คนไทย 70 ล้านคนเป็น Content Creator ไปแล้ว 9 ล้านคน แข่งขันสูง จะอยู่ให้รอดยิ่งต้องแตกต่าง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คนไทย 70 ล้านคนเป็น Content Creator ไปแล้ว 9 ล้านคน แข่งขันสูง จะอยู่ให้รอดยิ่งต้องแตกต่าง

Date Time: 3 ก.ย. 2567 19:34 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • Tellscore จับมือ เดอะมอลล์ กรุ๊ป แถลงความร่วมมือจัดงาน “The Mall Lifestore Presents Thailand Influencer Awards 2024 by Tellscore” พร้อมเปิดตัวเลขสำคัญของตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทย ชี้อาชีพ Content Creator บูมหนัก เติบโตต่อปี 25-30% มูลค่าตลาดโดยรวมอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีคนไทยเป็น Content Creator จำนวน 9,000,000 คน โดยในปีนี้ยังเป็นปีที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลก Turn เป็น Full-Time มากที่สุดอีกด้วย

Latest


คนไทย 70 ล้านคนเป็น Content Creator ไปแล้ว 10%

สถิติโดย Linktree ระบุว่า ในปีนี้ประเทศไทยมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์จำนวนมากถึง 9,000,000 คนหรือคิดเป็นราวๆ 12.86% จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด ครอบคลุมตั้งแต่ในระดับ Nano-Macro-Mega Creator ทั้งที่เป็น Full-Time และ Part-Time ขณะที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 3% จากประชากรโลก

ทั้งนี้ “ตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทย” มีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 25-30% (YoY) ซึ่งเป็นอัตราที่เติบโตต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาสามปี โดยมูลค่าของตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยโดยรวมอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท ขณะที่ขนาดของตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์โลกอยู่ที่ 5.5 ล้านล้านบาท โดยในปีนี้ยังเป็นปีที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลก Turn เป็น Full-Time มากที่สุดอีกด้วย สำหรับประเทศไทย ณ ปัจจุบันมีครีเอเตอร์ที่เป็น Full-Time จำนวน 2 ล้านคน

นางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด หรือ Tellscore ผู้นำด้านอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์มครบวงจรชั้นนำของไทย  เปิดเผยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาการแข่งขันของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ครีเอเตอร์มีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งการแข่งขันที่สูงขึ้นนั้นยังตามมาด้วยมาตรฐานการผลิตที่สูงขึ้น และกลายเป็นปัจจัยที่แบรนด์พิจารณาควบคู่ไปกับราคา โดยแบรนด์จะพิจารณาการลงทุนในครีเอเตอร์ที่ไม่ใช่แค่หวังสร้างยอดวิวลอยๆ แต่ต้องมีการวัดผลเป็นยอดขายที่จับต้องได้ ทำให้เม็ดเงินลงทุนในช่วงที่ผ่านมาหายไปจากตลาดเล็กน้อย ดังนั้นถ้าถามว่าความท้าทายสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ในปีนี้ยังเป็นเรื่องของ “การรักษาฐานคนดูหรือผู้ติดตาม” และ “มาตรฐานการผลิต”

นักการตลาดให้ความสำคัญในการเลือกร่วมงานกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์เป็นฟันเฟืองสำคัญที่มีความสัมพันธ์และอิทธิพลกับผู้บริโภค ประกอบกับพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ชอบรับข่าวสารและแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่ออื่นๆ

ครีเอเตอร์ต้องสร้างจุดเด่นของตัวเองเพื่อสร้างฐานผู้ติดตามและเอนเกจเมนต์ที่เป็นออร์แกนิกให้ได้ในระยะยาว โดยสิ่งที่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้กับครีเอเตอร์ได้ดีที่สุด คือ ความจริงใจต่อคนดูและต่อแบรนด์ พร้อมทั้งการขับเคลื่อนให้เกิดอิมแพคทั้งด้านรายได้ (Revenue) และการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สุวิตา กล่าว 

"นักข่าวครีเอเตอร์มาแรง" เติมเต็มช่องว่างระหว่าง สื่อหลัก กับ Content Creator 

สุวิตา เปิดเผยสถิติที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า ในปีนี้อุตสาหกรรมสามอันดับแรกที่ต้องการลงทุนกับการจ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจบิวตี้ และธุรกิจไลฟ์สไตล์ (กิน-เที่ยว-ช็อปปิ้ง) โดยเฉพาะคอนเทนต์รูปแบบ A day in a life ที่เป็นกลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด ต่อด้วยธุรกิจการเงิน (สถาบันการเงิน-ประกัน-แอปพลิเคชัน) ที่ยังมีกำลังซื้อสูง โดยอุตสาหกรรมที่เคยเป็นกำลังซื้อหลักแต่กลับมีทิศทางการลงทุนที่น้อยลง ได้แก่ ยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ เพราะการชะลอตัวของดีมานด์ในอุตสาหกรรมดังกล่าว 

สำหรับครีเอเตอร์ดาวรุ่งที่มีการเติบโตโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด อันดับแรก คือ “กลุ่ม News Creator” นักข่าวครีเอเตอร์ ซึ่งเป็นผลจากที่สำนักข่าวเปิดกว้างมากขึ้นในด้านการผลิตคอนเทนต์และช่องทางการเผยแพร่ สอง “กลุ่ม Science & Education Creator” สืบเนื่องจากการที่คนสมัยนี้ต้องการรับรู้ชุดข้อมูลในเชิงของความรู้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาในประเทศไทยตอบสนองไม่ทันต่อการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องไปกับแรงงานกลุ่มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสุดท้ายคือ “กลุ่ม Family Creator” สอดคล้องไปกับไลฟ์สไตล์การเลี้ยงลูกหรือการมีครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป

ตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไม่ได้อิ่มตัวแต่เปลี่ยนรูป

ในประเด็นภาวะคอนเทนต์ล้นตลาด สุวิตา ฉายภาพให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันตลาดคอนเทนต์จะแข่งขันสูง โดยมีจำนวนผู้รับชมคอนเทนต์เท่าเดิม แต่มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์เกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะ Oversupply แต่กลับมองเป็นตลาดที่มีการแข่งขันโดยสมบูรณ์แบบ

นอกจากนี้การสื่อสารและการตลาดยังเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์และเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำธุรกิจ ดังนั้นตลาดคอนเทนต์ไม่ได้ถึงจุดอิ่มตัวในเร็วๆ นี้แต่จะเกิดการเปลี่ยนรูปแบบจากวิธีการสื่อสารหรือแพลตฟอร์มที่ใช้มีการเปลี่ยนแปลง

กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงทิศทางของแพลตฟอร์มหรือความนิยมของแพลตฟอร์มใหม่ๆ จะเข้ามามีผล ยกตัวอย่าง ปัจจุบันครีเอเตอร์ใน TikTok เริ่มปรับแนวทางสู่การไลฟ์ขายของมากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มหันมาผลักดันด้านอีคอมเมิร์ซมากขึ้นจากเดิมที่เป็นแค่แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นเพื่อความบันเทิง

ทั้งนี้อุตสาหกรรมคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ยังมีพื้นที่เติบโตอีกมาก เพราะกลุ่มธุรกิจอีกหลายอุตสาหกรรม แบรนด์อีกหลายแบรนด์ที่ยังไม่ได้ลงทุนกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ โดยเฉพาะธุรกิจ B2B ที่เดิมทีมีมุมมองว่าครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้จำเป็นต่อธุรกิจของตน แต่อันที่จริงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน สุวิตา กล่าว  

Tellscore ยกระดับมาตรฐานควบคู่กับการสร้าง “มูลค่า” และ “คุณค่า”

นอกจากเปิดเผยสถิติที่น่าสนใจแล้ว Tellscore ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้าน Influencer Marketing ไทย ร่วมกับ เดอะมอลล์ กรุ๊ป จัดงาน “The Mall Lifestore Presents Thailand Influencer Awards 2024 by Tellscore” งานประกาศรางวัลสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์และสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์แคมเปญที่สร้างสรรค์โดยแบรนด์และเอเจนซี่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 รวมทั้งสิ้น 59 สาขา ภายใต้แนวคิด The Future is Yours! ที่เน้นย้ำถึงศักยภาพอินฟลูเอนเซอร์และนักการตลาดที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและสร้างสรรค์อนาคตของเศรษฐกิจไทย

โดยเฟ้นหาอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพควบคู่กับการสร้างมาตรฐานและคอมมูนิตี้อินฟลูเอนเซอร์ของประเทศไทยให้เข้มแข็งต่อยอดสู่การยกระดับสู่สากล โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรภาครัฐและเอกชนหลายภาคส่วนที่มีเป้าหมายเดียวกันในการสร้างเครือข่ายและเสริมศักยภาพวงการอินฟลูเอนเซอร์ไทยทั้งระบบ ในวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2567 ณ เอ็มซีซี ฮอลล์ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ

นอกจากงาน The Mall Lifestore Presents Thailand Influencer Awards 2024 by Tellscore แล้ว Tellscore ยังได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์จัดทำโครงการวิจัย Foresight ในหัวข้ออนาคตเศรษฐกิจคอนเทนต์ครีเอเตอร์ พ.ศ. 2578 (Futures of Content Creators 2035) เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคอนเทนต์ครีเอเตอร์อีกด้วย

“งานดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จและการมีส่วนร่วมของอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพในประเทศไทยแล้ว ยังแสดงถึงผลของการตกผลึกของเทลสกอร์ให้เห็นว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ คือ Soft Power อันแข็งแกร่งของประเทศที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้จริงและยั่งยืน (Content Creator Economy) ในทุกอุตสาหกรรมแบบ 360 องศา ไม่ใช่เพียงเป็นเทรนด์ตามยุคสมัย แต่เป็นสื่อใหม่ที่เป็นสื่อหลักที่มีบทบาทสำคัญที่ได้รับการยอมรับ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง” สุวิตา กล่าวทิ้งท้าย 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ