ความสำเร็จและความท้าทายของอายิโนะโมะโต๊ะ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ความสำเร็จและความท้าทายของอายิโนะโมะโต๊ะ

Date Time: 13 ก.ค. 2567 05:16 น.

Summary

  • บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดแถลงแผนทิศทางธุรกิจในปี 2567 ในฐานะการเป็นผู้นำอันดับ 8 ในกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยที่มีเป้าหมายการสร้างความ “กินดีมีสุข” อย่างยั่งยืน พร้อมผลักดันไทยก้าวเป็นศูนย์กลางอาหารระดับโลก

Latest

ยกระดับงานสถาปนิก ’68 เพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ รับอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้น

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดแถลงแผนทิศทางธุรกิจในปี 2567 ในฐานะการเป็นผู้นำอันดับ 8 ในกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยที่มีเป้าหมายการสร้างความ “กินดีมีสุข” อย่างยั่งยืน พร้อมผลักดันไทยก้าวเป็นศูนย์กลางอาหารระดับโลก

แต่ประเด็นที่มีความน่าสนใจในวันนั้นก็คือ การเปิดเผยการขึ้นราคาขายปลีกผงชูรสจากเหตุผลต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ตามข่าวที่มีการรายงานกันไปแล้ว ทางผู้บริหารโดย มร.อิชิโระ ซะกะกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง ผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ ตราถ้วยแดง มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 93% จากมูลค่าตลาดรวม 15,000 ล้านบาท และมีอัตราเติบโตมาอย่างต่อเนื่องในระดับ 1–3% ทุกปี ตามการเติบโตของร้านอาหารและสตรีทฟู้ด

โดยในช่วงโควิด-19 ผู้คนอยู่ที่บ้านไม่ได้ออกไปไหน มีกิจกรรมทำอาหารในบ้านกัน ทำให้ตลาดขยายตัวได้ดี ขณะที่กิจกรรมการเดินทางกลับมาทำให้การท่องเที่ยวกลับมาบูมทำให้ธุรกิจร้านอาหาร และสตรีทฟู้ดขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันทางบริษัทได้เพิ่มกลยุทธ์เข้าถึงการเพิ่มความถี่ในมื้ออาหาร เพิ่มเมนูใหม่ๆมากขึ้นเพื่อขยายตลาด

ผงชูรส หรือ Monosodium Glutamate (MSG) มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการอาหารทั่วโลกเพื่อนำมาปรุงอาหารและเพิ่มรสชาติให้กับอาหาร ด้วยรสชาติ “อูมามิ” ที่ถูกค้นพบ จาก “กลูตาเมต” ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นมีมากว่า 100 ปี จึงเกิดอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรุงรส

สำหรับไทยนับเป็นประเทศแรกที่อายิโนะโมะโต๊ะ ได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตผงชูรสเป็นแห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น ที่อำเภอพระปะแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2503 โดยใช้แป้งมันสำปะหลัง ซี่งถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต

แต่สิ่งที่บริษัทประสบปัญหาก็คือ ผู้คนยังมีความเข้าใจผิดถึงผงชูรส และมีข้อถกเถียงกันถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งในบางคนอาจจะเกิดอาการแพ้หลังบริโภค เช่น ปวดหัว เหงื่อออก หรือหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งเรียกว่า “Chinese Restaurant Syndrome” โดยในสหรัฐฯ เองถูกมองว่าได้มีการสร้างกระแสเพื่อต่อต้านธุรกิจร้านอาหารจีนในยุคก่อนที่ขยายตัวเร็วมาก

แต่ในช่วงที่ผ่านมาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระดับที่ใช้ทั่วไปแต่มีข้อถกเถียงเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ซึ่งข้อถกเถียงนี้ยังคงมีอยู่และทำให้ผู้บริโภคบางคนระมัดระวังในการบริโภคผงชูรส

ขณะที่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางชิ้นชี้ให้เห็นว่า ผงชูรสปลอดภัยในการบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เช่น องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) สำหรับในประเทศไทยเองก็มีความคิดเห็นหลากหลาย บางคนมองว่าผงชูรสเป็นส่วนสำคัญในการทำให้อาหารมีรสชาติอร่อย ในขณะที่บางคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการบริโภค เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยขึ้นแล้ว ผงชูรสยังมีประโยชน์ลดการใช้เกลือลง ผงชูรสสามารถเพิ่มรสชาติ

อูมามิได้โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณเกลือในอาหาร สำหรับผู้ที่ต้องการลดการบริโภคโซเดียม ซึ่งสามารถทดแทนได้ในสัดส่วนถึงหนึ่งส่วนต่อสามส่วน

ขณะเดียวกันทาง อายิโนะโมะโต๊ะ ยังได้นำความเชี่ยวชาญด้านกรดอะมิโน มาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดต่างๆ รวมไปถึงการรุกสู่การบริการด้วยการแนะนำแอปพลิเคชัน i-LiveWell แพลตฟอร์มกินดีมีสุขฉบับมนุษย์เงินเดือน

นายวันนเรศวร์ สุขีลักษณ์ ผู้จัดการแผนกธุรกิจใหม่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ร่วมมือกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ Invitrace พัฒนาแอปเพื่อดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เตรียมเจาะตลาด 50 บริษัททั่วไทย โดยมีฟีเจอร์หลัก ได้แก่ A.I. Personal Health ที่คำนวณแคลอรี นับก้าวเดิน ทำอาหาร ออกกำลังกาย และการประเมินสุขภาพ Entertainment Activity ที่เป็นเกมและอวตาร คอมมูนิตี้ และรางวัลพิเศษ ตั้งเป้ามีพนักงานผู้ใช้งานกว่า 3,000 คนภายในปีหน้า

นอกจากการสร้างความกินดีมีสุขให้กับคนไทยผ่านโภชนาการที่ดีแล้ว อายิโนะโมะโต๊ะยังมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นผู้ใช้แป้งมันสำปะหลังเบอร์หนึ่งในประเทศไทยและยังดำเนินการเพื่อสานต่อโครงการ Thai Farmer Better Life Partner ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสริมทักษะเกษตรกรไทยแบบครบวงจรอีกด้วย.

วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “ตลาดนัดหัวเขียว” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ