ศึกหนักสินค้าจีนทะลักเข้าไทย โจทย์ใหญ่รอ "รัฐบาลอิ๊งค์" กระชับพื้นที่

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ศึกหนักสินค้าจีนทะลักเข้าไทย โจทย์ใหญ่รอ "รัฐบาลอิ๊งค์" กระชับพื้นที่

Date Time: 9 ก.ย. 2567 06:23 น.

Summary

  • ก่อนที่ ครม.ชุดใหม่จะเข้ามาสานต่อเรื่องดังกล่าว “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานเกี่ยวข้อง และผลกระทบต่อเอกชนไทยต่อการไหลบ่าของสินค้าจีน มานำเสนอต่อผู้อ่านในสัปดาห์นี้

Latest

หมดยุค ทำ “คอนโด” ขายแพง! “ศุภาลัย” ลุยเปิดล็อตใหญ่ 1,500 ยูนิต กทม.-หัวหิน-หวนภูเก็ตในรอบ 10 ปี 

“จีน-ไทย ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” เป็นคำกล่าวที่สะท้อนถึงความผูกพันอย่างใกล้ชิดระหว่างไทยกับจีน ซึ่งกำลังจะเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปี ในปี 2568 ที่จะมาถึง

ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างทั้ง 2 ประเทศ นำไปสู่การไปมาหาสู่ ทำมาค้าขายระหว่างกันมาเนิ่นนาน จวบจนที่การค้าสมัยใหม่คืบคลานเข้ามา อินเตอร์เน็ตทำให้โลกย่อส่วนลงมาอยู่เพียงหน้าจอสัมผัส และภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทำให้การกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงขึ้น

ประเทศไทยในฐานะมหามิตร จึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับธุรกิจจีนหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงธุรกิจสีมัวๆที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานรกรากจนเกิดชุมชนจีนขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หมู่บ้านจัดสรรสำหรับคนจีนเป็นการเฉพาะ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ขายสินค้าจีนล้วน ตลอดจนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เคาะราคาขายจากหน้าโรงงานในประเทศจีน ขนส่งสินค้าถึงมือคนไทยผ่านโลจิสติกส์จีนเท่านั้น

ทุน คน และสินค้าจีนที่ไหลบ่าเข้ามาในประเทศไทย กระทบต่อเศรษฐกิจภายในอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากเงินตราที่ไหลออกนอกประเทศ ยังกระทบผู้ค้ารายย่อย เอสเอ็มอี ไปจนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทย ขณะที่คนไทยในฐานะผู้ซื้อ อาจไม่ได้รับการปกป้องเท่าที่ควร ในเรื่องคุณภาพสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานเพียงพอ

ก่อนจะพ้นจากตำแหน่ง เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพในการบูรณาการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามาพิจารณา

และยังได้เสนอมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว รวม 5 มาตรการหลัก 63 แผนปฏิบัติการ ผ่านการหารือกับหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่การบังคับใช้ระเบียบกฎหมายอย่างเข้มข้น, ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต, การใช้มาตรการด้านภาษี, การช่วยเหลือเอสเอ็มอี เป็นต้น

...ก่อนที่ ครม.ชุดใหม่จะเข้ามาสานต่อเรื่องดังกล่าว “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานเกี่ยวข้อง และผลกระทบต่อเอกชนไทยต่อการไหลบ่าของสินค้าจีน มานำเสนอต่อผู้อ่านในสัปดาห์นี้

ลวรณ แสงสนิท
ลวรณ แสงสนิท

ลวรณ แสงสนิท
ปลัดกระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังเดินหน้ามาตรการทางภาษีสกัดสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการให้ธุรกิจเหล่านั้นเข้าสู่ระบบภาษี เพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียม ก่อนหน้านี้ได้จัดเก็บภาษี e-Service จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศที่ให้บริการในไทย ต้องขึ้นทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว 184 ราย จัดเก็บภาษีได้ 6,000 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังได้ริเริ่มจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากสินค้านำเข้าตั้งแต่บาทแรก มาตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. 2567 จัดเก็บได้เดือนละ 100-120 ล้านบาท โดยเบื้องต้นกรมศุลกากรเป็นผู้จัดเก็บภาษี แล้วนำส่งกรมสรรพากรไปพลางก่อน จนกว่ากรมสรรพากรจะดำเนินการแก้ไขประมวลรัษฎากร และจัดทำระบบจัดเก็บภาษีแล้วเสร็จ

“การแก้ไขประมวลรัษฎากรและจัดทำระบบจัดเก็บภาษีนั้น จะทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษี VAT จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศได้ตรง คาดว่าขั้นตอนนี้จะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 68 และหากการแก้ไขกฎหมายให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ มาจดทะเบียนทำธุรกิจในประเทศไทยแล้วเสร็จ กรมสรรพากรจะสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือภาษีธุรกิจได้อีกด้วย”

ในส่วนของกรมศุลกากร ได้ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอย่างเข้มข้น ใช้ทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลตรวจสอบและสุ่มตรวจ เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เปิดตรวจตู้สินค้าเพิ่มขึ้นจากเดิม 20% เป็น 30% กรมศุลกากรก็พร้อมดำเนินการทันที ขณะที่กรมสรรพสามิตเดินหน้าปราบปรามสินค้าหนีภาษีอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพราะสินค้าหนีภาษีเหล่านี้ บางส่วนไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน อาจส่งผลเสียต่อประชาชนได้

ส่วนกรณีการนำสินค้ามาพักที่โกดังคลังสินค้าเกิน 45 วัน จะถือว่าเป็นสินค้าตกค้าง ซึ่งกรมศุลกากรมีหน้าที่ดำเนินการ ทั้งสั่งทำลายและเอาผิดกับผู้นำเข้าสินค้าตามขั้นตอนกฎหมาย

“กระทรวงการคลังกำลังพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะใช้มาตรการภาษี เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยให้ทุกธุรกิจ ทุกผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนเข้าสู่ระบบภาษี ส่วนมาตรการอื่นๆ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน”

วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์
วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์

วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์
ปลัดกระทรวงพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์เกี่ยวข้องกับการดูแลต้นทางของการทำธุรกิจ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงต้องเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแล และตรวจสอบการเริ่มต้นทำธุรกิจในไทย ตั้งแต่การจดทะเบียนนิติบุคคล ที่หากเป็นคนต่างชาติ จะต้องขออนุญาตให้ถูกต้องภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และต้องป้องกันการเกิดนิติกรรมอำพราง หรือคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างชาติ (นอมินี) เพื่อทำธุรกิจโดยเลี่ยงกฎหมายฉบับนี้

ที่ผ่านมา กรมได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ตรวจสอบนอมินีในธุรกิจเสี่ยงเป็นประจำทุกปี สำหรับปี 2567 กรมได้ตรวจสอบธุรกิจเป้าหมาย 26,019 ราย ใน 4 กลุ่ม ธุรกิจ คือธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร, ธุรกิจค้าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ใน 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ

ล่าสุดได้คัดกรองธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง และต้องตรวจสอบเชิงลึก 498 ราย ในจำนวนนี้พบว่าไม่มีความผิดปกติ 333 ราย และมีความเสี่ยงสูง 165 ราย ที่ต้องตรวจสอบเพิ่ม ซึ่งได้ทยอยส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบเชิงลึกต่อไป ขณะเดียวกัน จะเปิดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวในไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งนิติบุคคลต่างด้าว สำนักงานกฎหมาย และสำนักงานบัญชี เพื่อลดการกระทำผิด

ส่วนกรมการค้าต่างประเทศ มี 3 มาตรการที่จะใช้ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ได้แก่ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้ การอุดหนุน (CVD) และมาตรการปกป้อง (SG) หากอุตสาหกรรมใดได้รับผลกระทบ สามารถยื่นคำขอให้กรมเปิดไต่สวน เพื่อใช้ 3 มาตรการ เยียวยา และลดผลกระทบได้

โดยปัจจุบัน ไทยใช้มาตรการ AD โดยเรียกเก็บอากร AD จากสินค้านำเข้ามากกว่า 20 รายการ จากมากกว่า 20 ประเทศ ส่วนใหญ่ เป็นสินค้ากลุ่มเหล็กจากจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม ฯลฯ ส่วน SG ที่ผ่านมา ใช้กับ 4 สินค้า เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ เหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือ บล็อกแก้ว ฯลฯ แต่ปัจจุบันยกเลิกใช้แล้ว และยังไม่มีอุตสาหกรรมใดยื่นคำร้องขอใช้อีก ขณะที่ CVD ยังไม่มีอุตสาหกรรมใดยื่นขอใช้เช่นกัน

“ขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง และจะรายงานผลการทำงานมาที่คณะกรรมการเฉพาะกิจทุกสัปดาห์ และจะเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบด้วย”

วิทยา พานิชตระกูล
วิทยา พานิชตระกูล

วิทยา พานิชตระกูล
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด

การหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจีน มาจากปัญหากำลังผลิตล้น (Over Supply) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้บางภูมิภาคกีดกันสินค้าจากจีน สินค้าจีนจึงแห่เข้ามาขายในประเทศไทย

สำหรับฮาตาริ เราได้รับผลกระทบมาโดยตลอด โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มราคาต่ำกว่า 500 บาทลงมา นอกจากคุณภาพไม่ได้มาตรฐานแล้ว สินค้าจีนในระดับราคาดังกล่าวยังไม่มีภาระภาษีด้วย โดยเฉพาะการขายผ่านแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสออนไลน์

“ที่แสบกว่านั้นคือ มีการปลอมแปลงสินค้าของฮาตาริจากผู้ประกอบการจีน ขายผ่านแพลตฟอร์มยอดนิยม ซึ่งพอแจ้งไปยังแพลตฟอร์ม ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ต้องสู้ด้วยตัวเอง แจ้งความดำเนินคดี ขอให้ตำรวจเข้าจับกุม เป็นต้น เคสดังกล่าวตรวจสอบพบมียอดขายกว่า 3,000 ตัว ในแง่มูลค่าอาจไม่กระทบเท่าไรนัก แต่กระทบภาพลักษณ์แบรนด์เต็มๆ เพราะเป็นของปลอม ซึ่งไม่ได้คุณภาพ”

ในแง่ของการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งการยกระดับคุณภาพและดีไซน์ ผมมองว่าเป็นหน้าที่ของเอกชนอยู่แล้ว ที่ต้องพัฒนาตัวเอง ห้ามหยุดนิ่ง แต่ในมุมของภาครัฐ อยากให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะเรื่องความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานอุตสาหกรรมสินค้าจากจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะไร้มาตรฐาน เช่นเดียวกับการใช้มาตรการจัดเก็บภาษีสินค้าจากจีนอย่างเข้มข้น เพื่อให้แข่งขันเท่าเทียมกับสินค้าจากไทย เช่น การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ตั้งแต่บาทแรก สำหรับสินค้านำเข้า เป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำอย่างรัดกุมและจริงจัง รวมทั้งการกวาดล้างสินค้าจีนที่ปลอมแบรนด์ไทย ขายบนแพลตฟอร์มยอดนิยม เหมือนที่ฮาตาริเคยตกเป็นเหยื่อมาแล้ว

วันชัย พนมชัย
วันชัย พนมชัย

วันชัย พนมชัย
เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.)

ที่ผ่านมา สมอ.ได้กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดและช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม

โดยเฉพาะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ ที่เข้ามาบุกตลาดสินค้าไทย นำเข้าสินค้าที่ไม่ได้ มอก.จากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของไทย

จึงได้ออกมาตรการสกัดกั้นสินค้าไม่ได้ มอก.เพิ่มมากขึ้น ประกอบด้วย 1.ออก มอก.ประเภทบังคับเพิ่มอีก 58 มอก. ครอบคลุมสินค้า 91 รายการ เพื่อควบคุมการนำเข้าสินค้าไม่ได้ มอก. ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าควบคุมจำนวน 144 มอก. ครอบคลุมสินค้า 308 รายการ เชื่อมโยงพิกัดศุลกากร 1,985 พิกัด ให้ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าสินค้าก่อนรับมอบสินค้าดังกล่าว ไปจากเจ้าพนักงานศุลกากร “เมื่อออก มอก.ประเภทควบคุมสินค้าเพิ่ม จะทำให้มีพิกัดศุลกากรเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จึงมั่นใจว่าสินค้าที่ไม่ได้ มอก.จะลดลงได้ในระดับหนึ่ง เพราะกรมศุลกากรก็ได้นำ มอก.ของ สมอ.ไปดำเนินการตรวจสอบดูแลได้เพิ่มมากขึ้น”

2.ปรับลดเกณฑ์ขั้นต่ำของการนำเข้าสินค้า ที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่าย โดยมักมีการอ้างว่านำมาใช้เอง จากปัจจุบันที่ 5 ชิ้น ให้ต่ำกว่า 5 ชิ้น โดยจะเริ่มใช้บังคับในวันที่ 1 ต.ค. 2567 3.ทำงาน ร่วมกับกรมศุลกากรแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในเขตการค้าเสรีหรือ Free zone ที่อาจถูกใช้เป็นที่พักสินค้าที่ไม่เป็นไปตาม มอก. และมีความเสี่ยงสูงในการแอบลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าทั้ง 308 รายการ ที่นำออกจากเขต Free Zone เข้ามาในราชอาณาจักร

4.นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ช่วยสกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานก่อนถึงมือผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น และเร่งทำความเข้าใจกับบริษัทนำเข้า-ส่งออก และชิปปิ้งต่างๆ เพื่อให้การนำเข้าสินค้าควบคุมทั้ง 308 รายการ เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“เมื่อปลายเดือน ส.ค.2567 สมอ.ได้ทำลายสินค้าไม่ได้ มอก. ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว จำนวน 409,705 ชิ้น มูลค่า 235 ล้านบาท อาทิ ของเล่น, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ยางรถยนต์, สุขภัณฑ์, ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติก, ภาชนะเมลามีน, ถุงมือยางทางการแพทย์, ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์, หมวกกันน็อก และเครื่องดับเพลิงยกหิ้วชนิดผงเคมีแห้ง เป็นต้น”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ