เหตุการณ์ร้อนสนั่นโซเซียล "กะเทยไทย ปะทะ กะเทยฟิลิปปินส์" ย่านสุขุมวิท 11 ค่ำวานนี้ กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงอย่างวงกว้าง ทั้งในหน้าสื่อไทย และ สังคมออนไลน์ตลอดทั้งวันนี้ อีกทั้ง อาจตอกย้ำได้ว่า หมดยุคแบ่งเพศ!แล้ว เมื่อไทยกลายเป็นสังคมที่เปิดกว้างเรื่อง “เพศสภาพ” มากขึ้น
ดั่งจะเห็นได้จากก่อนหน้านี้ มีการขับเคลื่อน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม การรองรับสิทธิชอบธรรมทางกฎหมาย อย่างการรับรองบุตรของครอบครัวหลากหลายทางเพศ หรือแม้กระทั่งการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมไทย
ซึ่งที่ผ่านมามีสถาบันการเงินหลายแห่งเปิดโอกาสให้กลุ่ม LGBTQ+ กู้ร่วมได้ เนื่องจากกลุ่มนี้มีความสามารถที่จะขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้ไม่ต่างจากเพศชาย และเพศหญิงเลยแม้แต่น้อย นั่นจึงทำให้เห็นว่า “สังคมไทย” ไม่ได้ตีตราค่าของ “คน” จากกล่องของเพศที่กำหนดไว้
ตรงจุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของ กลุ่ม “LGBTQ+” ที่มีความสามารถไม่ต่างจากเพศอื่นๆ นั่นก็เพราะว่าความเก่งไม่จำกัดเพศ ยกตัวอย่างเช่น Leo Varadkar ต้นแบบ LGBTQ ผู้ทลายกำแพงความเชื่อเดิมๆ ว่ากลุ่ม LGBTQ จะต้องถูกกดขี่ ไม่สามารถมีสิทธิมีเสียงหรือดำรงตำแหน่งใหญ่ๆ ทางการเมืองได้ ด้วยการก้าวขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของประเทศไอร์แลนด์
หรือแม้กระทั่ง Tim Cook ผู้บริหารระดับสูงของ Apple ที่มีรสนิยมทางเพศเป็น LGBTQ ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่ได้ปิดบังและออกจะภาคภูมิใจด้วยซ้ำจากคำให้สัมภาษณ์ว่า “I’m proud to be gay” กับสื่อ โดยในยุคของ Tim Cook นี้เองทำให้ Apple กล้าฉีกกรอบออกจากรูปแบบเดิมๆ และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจออกมาวางขายมากมาย
ทั้งนี้หากมองลึกไปในประเทศไทยจะเห็นได้ว่าความสำเร็จของบรรดาธุรกิจต่างๆ ล้วนแต่มี LGBTQ เป็นส่วนช่วยขับเคลื่อน ยกตัวอย่างเช่น แวดวงธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มโรงแรมในไทย หลายปีมาแล้วที่มี LGBTQ เข้ามาเป็นลูกค้าสุดพิเศษหมุนเวียนเพิ่มอัตราเช็กอินไม่ขาดสาย และจัดอยู่ในกลุ่ม กำลังซื้อสูง พร้อมจ่ายไวแบบไม่อั้น ขอเพียงให้สินค้าและบริการนั้นมีคุณภาพโดนใจ
จากข้อมูลพบว่ากลุ่ม LGBTQ+ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีการคาดการณ์ว่ากลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลกมีจำนวนกว่า 486 ล้านคน อยู่ในเอเชีย 288 ล้านคน และในไทยประมาณ 4 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางการเงิน มีความสามารถในการใช้จ่าย มีไลฟ์สไตล์ ที่เรียบหรูดูแพง และเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการทำการตลาดกลุ่มหนึ่ง
และก็เช่นเดียวกันกับ LGBT Capital เคยระบุว่าช่วงก่อนโควิด-19 กลุ่ม LGBT ทั่วโลกมีกำลังซื้อประมาณ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 135 ล้านล้านบาท และไทยเองก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวจากกลุ่มนี้อยู่ราว 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นมูลค่า 2.26 แสนล้านบาท จึงนับเป็นตลาดใหญ่ด้านการท่องเที่ยวของโลกอีกกลุ่มหนึ่ง
รวมทั้งจากการวิเคราะห์ของ GAY TIMES คาดการณ์ว่าในปี 2593 ทั่วโลกจะมีจำนวนประชากร LGBTQ+ มากถึง 1,000 ล้านคน นั่นจึงทำให้หลายภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้ไม่เว้นแม้แต่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในปีที่ผ่านมาได้เจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ อีกทั้งบรรดาห้างสรรพสินค้าอย่าง ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์, เซ็นทรัลเวิล์ด และสยามพารากอน หรือแม้แต่ LEGO ที่ผ่านมาก็ได้ออกสินค้าใหม่ในธีม LGBTQ เฉลิมฉลอง Pride Month, CP จัดงานเฉลิมฉลอง และ Disney+ ก็มีวิวัฒนาการของตัวละครที่สะท้อนการเป็น LGBTQ+ อย่างเห็นชัดด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ภาคธุรกิจไม่ควรมองข้าม และต้องหาลู่ทางที่จะดึงกลุ่มนี้มาเป็น “กลุ่มเป้าหมาย” ของแบรนด์ให้ได้ เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจและโลก เพราะ “ความเท่าเทียมทางเพศ = สิทธิมนุษยชน” นั่นเอง
ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านการตลาด กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney