AIS นับเป็นแบรนด์ดัง ลำดับที่ 6 ต่อจาก M150 SPARKLING, อาหารสุนัข JerHigh, อาหารแมว Me-O, Samsung Thailand และ Laroche-posay ที่สบโอกาสความฮอต
คว้าตัว ยูทูบเบอร์ชาวเกาหลี สายท่องเที่ยว “คัลแลน-พี่จอง” แห่งช่อง Cullen HateBerry มาเป็นพรีเซนเตอร์ สร้างภาพลักษณ์แนวใหม่ ให้กับโปรดักต์ได้อย่างน่าสนใจ ในเวลาไล่เลี่ยกัน แบบไม่กลัวซ้ำ แต่ได้กระแส มุมบวก และสร้างความคลั่งไคล้ในตัวแบรนด์ กลับมาอย่างรวดเร็ว ในยุคที่ ความเชื่อ จากแบรนด์ ไม่ได้สร้างกันง่ายๆ
จนเกิดคำถาม อะไร? ที่ทำให้วันนี้ “คัลแลน-พี่จอง” สามารถคว้าใจแบรนด์ดังต่างๆ เหล่านี้ ได้อย่างอยู่หมัด เทียบชั้นความสำคัญ ไม่ต่างจาก ดารา-ศิลปิน คนดัง ที่เดิมเคยครองตลาดพรีเซนเตอร์ ในหมู่แบรนด์ดังมาเป็นเวลานาน
เจาะความสำเร็จของ “คัลแลน-พี่จอง” และปรากฏการณ์ ด้อมใจฟู นอกจากเป็นผู้พลิกโฉม แนวคอนเทนต์ จากความเรียบง่าย สู่การท่องเที่ยวเชิงบวก ฮีลใจคนดูในยามทุกข์ “ความสุข” ที่ไม่ได้อยู่ที่ปลายทางเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องราว ระหว่างทาง ที่ชวนให้เรายิ้ม และหัวเราะจนแก้มแตก
เนื้อหาที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม ดูได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ เน้นขายความธรรมชาติของมนุษย์-จริงใจ-ใสซื่อ พี่และน้อง พร้อมแก๊งเพื่อน ที่พยายามจะสื่อสารกันด้วยภาษาไทยล้วนๆ แม้ตกใจ ยังไม่หลุดเกาหลี คำไหนไม่รู้! ครั้งหน้าจะรู้เอง...
พร้อมแทรกแซง ประสบการณ์การเดินทางที่ไม่ได้สวยหรู แฝงไปด้วยปรัชญาชีวิต มีทั้งดี และร้าย ปนกัน แต่ไม่เป็นอุปสรรค ค่ำไหนนอนนั่น กินอยู่แบบสบายๆ ชาวบ้าน-ชาวช่อง เข้าถึงได้แบบไม่ถือตัว ชวนกันเล่นสนุกๆ แบบเด็กๆ ไร้ฟิลเตอร์ ของการเป็น “ผู้ใหญ่” วัย 30+ ที่ความสุขในชีวิตจริง หาได้ยากขึ้นตามอายุ
จากเหตุผลต่างๆ ข้างต้นนี่เอง ทำให้หลายคนหลงรัก ช่อง Cullen HateBerry อย่างถอนตัวไม่ขึ้น และส่งต่อความสำเร็จของช่อง ผ่านการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ใช้เวลาเพียง แค่ 2 ปี ก็สามารถสร้างฐานแฟนคลับในหมู่คนไทยได้อย่างเหนียวแน่น เกิดภาวะ “ใจฟูกันทั้งแผ่นดิน” ด้วยยอดผู้ติดตาม ใน YouTube ล่าสุด (1 ก.ค. 2567) มากถึง 2.69 ล้านคน ไม่นับรวมในช่องทางอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
“สำหรับเรา ไม่ใช่แค่พวกเขาหล่อ หรือ หน้าตาดี มันคือความ Positive ที่พวกเขาแสดงออกมา ก่อตัวเป็นความประทับใจ และเป็นความรัก”
นี่คือตัวอย่างข้อความ ที่แฟนคลับคนนึง สื่อสารถึง ช่อง Cullen HateBerry
ย้อนกลับมาที่ ในแง่มุมธุรกิจ และการตลาด หากจะกล่าวได้ว่า การคว้าตัว “คัลแลน-พี่จอง” มาเป็นพรีเซนเตอร์ นี่คือจุดแข็ง-แต้มต่อ ที่จะใช้สร้างอิมแพ็กต์ในตัวโปรดักต์ ได้ไม่ยาก ในหมู่ผู้ชื่นชอบและคลั่งไคล้ในตัว “พรีเซนเตอร์” ที่พร้อมจะสนับสนุนสินค้าในทุกแง่ ซึ่งต่อให้ยังไม่ซื้อ ก็เกิดความประทับใจ “เชิงบวก” ต่อแบรนด์นั้นๆ ขึ้นมาทันทีได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี “พรีเซนเตอร์” ที่น่าเชื่อถือ และความสามารถในการสื่อสาร อาจเป็นคำตอบที่ชัดเจนในสุด ในกรณี ของ “คัลแลน-พี่จอง” เมื่อเทียบกับปัจจัย -การเลือก “พรีเซนเตอร์” อื่นๆ ตามทฤษฎี ที่ประกอบไปด้วย บุคคลิกลักษณะ, ชื่อเสียง, ความพร้อมที่จะร่วมงานกัน หรือความเชี่ยวชาญ-ความสนใจในผลิตภัณฑ์และแบรนด์นั้นๆ
เทียบกรณี ล่าสุด AIS ตอกย้ำผู้ นำธุรกิจ 5G ประกาศคลื่นความถี่ ครอบคลุมแล้วกว่า 95% ของพื้นที่ประชากร ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง รวมกว่า 1460 MHz โดย เลือกสื่อสารผ่าน 2 หนุ่ม ที่ลุยป่า-ปีนภูเขา-เที่ยวเกาะ-ฝ่าดงทาก ตามหาน้ำตก ในหลายสิบจังหวัดทั่วประเทศ
ที่ใครเป็นแฟนคลับ และติดตามมาตลอด จะเห็นได้ว่า แต่ละสถานที่ที่ “คัลแลน-พี่จอง” บ้างมีน้องแดน และจูดี้ ร่วมทริปด้วยนั้น ต่างเป็นทีมเที่ยวไทยสายเข้าป่าอย่างแท้จริง โดยมี Google Map ที่ต้องอาศัยสัญญาณมือถือ นำทาง แลtแอปฯ จ่ายเงิน เป็นเครื่องมือสำคัญขาดไม่ได้ เพื่อจ่ายค่าอเมริกาโน่เย็น ไม่หวาน แก้วใหญ่ 2 แก้ว
นับเป็นการดึง ประสบการณ์จริง ของการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ลึกแค่ไหน ก็มีสัญญาณ มาสื่อสารกับ “ผู้บริโภค” อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
โดย ผู้บริหาร AIS ระบุว่า การดึงตัว “คัลแลน-พี่จอง” มีที่มาที่ไป ที่ไม่ใช่ความดัง แต่มาจากฐานะ “ผู้ใช้งานจริง” สู่การร่วมกัน Co-Create ผ่านรูปแบบของ Content ที่สามารถสื่อสาร บอกต่อการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบผ่านประสบการณ์ใช้งานเครือข่ายที่ดี สัญญาณเน็ตที่จริงใจในทุกการใช้งาน รวมถึงความพิเศษจากร้านค้าพาร์9เนอร์ของ AIS Points ด้วยเช่นกัน
“เราต้องการหาคนที่เป็นทั้งอินฟลูฯ และคอนซูเมอร์ในคนเดียวกัน ซึ่งจองและคัลแลนตอบโจทย์ “
ขณะ “คัลแลน” เผยอินไซต์ ถ่ายทอดประสบการณ์ การถ่ายทำ คลิป : เพชรบูรณ์ EP 2 ว่า ขณะทุกคนกำลังเดินเข้าป่า มุ่งหน้าไปเยี่ยมชมความสวยงามของ น้ำตกหมันแดง และต้องต่อสู้กับฝูงทาก หลังจากพลาดทำกิจกรรม paragliding เพราะทิศทางลมไม่เป็นใจ มีการหลงทางกันเกิดขึ้น แต่รอดมาได้ เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ต
สำคัญสุด การโหลด ส่งฟุตเทจคลิปที่ความจุสูง ต้องอาศัย สัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อส่งต่อทางไกลให้กับทีมตัดต่อ ก็เป็นอีกความประทับใจของผู้ใช้งานจริง
ด้าน “พี่จอง” ให้ข้อมูลว่า สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมในทุกที่ ทำให้จากการที่ต้องคอย พก “เงินสด” ติดตัวเยอะๆ เวลาไปเที่ยว เพราะกลัวโอนจ่ายไม่ได้ ปัจจุบันก็พกน้อยลง เพราะการสแกนโอนฯ สะดวกกว่า และไม่มีปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ต
นี่คือ ตัวอย่างการนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ ที่ทำให้คนเข้าใจอย่างเรียบง่าย ถึงสิ่งที่แบรนด์อยากจะสื่อสาร ในแคมเปญ “จริงๆ อุ่นใจ ทั่วไทยเน็ตแรง” เส้นเรื่องทรงพลัง มากกว่าความดังของตัวพรีเซนเตอร์ ที่อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็พร้อมจะเชื่อและคล้อยตาม
หรือย้อนไปกรณีโฆษณาอาหารสุนัข JerHigh ที่สร้างปรากฏการณ์ “อร่อยยกด้อม” เพราะตัวพรีเซนเตอร์ ชิมเอง พร้อมบอกอร่อยมาก โดยที่ตัวแบรนด์ ไม่ต้องสื่อสารเลย ว่า อาหารสุนัขของตัวเอง อร่อยและปลอดภัย เจ้าของก็กินได้ มีหลายรสชาติ เพราะพรีเซนเตอร์ ลองให้เห็น
สอดคล้องธรรมชาติสไตล์ของ “คัลแลน-พี่จอง” ที่เป็นนักชิมตัวยง และเป็นเพื่อนสนิท กับน้องหมาทุกจังหวัด โดยมักจะมีอาหารน้องหมา ติดกระเป๋าไว้ตลอด เมื่อเจอก็จะเรียกมาเล่น-มาขี่หลัง และคอยป้อนอาหารให้ กลายเป็นภาพลักษณ์ อ่อนโยน จริงใจ และซื้อใจ กลุ่มคนรักสุนัขได้อย่างดี
รวมไปถึงน้องเหมียว ผ่าน อาหารแมว Me-O ที่กลายเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับช่อง Cullen HateBerry แบบไม่กระโตกกระตาก แต่ เอาใจ ทาสแมวไปได้เต็มๆ นี่คือ ผลลัพธ์ของการเลือกพรีเซนเตอร์ ในปัจจัย ความเกี่ยวข้องกับตัวผลิตภัณฑ์ ในแง่ “ผู้ใช้จริง” สู่ “ผู้มีผลต่อใจ” ที่เราเห็นได้จากกรณีต่างๆ ของตัวคัลแลน-พี่จอง ได้เชื่อมโยงกับแบรนด์แบบเนียนๆ
ทั้งนี้ ข้อมูล Stories & Tips ธุรกิจ จากธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า โลกธุรกิจหลังโควิด-19 เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน Brand Loyalty ลูกค้าลดลง หากแต่ หัวใจของการดึงความสนใจ (awareness) ไปสู่การสร้างความมีส่วนร่วม (engagement) กับแบรนด์การทุ่มงบโฆษณาเยอะๆ อาจไม่ใช่แนวทางที่ใช่อีกต่อไป
หากแต่เป็น การสื่อสาร ที่แม่นยำ และ ถูกจุด ที่สำคัญต้องแสดงถึงความจริงใจกับลูกค้า ขณะชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ จะเป็นต้นทุน สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เล็ก หรือแบรนด์ใหญ่ในตลาด
ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ถือว่าเป็นการรับรู้ของผู้บริโภค ที่มาจากการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับโปรดักส์ หรือ สินค้า จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาพลักษณ์แบรนด์ ที่สร้างการจดจำที่ดี ในใจผู้บริโภคได้ ย่อมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในอุตสาหกรรม ที่มักมีการแข่งขันสูงได้ไม่ยาก โดยจะเห็นได้ว่า พรีเซนเตอร์ ที่ทัชใจ ไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างหน้าตาที่ดีเสมอไป แต่ต้องสามารถสร้างความน่าสนใจ และ ความเชื่อใจ ให้แก่สินค้าได้ แบบซื่อตรง และ จริงใจ ผ่าน ประสบการณ์ร่วม จับต้องได้นั่นเอง.
ที่มา : AIS , ธนาคารไทยพาณิชย์
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney