หากพูดถึงหนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้ นั่นคือ การผลักดัน ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่พรรคเพื่อไทย เร่งดำเนินการ โดย "แพทองธาร ชินวัตร" รองประธานกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่ง "กลุ่มอาหาร" นับเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักที่ถูกหยิบยกมาเป็น "อาวุธ" ซอฟต์พาวเวอร์ในการปั้นเม็ดเงินเข้าประเทศด้วยเช่นกัน
โดยในครั้งนี้ ไทยรัฐกรุ๊ป ได้มีการผนึกกำลัง 3 สื่อ หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ ร่วมจับมือพันธมิตรจัดเวทีการถกประเด็น "Soft Power Thailand's Next Weapon" เวทีเสวนา Soft Power แบบไม่ซอฟต์
ซึ่งหนึ่งในแขกรับเชิญที่ได้ร่วมขึ้นเวทีเสวนาก็คือ คุณปลา อัจฉรา บุรารักษ์ ผู้ก่อตั้ง และครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์ iberry Group โดยเริ่มแรกคุณปลาได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “ความลับของความสำเร็จ” ถึงปัจจัยที่ทำให้ iberry ประสบความสำเร็จเฉกเช่นทุกวันนี้ ว่า
“ปัจจัยความสำเร็จ” มีหลายองค์ประกอบ แต่ถ้าจะพูดสั้นๆ คงจะเป็นเรื่องความอร่อย ที่ “ย่อยง่าย” ความเข้าใจของการมองเห็น กระบวนการความคิด ว่าอยากจะถ่ายทอดอาหาร ออกไปสู่ลูกค้าได้อย่างไร”
ซึ่งถือเป็นสไตล์การเล่าเรื่อง ที่สอดใส่ “วัฒนธรรม” ของแต่ละแบรนด์ เมื่อนั้นจะทำให้อาหารของเราในแต่ละแบรนด์จะกลายเป็น Top of mind ในที่สุด กับสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำธุรกิจอาหารไม่สามารถคิดเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องร่วมกันทำทั้งองค์กร ส่งต่อมาตรฐานอาหารที่สูงจนถึงมือลูกค้า ดังนั้นรสชาติที่กำหนดไว้นั้นยังเหมือนเดิมทุกสาขา ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าการ “รักษามาตรฐาน” ที่นับว่าโหดที่สุดของการทำธุรกิจร้านอาหารของ “ไอเบอร์รี่”
ทั้งนี้เธอยังมองว่า “อาหาร” ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่งที่สุด เพราะอาหารเมืองไทยมีความหลากหลายสูง มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นการที่ทำให้สิ่งนี้ส่งผลไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ได้ต้องมีตัวประกอบ เช่น การนำอาหารไทยไปโปรโมตผ่านช่องทางโทรทัศน์ ละคร หรือแม้กระทั่งโซเชียลมีเดีย อาจเป็นคนที่มีชื่อเสียง ให้ทั้งโลกได้รับรู้ เช่น ลิซ่ากินลูกชิ้นปิ้ง ก็กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งจังหวัด และประเทศ
ดังนั้น “ซอฟต์พาวเวอร์” ต้องเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์จริงๆ” ไม่ใช่แค่การยัดเยียด เหมือนเช่นผู้หญิงคนหนึ่งอยากให้คนมารัก เราไม่สามารถบังคับให้ใครมารักได้ต้องทำตัวให้มีเสน่ห์ ให้คนเห็นคุณค่า เหมือนกันกับการที่จะทำยังไงให้วัฒนธรรมไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ให้ได้นั่นเอง
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า หากต้องการทำให้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นอาวุธ เป็นเครื่องมือในการยกระดับเศรษฐกิจ ก็ต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ต้องลงมือทำ ผ่านการใส่ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งได้รับการส่งเสริม สนับสนุน พร้อมกับก้าวไปพร้อมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เส้นทางนี้นำไปสู่ “ความสำเร็จ” ในที่สุด