FutureSkill แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ทักษะแห่งอนาคต ระบุว่า ปัจจุบันการทำธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตลอดเวลา ขณะในยุค ที่ "เทคโนโลยี" กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันของคนไทย ส่งผลให้มีการซื้อขายสินค้า และบริการ ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
พฤติกรรมกลุ่มผู้บริโภคเอง มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ Gen Z ที่พบว่า มีการซื้อ “สินค้า” ทีละน้อย แต่ซื้อบ่อยขึ้น ก่อเกิดเทรนด์ธุรกิจ มาแรงต่างๆ ดังนี้
1. กลุ่มคน Gen Z มีอิทธิพลต่อตลาดปัจจุบัน และไม่ Loyalty กับแบรนด์อีกต่อไป
จากผลสำรวจของ Meta พบว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากร Gen Z กว่า 500 ล้านคน และในอนาคตอาจมีอัตราส่วนถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาค โดยประชากร Gen Z เป็นผู้บริโภคกลุ่มที่นักการตลาดและแบรนด์หันมาให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจาก มีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่น่าสนใจ
ขณะเดียวกัน สัดส่วนประชากรของ Gen Z ในไทยก็สูงถึง 35% ดังนั้น Gen Z ก็ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์ได้อย่างชัดเจน
Gen Z เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้มีทักษะในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง รวมถึงพร้อมที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองเช่นกัน เรื่องของการซื้อสินค้าและบริการ แน่นอนว่าต้องผ่านการหาข้อมูล ดูรีวิวบนโลกออนไลน์ หากถูกจริต รู้สึกคุ้มค่า ก็พร้อมเปย์ทันที!
ด้วยความที่มีความฉลาดเลือกของคนกลุ่มนี้ หากธุรกิจไหนปรับตัวไว สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าได้ จะมีความได้เปรียบเหนือแบรนด์อื่น และหากได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี ก็พร้อมที่จะจากไปทันที เนื่องจากมีตัวเลือกเยอะ และคนกลุ่มนี้เปิดใจให้แบรนด์ใหม่ได้ง่ายกว่า Gen อื่น ๆ
2. เศรษฐกิจคนโสดมาแรง ธุรกิจไม่ควรมองข้าม
เศรษฐกิจคนโสด (Solo Economy) เป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งตลาดทั่วโลกกำลังขยายตัว จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร คนสมัยนี้เป็น “โสด” มากขึ้น และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และ Mindset ของคนรุ่นใหม่ที่ขอคิดแค่เรื่องงาน เรื่องเงินพอ ถ้ามีคู่แล้วเหนื่อยกว่าเดิม ไม่มีดีกว่า!
หลายธุรกิจจึงหันมาตีตลาด เจาะกลุ่มคนโสดมากขึ้น ทำให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับคนโสดมาแรง คนกลุ่มนี้มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างชัดเจน พฤติกรรมการใช้เงินแบบคนโสด (Solo Financial) คือซื้อทีละน้อย แต่ซื้อบ่อย รู้สึกว่าการจ่ายเงินจำนวนน้อยเป็นเรื่องง่าย และไม่ต้องคิดเยอะเท่าการจ่ายเงินก้อนใหญ่
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ธุรกิจควรปรับกลยุทธ์กาลตลาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค หากเจาะตลาดนี้ได้ ธุรกิจของคุณอาจจะประสบความสำเร็จได้อย่างคาดไม่ถึง
3. โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมผู้บริโภค
ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดีย เพราะลูกค้ายังคงนิยมติดต่อกับแบรนด์ และหาข้อมูลต่างๆ ผ่านการส่งข้อความ (Business Messaging) มากกว่าการค้นหาด้วยตัวเองบนเว็บไซต์
พบว่ามีการแชตผ่าน Meta กว่า 600 ล้านข้อความต่อวัน โดยผู้บริโภคมีคาดหวังให้แบรนด์มีความพร้อมและสามารถติดต่อได้ตลอดเวลา และเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ไว นอกจากนี้ ผู้บริโภค โดยเฉพาะ Gen Z ชอบแชร์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองบนโซเชียลมีเดียอีกด้วย
4. อย่าเลิกทำวิดีโอสั้น (Reels)
เพราะเป็นรูปแบบของคอนเทนต์ที่ยังได้รับความนิยมทั่วโลก และสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าได้ หลังพบว่า ปัจจุบันมีคนใช้ Reels กว่า 2 แสนล้านครั้งต่อวัน และประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ที่ใช้ Reels โดยกลุ่ม Gen Z พร้อมที่จะติดตามแบรนด์และซื้อสินค้า หากถูกใจหลังจากชมวิดีโอ ยิ่งไปกว่านั้นคือการส่งต่อให้คนรู้จัก ซึ่งนับว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่แบรนด์แทบจะไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมาก
ทั้งนี้ Meta ยังสรุปไว้อีกว่า ธุรกิจควรต่อยอดประสบการณ์ให้ลูกค้าผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะจะทำให้ทันยุคสมัย ทันใจลูกค้า และอาจช่วยรักษา Loyalty เอาไว้ได้
5. ธุรกิจโตไวได้ด้วย AR และ AI
จากรายงานของ Meta พบว่า Gen Z ชาวไทยชื่นชอบการใช้ AR Filter มาก เพื่อสร้างประสบการณ์ก่อนใช้เงิน ดังนั้น แบรนด์ไหนยังไม่ทำ ถือว่าพลาด
และการนำ AI มายกระดับ Digital Customer Experience เป็นทางเลือกที่ดี(มาก) ของนักการตลาดยุคนี้ เพราะ AI แทบจะอยู่ในชีวิตของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้จากการนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งคาดว่าจะยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในอนาคต
Meta เองก็มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะเรื่องของการทำโฆษณา เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักการตลาดที่ใช้เครื่องมือ Advantage+ Creative บน Meta โดยเกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ FutureSkill ยังระบุว่า ปัจจุบัน แวดวง Marketing และ Creative เอง ก็มีการใช้ AI เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
ที่มา : FutureSkill
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
.