“พาณิชย์” เปิดกลยุทธ์ใหม่สร้างรายได้เข้าประเทศ ยึด “ไทม์สแควร์” โชว์ซอฟต์พาวเวอร์-สินค้าไทย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“พาณิชย์” เปิดกลยุทธ์ใหม่สร้างรายได้เข้าประเทศ ยึด “ไทม์สแควร์” โชว์ซอฟต์พาวเวอร์-สินค้าไทย

Date Time: 16 ก.ย. 2567 06:01 น.

Summary

  • “ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และ “นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถึงกลยุทธ์ที่ใช้ผลักดันการส่งสินค้าไทยในการเดินทางมาครั้งนี้ รวมทั้ง ความสำคัญของตลาดสหรัฐฯที่มีต่อการค้าและการส่งออกของไทย

Latest

ยกระดับงานสถาปนิก ’68 เพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ รับอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้น

แม้ว่าวันนี้ “นายภูมิธรรม เวชยชัย” จะอยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ในรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การนำของ รมว.ภูมิธรรม ได้มีแนวนโยบายใหม่ๆ ที่นำมาใช้ส่งเสริม และผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการของไทยที่น่าสนใจหลายอย่าง

อย่างเช่นการสร้างโอกาสทางการค้าผ่านกลยุทธ์การตลาดแนวใหม่ โดยใช้ซีรีส์ชายรักชาย (Y) และซีรีส์หญิงรักหญิง (YURI) ในการ Tie-in สินค้าไทยในซีรีส์ หรือการนำ Influencer ทั้งของไทย และต่างประเทศ ที่มีชื่อเสียง มีผู้ติดตามจำนวนมากมาช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าไทย

เพื่อช่วยสร้างการรับรู้และภาพจำในสินค้าและบริการของไทย กระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ นำมาซึ่งการสร้างรายได้เข้าประเทศ และช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างมั่นคง

โดยในปี 67 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1-2% จากปี 66 ที่มีมูลค่า 284,749.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือจะแตะ 10 ล้านล้านบาทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ล่าสุด เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.67 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำโดย “นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปประชาสัมพันธ์ประเทศไทย และสินค้าไทยในย่าน “ไทม์สแควร์” (Time Square) สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกของนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์

โดยมีไฮไลต์อยู่ที่การจัดแสดงสื่อประชาสัมพันธ์ “อาหารไทย” บน Billboard ในย่าน Times Square ต่อเนื่อง 30 นาที ตั้งแต่เวลา 17.00-17.30 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง เพราะเป็นเวลาที่คนนิวยอร์ก และนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก มาเยือนไทม์สแควร์อย่างเนืองแน่น

“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และ “นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถึงกลยุทธ์ที่ใช้ผลักดันการส่งสินค้าไทยในการเดินทางมาครั้งนี้ รวมทั้ง ความสำคัญของตลาดสหรัฐฯที่มีต่อการค้าและการส่งออกของไทย

ยึดไทม์สแควร์โปรโมตสินค้าไทย

นายวุฒิไกรเล่าว่า ภารกิจสำคัญคือการยึดใจกลางย่าน “ไทม์ สแควร์” (Time Square) จัดงานประชาสัมพันธ์ประเทศไทย และสินค้าไทย ภายใต้ชื่อ Ignite Thailand Festival : Think Thailand, Next Level

ทั้งนี้ เพื่อประกาศให้โลกรับรู้ถึงคุณภาพ มาตรฐาน ความก้าวหน้าในสินค้าต่างๆของไทย ทั้งอาหาร เครื่องปรุงรส แฟชั่น รวมทั้งร้านอาหารไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์สินค้าและบริการไทย สร้างทัศนคติที่ดีต่อแบรนด์ สร้างโอกาสการเข้าถึงสินค้า และสร้างการรับรู้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT โดยเชิญอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังในสหรัฐฯกว่า 20 รายเข้าร่วมด้วย

“ปัจจุบันผู้บริโภคในสหรัฐฯรู้จักสินค้าไทยไม่มากนัก และไม่ทราบว่าสินค้าหลายอย่างผลิตจากไทย มาครั้งนี้เป็นการแนะนำให้รู้ว่าไทยมีมากกว่าที่เคยรู้จัก และช่วยปลุกกระแส “ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น”

นายวุฒิไกรเล่าถึงการจัดแสดงสื่อประชาสัมพันธ์อาหารไทยบน Billboard บริเวณ Times Square ซึ่งดึงดูดความสนใจของผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นได้อย่างมากว่า

“ผมตื่นเต้นมากที่เห็นโฆษณาสินค้าไทย อาหารไทยบน Billboard ขนาดใหญ่ใน Times Square ย่านที่มีชื่อเสียง และผู้คนคึกคักมาก และงานนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะประชาสัมพันธ์สินค้าไทย step ต่อไป กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ต้องไปคิดต่อว่าจะประชาสัมพันธ์สินค้าอื่นๆยังไง โดยเฉพาะอาหารนวัตกรรม อาหารแห่งอนาคต ที่ไทยมีศักยภาพมาก”

โดยในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะไปโปรโมตสินค้าไทย ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ที่ King Power Stadium เมืองเลสเตอร์ และย่านพิคคาดิลลี่ (Piccadilly Circus) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ขณะที่งาน Ignite Thailand Festival ที่จัดขึ้นที่ย่านไทม์สแควร์ มีคูหาสินค้าไทย 19 คูหา ประกอบด้วยอาหาร, แฟชั่น, ร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT 9 ร้าน, คูหาแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย, คูหาทีมประเทศไทย โดยมีการแสดงรำไทย มวยไทย และสาธิตทำอาหารไทยจากเชฟชื่อดัง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่เยี่ยมชมไทม์สแควร์อย่างล้นหลาม

ทั้งนี้ นายมาร์ค ฟิลลิปส์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ แสดงความเห็นว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯยังรู้จักสินค้าไทยไม่มาก แม้สินค้ามีคุณภาพ มาตรฐาน เพราะไทยขาดเรื่องการทำการตลาดที่ชัดเจน ทำให้สินค้าไม่มีจุดยืนในใจผู้บริโภคสหรัฐฯ

“ไทยต้องหาจุดขายของสินค้าให้พบ บอกเล่าเรื่องราวของสินค้าให้มีความน่าสนใจ รัฐบาลก็ต้องช่วยผู้ประกอบการสร้างแบรนด์ และทำให้แบรนด์เข็มแข็ง เพื่อให้ครองใจผู้บริโภคได้ ซึ่งการเปิดตัวที่ไทม์สแควร์ถือว่าดีมาก เพราะช่วยสร้างการรับรู้สินค้าไทยได้ดีมาก”

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

กระตุ้นบริโภคข้าวไทย–อาหารไทย

ทั้งนี้ หลังจากการใช้กลยุทธ์เปิดตัวเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพรวมของประเทศไทย และสินค้าไทยให้ผู้บริโภคสหรัฐฯได้รู้จักมากขึ้นแล้ว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ข้าวไทย ณ Tasting Studio ณ นครนิวยอร์ก

โดยมีเชฟชื่อดัง “เซดริก วองเกริชเทน” ลูกชายของ “ฌอง จอร์จ วองเกริชเทน” หนึ่งในเชฟที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก มาสาธิตการใช้ข้าวชนิดต่างๆของไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ มาทำเมนูอาหารนานาชาติ พร้อมเชิญผู้นำเข้า สื่อมวลชนในวงการอาหาร ผู้บริโภคเป้าหมายระดับ VIP อินฟลูเอนเซอร์ กว่า 20 ราย ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 4.33 ล้านราย มาร่วมกิจกรรมด้วย

นายวุฒิไกรบอกว่า กิจกรรมนี้ต้องการสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบว่าข้าวไทยมีความหลากหลายและทำอาหารของหลายประเทศ หลายเชื้อชาติได้ ไม่ใช่เฉพาะอาหารไทยเท่านั้น เพื่อให้สามารถขยายกลุ่มผู้บริโภคได้หลากหลายเชื้อชาติมากขึ้น มั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคข้าวไทย ผลิตภัณฑ์จากข้าวไทย และอาหารไทยเพิ่มขึ้นได้

“นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ข้าวไทยในด้านมาตรฐานและคุณภาพ ช่วยยกระดับการเข้าถึงผู้บริโภคสหรัฐฯ จากการให้ความรู้สู่การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นผ่านกิจกรรมต่างๆ และจะช่วยส่งเสริมการนำเข้าข้าว และผลิตภัณฑ์จากข้าว รวมถึงวัตถุดิบประกอบอาหารไทยให้มากยิ่งขึ้น”

รุกตลาดออนไลน์-ออฟไลน์ห้างค้าปลีก

ขณะเดียวกัน สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ยังได้จัดกิจกรรม Online In-Store Promotion ร่วมกับห้าง H Mart สาขา Long Island City ซุปเปอร์มาร์เกตของชาวเอเชียที่มี 74 สาขา ใน 14 รัฐ มีมูลค่าการขายราว 66,600 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ เพิ่มช่องทางจำหน่ายและส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยในสหรัฐฯ อีกทั้งสร้างความสะดวกในการซื้อสินค้าไทย โดยผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.hmart.com ควบคู่กับการซื้อสินค้าภายในห้าง ซึ่งมีสินค้าไทยเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 60 รายการ

นายวุฒิไกรกล่าวว่า เดิมมีสินค้าไทยจำหน่ายที่ H Mart อยู่แล้ว แต่กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีสินค้าไทยขึ้นไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์มของห้างมากกว่า 60 รายการ โดยเฉพาะอาหาร ที่ได้รับความนิยม เช่น ข้าวหอมมะลิ ซอสปรุงรส เครื่องแกงสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม กะทิ ทุเรียนสดแช่แข็ง เป็นต้น

“ถือเป็นความสำเร็จของทีมพาณิชย์ ที่สามารถผลักดันสินค้าไทยเข้าไปขายบนแพลตฟอร์มของ H Mart คาดว่ากิจกรรมนี้จะเพิ่มมูลค่าการขายสินค้าไทยในห้างนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านเหรียญ”

พร้อมกันนั้น ยังได้หารือกับผู้บริหารของ H Mart ให้ช่วยสนับสนุนสินค้าไทยรายการใหม่ๆเข้ามาขาย ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ และขอให้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าไทยผ่านเว็บไซต์ห้างในช่วงเทศกาลสำคัญ อีกทั้งยังได้เชิญเข้าร่วมงาน THAIFEX–Anuga Asia 2025 งานแสดงสินค้าอาหารใหญ่สุดในเอเชีย ที่กระทรวงพาณิชย์จะจัดในเดือน พ.ค.68 เพื่อพบปะผู้ผลิตไทยและเจรจาซื้อขายสินค้าไทย

นอกจากนี้ ยังได้หาแนวทางการขยายตลาดสินค้าไทยในห้าง Trader Joe’s ในนครนิวยอร์ก ซึ่งห้างวางจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจากไทยอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่แบรนด์ไทย เป็นแบรนด์ของ Trader Joe’s เพราะจ้างคนไทยผลิตให้ เช่น อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งพร้อมรับประทาน อย่างข้าวผัดกุ้ง ผัดไท ข้าวแกงเขียวหวาน ขนมขบเคี้ยว เช่น ไอศกรีมโมจิ ผลไม้อบแห้ง ซอสพริก น้ำจิ้มไก่ พริก มะนาว ฯลฯ

ดังนั้น จึงมอบหมายกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่ดูแลตลาดสหรัฐฯ แสวงหาลู่ทางขยายตลาดสินค้าไทย สร้างความสัมพันธ์กับตัวแทนหรือเอเย่นต์ของห้างในไทย เพื่อเชื่อมโยงแบรนด์สินค้าไทยสู่ตลาดสหรัฐฯ

รวมถึงศึกษาโอกาสของสินค้าไทย เพื่อเข้าไปทดแทนสินค้าคู่แข่ง โดยเฉพาะสินค้าโอทอป อย่างผลไม้อบแห้ง ทั้งมะม่วง สับปะรด กล้วย มะพร้าว ซึ่งไทยได้เปรียบในคุณภาพ เพื่อวางแผนผลักดันสินค้าไทย รวมทั้งเจรจากับผู้บริหารของห้าง ผลักดันสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายมากขึ้น

สำหรับ Trader Joe’s มี 569 สาขา ใน 43 มลรัฐ โดยปี 66 มียอดขายราว 20,000 ล้านเหรียญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสในโซเชียลตามหา “ขนมครกไทย” ที่ห้างนี้ จนสร้างปรากฏการณ์ขนมครกไทยฟีเวอร์ในสหรัฐฯมาแล้ว

เปิดกลยุทธ์เจาะตลาดสหรัฐฯ

การที่เราไปปักธงไทยที่นิวยอร์กในครั้งนี้ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะตลาดสหรัฐฯมีความสำคัญกับการส่งออกของไทยมาก โดยเป็นตลาดหลักสำหรับการค้าและการส่งออกของไทยมาโดยตลอดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ในเรื่องนี้ นายภูสิตกล่าวว่า สหรัฐฯเป็นคู่ค้ารายสำคัญของไทยมาโดยตลอด โดยปี 66 เป็นคู่ค้าอันดับ 2 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 67,660 ล้านเหรียญ เป็นไทยส่งออก 48,353 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 16.96% ของการส่งออกไทยไปโลก กลายเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในโลก และไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ 19,307 ล้านเหรียญ

สำหรับปี 67 ตั้งเป้าหมายผลักดันมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% จากปี 66 ซึ่งช่วงครึ่งแรกปี 67 มูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 35,405 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 7.98% จากช่วงเดียวกันของปี 66 เป็นไทยส่งออก 25,768 ล้านเหรียญ เพิ่ม 11.18% และไทยนำเข้า 9,637 ล้านเหรียญ เพิ่ม 0.29%

และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ กรมได้กำหนดกลยุทธ์และกิจกรรมส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ รวม 16 กลยุทธ์หลัก ภายใต้กิจกรรมย่อยจำนวนมาก เช่น โครงการพัฒนาและส่งเสริมการค้าและธุรกิจในตลาดอเมริกาและละตินอเมริกา, โครงการพัฒนาส่งเสริมการตลาด สร้างภาพลักษณ์สินค้าฮาลาลสู่ตลาดโลก, โครงการส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้า/คู่ค้า

นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์อาหารไทยและธุรกิจบริการไทย, โครงการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าไลฟ์สไตล์ ธุรกิจดิจิทัล คอนเทนต์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง, โครงการเจาะตลาดข้าวหอมมะลิไทยในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน, โครงการส่งเสริมการขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐฯ, โครงการส่งเสริมตลาดสินค้าไทยในตลาดเมืองรองของสหรัฐฯ และหมู่เกาะแคริบเบียน, โครงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการค้าในสหรัฐฯผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

“กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศที่ดูแลตลาดสหรัฐฯได้ดำเนินโครงการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการโปรโมตสินค้าไทยที่ไทม์สแควร์ และห้าง H Mart จะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าการส่งออกได้มากขึ้น ขณะที่การส่งออกไทยในภาพรวม จากการหารือกับผู้ส่งออกในสินค้าต่างๆ ส่วนใหญ่มั่นใจว่าปีนี้จะโต 1–2% ได้ตามเป้าหมาย” นายภูสิตกล่าวทิ้งท้าย.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ