เผยโฉมออกมาแล้ว สำหรับป้าย "Bangkok" ป้ายใหม่ บน Sky Walk แยกปทุมวัน บริเวณหน้าหอศิลปฯ เชื่อมต่อ MBK-BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และสถานีสยาม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้กลายเป็นจุดเช็กอิน และแลนด์มาร์กยอดนิยม ในการถ่ายรูปของชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
โดยเจ้าหน้าที่ของ กทม. ใช้เวลาช่วงค่ำของวันที่ 27 พ.ค. และ 28 พ.ค. ลอกข้อความเดิมที่ติดแปะบริเวณคานรางรถไฟฟ้าเหนือ Sky Walk จุดดังกล่าวออก ก่อนติดสติกเกอร์สีสัน ดีไซน์ใหม่ ระบุข้อความ "กรุงเทพฯ . Bangkok" แทนข้อความเดิม
ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้คำชี้แจงถึงที่มา ป้ายใหม่ Bangkok ว่า นอกจากจะถูกรังสรรค์เพื่อทดแทนป้ายเก่าที่ข้อความเลือนลางไปมากแล้ว ยังต้องการสื่อถึงอัตลักษณ์ (Identity System) โฉมใหม่ของ กทม. ที่มาจากตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานครด้วย แม้จะมีความเห็นออกมาค่อนข้างหลากหลาย หลังปรากฏป้ายใหม่ในช่วงเช้าวันนี้ โดยหลายคนให้น้ำหนัก “ชอบป้ายเก่ามากกว่า”
ขณะล่าสุด “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม. ออกมาระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ไม่ได้มีผลกับชีวิต แต่ก็เป็นรายละเอียดของเมือง ดังนั้น หากใครว่าง หรือผ่านไป สามารถไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้ได้
ซึ่ง กทม.ยังอยู่ระหว่างติดสติกเกอร์ใหม่ในอีก 1 จุด ฝั่งด้านจุฬาฯ มุ่งหน้าแยกปทุมวัน ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องในค่ำคืนนี้ พร้อมย้ำว่า สติกเกอร์ใหม่ “Bangkok” สะท้อนอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร มีที่มาจากตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานครนำ “วัชระ” อาวุธประจำกายของพระอินทร์ที่ใช้ปกป้องคุ้มครองกรุงเทพมหานคร มาครอบตัด (crop) ภาพ ให้เป็นลวดลายที่มีความเป็นนามธรรม
ส่วน โทนสีของกราฟิก ใช้ระบบสีรอง ซึ่งสะท้อนถึงความสุขของผู้คนและการผสมผสานระหว่างสิ่งใหม่กับวัฒนธรรมเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ส่วนระบบสีหลักจะเป็นสีเขียวมรกต ซึ่งเป็นสีที่ถูกนำมาใช้งานมากที่สุดในงานกราฟิกส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร
เจาะที่มาของป้ายใหม่ Bangkok ด้วยรูปแบบตัวอักษรเอกลักษณ์แฝงความเป็นไทย นี่คือผลงานของ Farmgroup ที่ปรึกษาของ กทม. ด้าน Creative and Design Consultancy Based in Bangkok ที่ต้องการสร้างภาพจำใหม่ของ กทม. ด้วยการ ออกแบบ Logo ใหม่ ทั้งคำว่า กทม., BMA และ BKK
โดยปลายปี 2566 Farmgroup โพสต์ภาพพร้อมอธิบายแนวคิดของการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่ของ กทม.ว่า ขณะนี้ บริษัท กำลังทำงานร่วมกับ กทม. เพื่อปรับปรุงระบบอัตลักษณ์ของเมืองกรุงเทพฯ
โดยต้องการยังคงไว้ซึ่งตราสัญลักษณ์ประจำ กทม.ดั้งเดิมไว้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ดูน่าสนใจโดดเด่นยิ่งขึ้น ซึ่งทีมงานทำงานอย่างหนัก เพื่อค้นคว้าประวัติความเป็นมาของตราสัญลักษณ์พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณดั้งเดิมซึ่งวาดด้วยมือ โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
แบบอักษรชุดดังกล่าวจึงได้รับแรงบันดาลใจจากตราสัญลักษณ์ต้นฉบับ ออกแบบผ่านการรวบรวมเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ ผสมผสานรากฐานทางประวัติศาสตร์เข้ากับกลิ่นอายร่วมสมัย ออกมาเป็นชุดตัวอักษรใหม่ คล้ายลายเส้นปากกาหัวตัด ในชื่อฟอนต์ “เสาชิงช้า”
ย้อนกลับไป ใครเป็นแฟนคลับ เพจกรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่า กทม.มีการนำฟอนต์ “เสาชิงช้า” มาเป็นสื่อหลักในการสื่อสารข้อความ และข้อมูลต่างๆ มาเป็นระยะเวลานานแล้ว คล้ายต้องการสร้าง CI และ Branding ใหม่ของ กทม. ที่อยากให้คนเปลี่ยนภาพจำ
นอกจากนี้ กทม.ยังชี้แจงว่า ดราม่าจ้างทำป้ายใหม่ งบ 3 ล้านบาทไม่เป็นความจริง หากแต่เป็นในรูปแบบ กทม.ใช้งบประมาณจ้างเหมาเอกชนดำเนินการกำหนดอัตลักษณ์และภาพลักษณ์หลักของกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ในวงเงิน 2,952,600 บาท ครอบคลุม งาน 11 ประเภท ได้แก่
ต้องบอกว่านี่คือ การรีดีไซน์อัตลักษณ์เมืองกรุงเทพฯ ใหม่ในรอบ 100 ปี ที่น่าจับตามอง ที่ไม่ว่าคนออกแบบ หรือ กทม.เอง อยากชวนให้ คนเมือง เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของเมือง จากการทยอยปรับโฉมหลายๆ ส่วน หรือหลังจากนี้บรรยากาศของเมืองกรุงเทพฯ จะเต็มไปด้วยสีสัน "City Branding" ใหม่ ที่เราอยากเห็น?
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney