หลัง "ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล" ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ประกาศเปิดศักราชใหม่อย่างแข็งแกร่ง กางแผนธุรกิจไตรมาสแรกของปี 2567 เดินหน้าปรับนิวลุคครั้งใหญ่ 2 สาขาในกรุงเทพฯ ได้แก่ ห้างเซ็นทรัลเมกาบางนา และห้างเซ็นทรัลแฟชั่นไอส์แลนด์ พร้อมเปิดตัว 2 สาขาใหม่อย่างยิ่งใหญ่ ได้แก่ ห้างเซ็นทรัลนครสวรรค์ ที่ได้ฤกษ์เปิดในวันนี้ (31 ม.ค. 67) และห้างเซ็นทรัลนครปฐม ที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 30 มีนาคม 2567
เพื่อเป็นการแสดงถึงการเป็นเบอร์หนึ่งของ “ห้างสรรพสินค้า” ที่ครองใจคนไทยมายาวนานต่อเนื่องกว่า 8 ทศวรรษ หรือ 77 ปี ด้วยความสามารถที่ก้าวไปอยู่บน “ทำเล” ที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพทั้งในกรุงเทพฯ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันตก
#Thairathmoney จะพาไปเจาะลึกกันว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ “เซ็นทรัล” เลือกที่จะมาปักหมุดที่นครสวรรค์ “ประตูสู่ภาคเหนือ”? รวมทั้งทำไมเซ็นทรัลถึงต้องขยายอาณาเขตไปจังพื้นที่ต่างจังหวัด และที่สำคัญคือ “แบรนด์” ใดบ้างที่เลือกขยายถิ่นฐานตามพี่ใหญ่อย่างเซ็นทรัลฯ มาจนถึงเมืองปากน้ำโพ
ก่อนอื่นอาจจะต้องเท้าความย้อนไปดูก่อนว่าทำไม “นครสวรรค์” ถึงมีดีขนาดที่สามารถทำให้บรรดายักษ์ใหญ่อย่าง “เซ็นทรัล” “โรงพยาบาลสินแพทย์” ถึงยกขบวนกันเข้าไปลงทุนในน่านน้ำแห่งนี้
ด้วยก็เพราะว่า “นครสวรรค์” ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง เป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์มาตั้งแต่สมัยโบราณ จวบจนกระทั่งกลายเป็นเมืองที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอีกเมืองหนึ่งของภาคกลางตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ครอบคลุม Catchment Area กว่า 1.57 ล้านคน รวม 6 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, พิจิตร, ลพบุรี และกำแพงเพชร
ขณะเดียวกันชาวนครสวรรค์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Multi-Generation Families ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่มีกำลังซื้อสูง มีไลฟ์สไตล์คนเมือง และจากข้อมูลสำนักงานสถิติจังหวัดนครสวรรค์ ปี 2564 ยังชี้ว่า GPP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดนครสวรรค์สูงกว่า 109,000 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือ รองจากอันดับ 1 อย่างเชียงใหม่ และกำแพงเพชร มีรายได้ต่อครัวเรือน 21,000 บาทต่อเดือน
สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐฯ ที่ได้ประกาศยกระดับนครสวรรค์เป็น 1 ใน 10 จังหวัดเมืองรอง นำร่องสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก นครสวรรค์ จึงเป็น จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญระดับภูมิภาคที่เชื่อมโยงภาคเหนือ และภาคกลาง เป็น Logistic Hub สำคัญ ที่มีโปรเจกต์ Future Infrastructure รถไฟความเร็วสูงสายเหนือ และรถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-แม่สอด สามารถ Cross Border ไปยังกลุ่ม CLMV ที่จะกลายเป็น “ฮับ” ในอนาคตได้
ดังนั้นทำให้การปลุกชีพ “เมืองปากน้ำโพ” ในครั้งนี้ของเซ็นทรัล กลายเป็นที่น่าจับตามองด้วย “เซ็นทรัลนครสวรรค์” ศูนย์การค้าลำดับที่ 41 ของเซ็นทรัลพัฒนา ถือเป็นโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ที่มีการทุ่มงบกว่า 5,800 ล้านบาท บนพื้นที่ 42 ไร่ มีพื้นที่ช็อปปิ้งมอลล์ 133,300 ตารางเมตร กับการออกแบบห้างในสไตล์ “Chinese Village” โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมไทย-จีนท้องถิ่นของนครสวรรค์ ที่ดึงการตกแต่ง และสภาพแวดล้อมจากการตกแต่งบ้านคนไทยเชื้อสายจีน มารวมเข้ากับโมเดิร์นทวิสต์ร่วมสมัยในทุกโซน
ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เซ็นทรัลพัฒนา พร้อมพลิกโฉมให้นครสวรรค์เป็นเมืองเศรษฐกิจแห่งใหม่ของภาคกลางตอนบน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของเมืองสู่ระดับภูมิภาค
ทั้งมีการยดทัพบิวตี้ และแฟชั่นเดสติเนชันแห่งใหม่แห่งภาคเหนือตอนล่าง ด้วยสินค้าจากกว่า 500 แบรนด์ชั้นนำระดับโลกในทุกหมวดหมู่ อาทิ Beautrium, Sukishi Korean และ 60 แบรนด์ดังครั้งแรกในจังหวัด อาทิ Uniqlo, Muji, Adidas, Birkenstock, Beautrium, Crocs, Bonchon, Boost Juice, GAGA, Kamu, Katsuya, KOI The, Kansei Sushi, Salad Factory, I Studio, TG Fone, Shichida, Playsound และสวนสนุก Harborland เป็นต้น พร้อมกับจะมีการดึงอีเวนต์ระดับโลกมาไว้ที่นี่ด้วยเช่นกัน
หรือแม้กระทั่งร้านอาหารชั้นนำ, คอนเวนชั่นฮอลล์, โรงแรม, คอนโดมิเนียม โครงการ “Escent Nakhon Sawan” (เอสเซ็นท์ นครสวรรค์) คอนโดมิเนียมแห่งแรกใจกลางเมือง สูง 19 ชั้น รวม 442 ยูนิต พร้อมเปิดขาย Presales 2-4 ก.พ. 67 ราคาเริ่มต้น 1.9 ล้านบาท, โรงพยาบาล ที่มี Medical Hub สร้างบริการสำหรับผู้สูงอายุ และ Multi Generation Space ทั้งหมดจะเสร็จภายใน 3 ปี
นั่นจึงทำให้นครสวรรค์กลายเป็นอีกหนึ่งจังหวัดกองเงินกองทอง รวมทั้งขึ้นแท่นอู่ข้าว อู่น้ำของบรรดานักธุรกิจที่หมายปอง เพราะนับจากนี้นครสวรรค์จะไม่ใช่แค่ “เมืองผ่าน” อีกต่อไป
“เนื่องจากเราจับกลุ่มตลาดกลางขึ้นบนที่กำลังซื้อไม่เคยแผ่ว บวกกับการที่รัฐบาลก็พยายามดึงกำลังซื้อด้วยมาตรการ Easy และเทศกาลตรุษจีน ต่อด้วยซัมเมอร์ จึงมองว่า เมืองท่องเที่ยวทั้งหมดเติบโตอย่างแน่นอนรวมทั้งต่อจากนี้เราจะมุ่งไปสู่การเจาะตลาดเมืองรองมากขึ้น โดยที่ผ่านมาหลายศูนย์การค้ามียอดขายดีกว่าปี 2019 ดังนั้นกลยุทธ์หลักคือดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามา และปลุกกำลังซื้อทุกกลุ่ม ทั้งนี้ได้มีการตั้งเป้าทราฟิกช่วงเปิดศูนย์การค้าฯ 25,000 คนต่อวัน และคาดว่าในช่วงวันหยุดทราฟิก 60% เป็นคนท้อนถิ่น 40% คือคนจังหวัดใกล้เคียง ส่วนวันธรรมดา 80:20”
ตรงจุดนี้เองก็ต้องมาดูกันว่าการที่ “เซ็นทรัลพัฒนา” ได้เข้ามาปักหมุดโครงการมิกซ์ยูสใหม่ใจกลางเมืองปากน้ำโพในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างรายได้สะพัด และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นให้กับคนในพื้นที่แล้วนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่จะตามมานั่นคือการจราจรที่หนาแน่น ผู้คนจากทั่วสารทิศ และแน่นอนว่าดีเวลลอปเปอร์ (นักพัฒนาที่ดิน) จากส่วนกลาง ที่มีตลาดหลักอยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลหลายราย หมายตาและทยอยที่จะเข้าไปพัฒนาโครงการในรูปแบบต่างๆ เป็นแน่แท้
ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้น และไม่แน่ว่า “นครสวรรค์” อาจจะกลายเป็นดาวเด่นที่น่าจับตามองในปีนี้อีกหนึ่งรายก็ว่าได้ แต่กระนั้นก็กลับมีคำถามอีกแง่มุมหนึ่งว่าแล้ว “ค้าปลีกท้องถิ่น” อย่างวิถีเทพ, วี สแควร์, จะอยู่อย่างไร? ในวันที่ “นายทุนใหญ่” เข้ามาชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนเดิมที่เคยมีอยู่ ก็ต้องคงจับตาดูกันว่าการเข้ามาของเซ็นทรัลในครั้งนี้จะเปลี่ยนโฉมเมืองปากน้ำโพไปมากน้อยแค่ไหน และจะมีบิ๊กธุรกิจรายใดย่างกรายตามเข้ามาเจาะตลาดในทำเลแห่งนี้อีกบ้าง?.