จาก GMM SHOW สู่การปั้น “Showbiz” แกะวิสัยทัศน์ 4 โปรโมเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จาก GMM SHOW สู่การปั้น “Showbiz” แกะวิสัยทัศน์ 4 โปรโมเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

Date Time: 22 ส.ค. 2567 09:33 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • จาก GMM SHOW สู่ “Showbiz” โปรโมเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เดินหน้าขยายธุรกิจมิวสิกเฟสติวัลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ยุทธศาสตร์ ทุกภาค ทั่วประเทศ ภายใต้สไตล์ที่แตกต่างอย่างลงตัว มีตั้งแต่ร็อกไปจนถึงนั่งชิล หลังอินไซต์พบว่า “คนไทย” ยอมควักเงินซื้อบัตรคอนเสิร์ตปีละ 3 ครั้ง และผ่อนจ่ายเพื่อแลกกับ “ความสุข”

Latest


“คล้ายจันทราที่อับแสง ล้านดวงดาวมืดมน คล้ายดั่งคนเริ่มหมดไฟ วันที่อาทิตย์ร้อนแรงลาจากฟ้า และไม่เคยหวนกลับ ใครคนนี้เหมือนไม่อยากหายใจ…”

มันคงจะแปลกน่าดู ถ้าโลกนี้ไม่มีคอนเสิร์ต เราก็คงไม่รู้ว่า “แสง สี เสียง และบทเพลง” ที่บรรเลงออกมานั้นจะสามารถสร้าง “ความสุข” ให้กับ “คน” ได้มากขนาดนี้ 

นั่นก็เพราะการไปดู “คอนเสิร์ต” จากศิลปินที่ชอบ คือ “ความสุข” ของใครหลายๆ คน ที่เป็นเหมือนกับการให้รางวัลชีวิต ทดแทนช่วงเวลายากลำบาก เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป พร้อมคลายเครียดไปกับมัน แม้จะต้องแลกกับเงินที่เก็บสะสมมา แลกกับการยืนต่อคิวเข้างาน หรือแม้กระทั่งแลกกับการรอคอยที่จะกดซื้อบัตรในรอบ 2 รอบ 3 ก็ตาม 

ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “อย่าได้คิดจะเสียเงินไปดูคอนเสิร์ต เพราะมันจะไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่จะมีครั้งต่อๆ ไปตามมา” ซึ่งมันก็ถูกแหละ เพราะหมุดหมายของการเป็นแฟนเพลง คงไม่ตกหล่นไปจากการได้ดูคอนเสิร์ตของศิลปินที่ชื่นชอบ ได้โยกไปพร้อมกับเพลงโปรด และตะโกนร้องตามให้สุดเสียง 

จึงไม่ผิดที่หลายครั้ง “คอนเสิร์ต” มักจะถูกมองว่าไม่ใช่แค่เรื่องของความบันเทิง แต่ยังเป็นช่วงเวลาแห่งความประทับใจ ดังนั้นหากจะกล่าวว่า “คอนเสิร์ต” กับ “คนไทย” เป็นของคู่กันก็คงไม่ผิดเพี้ยน

แต่ในที่นี้หากจะพูดถึง ผู้นำด้านการจัดคอนเสิร์ตและมิวสิกเฟสติวัลอันดับหนึ่ง คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจาก “GMM SHOW” ผู้นำธุรกิจ ShowBiz โปรโมเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในเครือ GMM MUSIC

ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม Senior Executive Vice President - Showbiz GMM SHOW บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ทุกวันนี้การจัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีมีความท้าทายมาก เพราะท่ามกลางงานนับร้อยพันที่เกิดขึ้นในแต่ละปี คนไทยจะดูคอนเสิร์ตหรือมิวสิกเฟสติวัล เฉลี่ย 3 ครั้งต่อปีเท่านั้น ดังนั้นถ้าอยากดึงดูดใจผู้บริโภคได้ ก็ต้องทำให้งานของเรากลายเป็นตัวเลือกที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องมีการแบ่งกลุ่มผู้จัดจาก GMM SHOW ออกเป็น 4 ทีม

“การแบ่งทีมออกเป็น 4 ทีม ได้แก่ GAYRAY, IDEA FACT, Gfest และ ALL AREA ทำให้เกิดวิธีคิดที่หลากหลายไม่ซ้ำซาก ซึ่งแต่ละปีเราจัดคอนเสิร์ตไม่ต่ำกว่า 20 งาน แค่เฉพาะครึ่งปีหลังมีก็มีมากกว่า 12 งาน ดังนั้นการมี 4 ทีมจะทำให้แต่ละทีมสร้างเรื่องราวที่น่าจดจำได้ เพราะบางเดือนงานมีทุกสัปดาห์ ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้าง Identity ที่แตกต่าง แต่เป็นการเตรียมจัดงานให้ทัน โดยที่แต่ละงานจะมีความแตกต่างกันออกไป และอยู่คนละพื้นที่ คนละ Target คนละไลฟ์สไตล์เลยก็ว่าได้”

แล้ว Identity ของแต่ละผู้จัด เป็นอย่างไรบ้าง?

ฝากฝัน ศรีสันติสุข Director-Showbiz Promotor - Gfest - GMM SHOW บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Gfest คือ การเน้นสร้างประสบการณ์ให้กับคนดูในเรื่องของดนตรี ในหลายๆ กลุ่ม งานมีค่อนข้างหลากแตกต่างกันไป ตั้งแต่ร็อก วัยรุ่น พูดง่ายๆ คือเป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างเน้นเรื่องคุณภาพของประสบการณ์ในคอนเสิร์ต ระบบเสียงดี เวทีเพอร์เฟกต์ การบริการดี โดยเริ่มมาจากคอมมูนิตีร็อก แต่ปัจจุบันขยายไปสู่คอมมูนิตีอื่น แต่แฟนตัวจริงของ Gfest ก็ยังคงเป็น ชาวร็อก อาทิ Rock Mountain, GFEST MARATHON CONCERT ฯลฯ เปรียบเสมือน “Tomorrowland” แห่งวงการร็อกเมืองไทย ที่มีธีมแตกต่างกันออกไปทุกปี 

ถัดมา พนมกร พันธุ์ชนะ Director-Showbiz Promotor All Area - GMM SHOW บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า All Area เป็นผู้จัดอันดับหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบุกเบิกปั้นแบรนด์มิวสิกเฟสติวัลใหม่ ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ อาทิ เชียงใหม่เฟส พุ่งใต้เฟส, เฉียงเหนือเฟส เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมของแต่ละภาค พร้อมกับฟื้นฟูเศรษฐกิจไปทุกที่นอกพื้นที่กรุงเทพฯ สร้างรายได้สะพัดกว่า 450 ล้านบาท

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ Vice President-Showbiz Promotor GayRay - GMM SHOW บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) มองว่า GayRay คือการมีไอเดียสร้างสรรค์ คิดต่างและทำต่าง กล้าทำอะไรแปลกใหม่ และการันตีความสนุกสุดมัน งานหลักคือ Big Mountain Music Festival โดยเฉลี่ยมีคนเข้างานหลายหมื่นคนต่อวัน หรือแม้กระทั่ง Grammy RS Concerts, EveryBodyslam 2024 The Sunny Side Up

สุดท้าย ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์ Vice President-Showbiz Promotor Idea Fect - GMM SHOW บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) ที่ให้นิยามของ Idea Fect ว่า เป็นการสร้างสรรค์งานไลฟ์สไตล์สุดเก๋ได้หลากหลายรูปแบบ และการันตีภาพลักษณ์สุดพรีเมียม รวมทั้งความเป็น International อาทิ ตัน Fight ตัน, PALMY มิตร Universe Concert หรือแม้กระทั่ง “2024 DOH KYUNG SOO ASIA FAN CONCERT TOUR <BLOOM> in BANGKOK” ที่ดึงโดคยองซูมาไทย

แล้วมีงานไหนบ้างไหม ที่ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง? 

ยุทธนา กล่าวเสริมว่า เป้าหมายของเราคืออยากให้ขายบัตรหมดทุกงาน แต่การแข่งขันก็สูงมากเช่นกัน โดยทุกๆ ปีมีอีเวนต์ประมาณ 600 งาน เฉพาะมิวสิกเฟส 200 กว่างาน (ข้อมูล ณ ปี 2566) ซึ่งในปี 2567 มองว่าจะมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา 

ดังนั้นหากจะกล่าวว่ามีความกดดันหรือไม่? เขา เล่าว่า เรากดดันกันเองล่วงหน้า 1 ปี มีการทำ Year Plan ตอนทำบัดเจ็ทติ้งเราไม่เอาสปอนเซอร์ชิพมาเกี่ยวข้อง ทุกงานจะต้องอยู่รอดได้ด้วยการขายบัตรเท่านั้น ซึ่งวิธีคิดแบบนี้นับเป็นข้อดีและข้อกดดัน คือ ทุกครั้งที่เราคิดงานเราจะคิดถึงคนดูเป็นหลัก ทำยังไงให้คนอยากซื้อบัตร จึงกลับไปที่โจทย์หัวใจหลักคือ “การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับคนดู”  

“ความท้าทาย คือ ถ้าเราไม่สามารถดีไซน์งานให้น่าสนใจ พอที่จะขายในที่ประชุมบอร์ดของเราให้ผ่าน เราจะไม่ได้ทำงานออกมาได้ตามฝัน ถ้าเราครีเอตงานออกมาแล้วที่ประชุมมองว่าไม่น่าจะขายได้ แปลว่าเราต้องลดฝันลง ดังนั้นจะต้องมีการคิดเพิ่มและเพื่อให้ขายได้ตามเป้าหมาย และทีมที่แข็งแรงคือทีม Data ทั้งการสำรวจจากคนดูทุกงาน เราจึงสามารถคาดการณ์ได้ระดับหน่ึงว่าด้วย Line-up และช่วงเวลา จะขายบัตรได้เท่าไร ดังนั้นเมื่อแพลนถูกเคาะมันเลยเกิด “โอกาสพลาดน้อย” เพราะเรากดดันมาก่อนหน้านั้นแล้ว”  

แล้วในแต่ละปีการทำอีเวนต์มันเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะด้วยกำลังซื้อ การแข่งขันคอนเสิร์ตจากต่างประเทศ?

ยุทธนา ฉายภาพให้ฟังว่า ในแง่ของโจทย์ระยะยาวเป็นเรื่องของการวางโครงสร้างของทีม วางกลยุทธ์ การเข้าไปในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ให้เราสามารถยืนระยะได้นาน เราไม่ชอบคิดงานใหม่ทุกปี เพราะมันเหนื่อย ดังนั้นการ “สร้างแบรนด์” จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อประกาศขายบัตรแทบไม่ต้องบอกว่ามีศิลปินใดบ้าง คนก็พร้อมจะซื้อ เหมือนกับ “Tomorrowland” 

แล้วคนไทยชอบดูคอนเสิร์ตมากน้อยแค่ไหน ยุทธนา ยิ้มให้กับคำถามแล้วพูดว่า รู้ไหมว่า? คนไทยซื้อบัตรดูมิวสิกอีเวนต์ ประมาณ 3 ครั้งต่อปี ซึ่งเราต้องขึ้นไปอยู่บน 3 Top ของคนให้ได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราไปทุกหมวดหมู่ และทุกพื้นที่ ส่วนการจ่ายเงินซื้อบัตรคอนเสิร์ตของคนไทย การใช้จ่ายต่อหัวจะไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 บาทต่อคนต่องาน และคนไทยส่วนใหญ่ชอบผ่อนจ่ายซื้อบัตรคอนเสิร์ตมากกว่าซื้อสด แต่ก็มีหนี้เสียน้อย และเป็นกลุ่ม First Jobber ที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี 

ทั้งนี้อุตสาหกรรม Showbiz เติบโตก้าวกระโดด 84% ในเวลา 1 ปี ในปี 2023 ภาพรวมของอุตสาหกรรม Showbiz มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท เป็นเฟสติวัลประมาณ 2,000 ล้านบาท และคอนเสิร์ตประมาณ 6,000 ล้านบาท ทั้งของไทยและต่างชาติ 

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมสมัยก่อนคอนเสิร์ตมักจะจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่? ยุทธนา มองว่า ในมุมความคิดแบบ Old School ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนกรุงเทพฯ แต่เมื่อเราวางโครงสร้างใหม่เป็นแบบ GMM SHOW นำเรื่องของข้อมูล และ Marketing Research มาใช้ ก็พบว่า จริงๆ แล้วมีศักยภาพรอเราอยู่ทั่วทั้งประเทศ งานแรกที่เราออกไปห่างกรุงเทพฯ และประสบความสำเร็จ คือ “เชียงใหญ่” ผ่านการทำความเข้าใจว่าคนในพื้นที่นั้นต้องการอะไร และดีไซน์ทุกอย่างเพื่อให้ตอบโจทย์ จึงเป็นที่มาของการมีเทศกาลดนตรีทั่วประเทศไทย โดยปัจจุบันเรามีงานประมาณ 20 งานต่อปี แบ่งเป็น Out door 10 งาน และ In door 10 งาน ส่วนอินเตอร์ปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 4 งาน แต่หากมองในเชิงวอลุ่มเฟสติวัลจะมากกว่า

แล้ว ระหว่างคอนเสิร์ตเดี่ยว แบบวง แบบรวมศิลปิน รูปแบบใดที่คนไทยให้ความสนใจ และซื้อบัตรมากกว่ากัน เขา มองว่า ความนิยมมักใกล้เคียงกัน ขึ้นอยู่กับฐานแฟนของศิลปินนั้นๆ

“คนรุ่นใหม่” เปย์หนักกว่า “คนรุ่นเก่า” 

ว่ากันตามตรงฐานแฟนก็มักจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามกาลเวลา ดังนั้น แฟนคลับในอดีต กับปัจจุบัน เหมือนหรือต่างกันยังไง? ยุทธนา มองว่า มันอยู่ที่ไลฟ์สไตล์ แต่หากจะให้ลงดีเทล “คนรุ่นใหม่” ย่อมเปย์หนักกว่า “คนรุ่นเก่า” เพราะไม่ใช่แค่ T-POP เท่านั้นที่จะมี Food Support อย่างที่เห็นคือ คอนเสิร์ตบอดี้สแลม มี Steak มาให้ทาน เนื่องจากฐานแฟนของทุกๆ กลุ่มเรียนรู้ซึ่งกันและกันสามารถซัพพอร์ตศิลปินได้มากกว่าแค่ ซื้อบัตรคอนเสิร์ต, CD, เทป, เสื้อยืด เพราะสินค้า Physical Product มันน้อยลง แต่เมื่อศิลปินมีสินค้า Merchandise ฐานแฟนจึงหันไปซัพพอร์ตทางนี้ อย่างเช่น Paradox แทบจะอยู่ด้วยการการออกเสื้อยืดคอลเลกชันต่างๆ 

“ดังนั้นการที่เราจะเป็นผู้นำโชว์บิซิเนสในประเทศไทย และขยายออกไปข้างนอก ในอนาคต การที่เรามีข้อมูลผู้ชมได้มากที่สุด เข้าใจพฤติกรรมผู้ชม และเข้าถึงทุกพื้นที่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากเราไม่ทำ คนอื่นทำอยู่ดี ดังนั้นเราจึงหยุดไม่ได้ ส่วนจำนวนงาน Out Door Festival สเกลใหญ่กว่า 200 งาน มีคนดูมากกว่า 20,000 คน แค่ 9 งาน และทั้งหมดเป็นของ GMM SHOW ซึ่งจาก 12 งาน เป็นงานที่สเกลต่ำกว่า 20,000 แค่ 3 งานเท่านั้น ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่าเรามุ่งไปที่สเกลใหญ่ และเรายังอยากให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ สร้างงานออกมาด้วยเช่นกัน ส่วนเป้าหมายจากการขายบัตรในปีนี้ น่าจะถึงพันล้านบาทได้ไม่ยาก”

ทั้งนี้จากกระแสงานแฟนมีต คอนเสิร์ต และเฟสติวัลที่ผู้จัดต่างประเทศเข้ามาในไทย นับว่าเป็นคู่แข่งรายสำคัญของผู้ประกอบการไทยหรือไม่นั้น ทั้ง 5 คนมองว่า ในแง่ของ Showbiz มีข้อได้เปรียบคือ การเป็นผู้จัด Local ที่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค เข้าถึงช่องทางโปรโมต คงถือเป็นไพ่ที่เหนือกว่าผู้เล่นจากต่างประเทศ

"ไทยมีความได้เปรียบ ยกตัวอย่างฟูลมูลปาร์ตี้ ที่กลายเป็นอีเวนต์ระดับโลกแบบออแกนิก ถ้าเราเอาพลังความคิด ประสบการณ์ของผู้ประกอบการมาบวกเข้าไปมันทำให้ไทยได้เปรียบเยอะมาก ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการจากรัฐบาล คือ การส่งเสริม และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยได้เฉิดฉาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องภาษี ที่ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เราจะทำอย่างไรให้อุปกรณ์บางอย่าง หรือมีพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวงานในไทยได้รับผลประโยชน์ทางด้านภาษี เหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ"

ยกตัวอย่างเช่น การเช่า Rooftop ของไทยกับที่สิงคโปร์ ไทยมีค่าเช่าที่แพงกว่าหลายเท่าตัว ซึ่งงานระดับอินเตอร์ฯ เราจำเป็นต้องมี ดังนั้นปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ผู้ประกอบการไทยกล้าซื้อมาปล่อยเช่า ฉะนั้นหากมีการสนับสนุนตรงส่วนนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนต่อสู้กับผู้ประกอบการประเทศอื่นๆ ได้ เพราะเสน่ห์ของ “Showbiz” คือมันแทนด้วยอย่างอื่นไม่ได้ เราจึงมองว่าอนาคตมันสดใสมาก

ส่วนในปี 68 แนวทางการดำเนินงานในแง่ของเฟสติวัลคาดว่าจะมีเพิ่มอีก 2-3 งาน แต่จะทำงาน In door น้อยลง เนื่องจากจะโฟกัสเรื่องของการสร้างแบรนด์ และที่จะทำแน่นอนคือ อินเตอร์เนชั่นนัลมิวสิกเฟสติวัล เพราะโครงสร้างในไทยที่วางไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ อยู่ที่ว่าเราจะพัฒนาแต่ละงานเดินหน้าต่ออย่างไร ดังนั้นตลาดต่อไปที่เราจะแตะคืออินเตอร์ เพราะเราต้องยอมรับว่ามัน Competitive มาก

สุดท้ายนี้เป้าหมายของ GMM SHOW คือ การเป็นสถาบันที่สร้างคนเก่งๆ ในเมืองไทย และเสิร์ฟความบันเทิงให้กับ “คนทุกคน”.

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMone


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ