟื้นกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือประมาณช่วงปี พ.ศ. 2562 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนในปี พ.ศ. 2568 มีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกันพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคส่วนใหญ่ นอกจากเรื่องคุณภาพแล้วมักจะให้ความสนใจในสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันสิ่งที่เป็นอุปสรรคคือ การทำสินค้าลักษณะนี้ค่อนข้างมีต้นทุนที่สูง ถือเป็น “กำแพง” อย่างหนึ่งที่ทำให้สินค้าที่มีความยั่งยืนไม่สามารถแพร่หลายได้
ดังนั้น ผู้ผลิตจึงไม่สามารถก้าวข้ามได้ด้วยบริษัทเดียว แต่กลายเป็นปัญหาทั้ง Value Chain ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์ และเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้า
อย่างไรก็ตาม ชิมิซึ มองว่า “ถ้าปริมาณมันเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ Cost ก็จะลดลง” หากได้ร่วมมือกับบริษัทอื่นด้วยก็จะสามารถทำอะไรได้มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้คาโอจึงตัดสินใจลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการสำหรับ "การสร้างธุรกิจระดับโลก" และ "การสร้างธุรกิจผ่านการทำโปรเจคต์ร่วมกับพันธมิตร" ในแผนระยะกลางหรือ K27
ผ่านการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจร่วมกัน เนื่องจากทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับคาโอ มีจุดเชื่อมโยงในเรื่องของกิจกรรมด้านความยั่งยืนค่อนข้างหลากหลายประเด็น การนำเอาจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายมาเป็นพันธมิตร จะทำให้เกิดกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยกรอบของความร่วมมือในครั้งนี้ คือร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินค้าอุปโภคในกลุ่ม House Brand ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. Group) โดยโดยใช้นวัตกรรมของคาโอ คอร์ปอเรชั่น เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาศึกษาความเป็นไปได้ รวมทั้งนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากคาโอ คอร์ปอเรชั่น และวางจำหน่ายแบบเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะห้างร้านภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยความร่วมมือของสองบริษัทที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน จะเป็นการผนึกความเชี่ยวชาญเพื่อเป้าหมายร่วมกันในการสร้างสังคมสีเขียวอย่างยั่งยืน
ส่งเสริมโครงการเกี่ยวกับความยั่งยืนในด้านอื่น นอกเหนือจากของสินค้าในครัวเรือน
เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่คาโอผลิตจะเป็นพลาสติกซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องมีการวางกลยุทธ์เพื่อพัฒนาให้บรรจุภัณฑ์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เริ่มจากที่ การลดปริมาณการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ ลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก CO2 และส่งเสริมให้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ 100% ให้มากขึ้น
นอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนแล้ว บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ยังมีส่วนช่วยเหลือสังคมไทยในด้านสินค้าเคมีภัณฑ์ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองและนำนวัตกรรม NEWTLAC นวัตกรรมล้ำสมัยที่เป็นการผสมผสานระหว่าง พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ และนำมาผสมกับยางมะตอย เพื่อใช้ในการสร้างถนนซึ่งได้จากการนำขวดพลาสติก PET ที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการทางเคมีจนได้ผงละเอียดสีเหลืองคล้ายน้ำตาลทราย จากนั้นนำไปผสมกับยางมะตอยปกติผลลัพธ์ที่ได้คือยางมะตอยชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติโดดเด่นทั้งด้านความแข็งแรง ความทนทานกว่าเดิม ทนการกัดเซาะน้ำได้ดี และยืดอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเดิม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับเป้าหมาย “การไม่สร้างขยะ” อีกด้วย
จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นโปรเจคต์มากมายของคาโอได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น การได้รับคะแนน AAA จาก CDP (ด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ป่าไม้ และแหล่งน้ำ) ในระดับ AAA เป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน อีกทั้งเป็นบริษัทหนึ่งเดียวในเอเชียที่ได้รับเลือกให้เป็น World’s Most Ethical Companies (บริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลก) เป็นเวลา 18 ปีติดต่อกัน
และเมื่อถามถึงในมุมของกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแลกิจการที่ดีและบริหารงานอย่างโปร่งใส (ESG) ชิมิซึ กล่าวทิ้งทายว่า “คาโอมีเป้าหมายที่จะทุ่มเทอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างอนาคตที่สดใสให้กับผู้คนทั่วโลก และสร้างโลกที่ยั่งยืนที่ทุกชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้น การสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนผ่านธุรกิจของเรา จึงถือเป็นความตั้งใจของคาโอนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ซึ่งเราจะรวมมุมมองด้าน ESG เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เรายังคงเดินหน้าที่จะเป็นส่วนสำคัญในสังคมและร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืนต่อไป”