สะท้อนให้เห็นว่า “ตลาดไก่ทอด” อยู่เหนือกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นปีไหนๆ ก็เติบโตมาได้โดยตลอด ทำให้ตลาดนี้หอมหวานไม่น้อยทีเดียว
และจากการเป็นเมนูยอดนิยม จึงไม่แปลกที่จะช่วยดันมูลค่าตลาดให้พุ่งสูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเซกเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดฟาสต์ฟู้ด เติบโตไม่ต่ำกว่า 8% โดยเฉลี่ยในรอบ 5 ปีย้อนหลัง ในขณะที่อุตสาหกรรมร้านอาหารโตเพียง 2-4% ทำให้ใครๆ ต่างก็หมายปองที่จะเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดเค้กก้อนนี้
แต่รู้หรือไม่ว่า? “ตลาดไก่ทอด” ในไทย มีแบรนด์เจ้าตลาดที่เห็นได้ชัดและเป็น Top 3 ที่ผู้บริโภคนึกถึง นั่นคือ 1. เคเอฟซี (KFC) แบรนด์ระดับโลกจากสหรัฐฯ มีสาขามากถึง 1,053 สาขา 2. บอนชอน (Bonchon) แบรนด์จากเกาหลี มีสาขากว่า 120 สาขา และ 3. ห้าดาว (Five Star) ที่ได้ถูกแตกธุรกิจออกมาอีก 5 ประเภท นอกเหนือจากจุดขายไก่ย่าง ก็มีไก่ทอด และอื่นๆ ด้วยเช่นกัน บริหารโดยกลุ่ม CP ที่มีกว่า 6,000 สาขา
ส่วนแบรนด์อื่นๆ ที่กระโดดร่วมวงชิงเค้ก ไม่ว่าจะเป็น Texas Chicken ที่มีเบื้องหลังผู้ทรงพลังอย่าง OR หรือบริษัท ปตท. น้ํามันและการค้าปลีก จํากัด (มหาชน) ซึ่งกำลังเร่งขยายสาขาอยู่เช่นกัน ปัจจุบันมีสาขากว่า 100 สาขา, McDonald's (แมคโดนัลด์) ที่ล่าสุดเปิดศึกท้าชนตลาดไก่ทอด ผ่านการเปิดตัว “แมคไก่ทอด” ออกมาทำตลาด
ต่อมาคือ “เบอร์เกอร์คิง” ที่ก่อนหน้านี้กลายเป็นน้องใหม่ที่เข้าสู่สังเวียนนี้ผ่านการเปิดตัวเมนูใหม่ “ไก่ทอดหาดใหญ่ ชิกเก้นคิง” (HATYAI CHICKEN KING) ไก่ทอดหนังบาง กรอบนอก นุ่มใน โรยด้วยหอมเจียวซิกเนเจอร์ พร้อมกับสลัดภาพจำความเป็นเบอร์เกอร์ สู่พ่อค้าไก่ทอดเต็มตัว รวมทั้งยังมีการเปลี่ยนจากภาพนิ่งๆ มาเป็นความกวน ผ่านการสร้างกระแส “ไม่ขายขำ นี่ขายจริง!” ไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา ผุดแพตตี้เนื้อ 100 ชิ้น หรือชีส 20 แผ่นแบบจุกๆ กันไปแล้ว ปัจจุบันมีสาขากว่า 132 สาขา
ถัดมาคือ “ชิกกี้ชิก” แฟรนไชส์ไก่ทอดหลากหลายเมนู รวมทั้งไก่ป๊อป เมนูเด่นของทางร้าน ภายใต้การบริหารของ บริษัท พนัส อินเตอร์ฟู๊ดส์ จำกัด มีสาขาแฟรนไชส์ทั่วประเทศไทยกว่า 220 สาขา อีกทั้ง เดอะพิซซ่า คอมปะนี ที่ก่อนหน้านี้ก็ได้รุกหนักปั้นโปรดักต์ “ชิค-อะ-บูม” ที่เป็นการต่อยอดมาจากกลุ่มเมนู “ปีกไก่” แยกออกมาเป็น “ซับแบรนด์” เพื่อทำตลาด แต่ล่าสุดก็มีการพับโปรเจกต์เก็บไป ยังคงไว้แค่เมนูไก่ทอดกรอบของทางร้าน, ไก่ทอดกูร์กูร์ ภายใต้ บริษัท เจ คอนเซ็พท์ จำกัด ที่มีความโดดเด่นคือไก่ทอดรสชาติต้นตำรับเกาหลีแท้ๆ เอกลักษณ์เด่นคือสะโพกไก่ไร้กระดูก 100% ปัจจุบันมีสาขา 33 แห่ง
หรือแม้กระทั่ง Choong man Chicken (ชุงมัน ชิคเค่น) ร้านไก่ทอดต้นตำรับจากเกาหลี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 10 สาขา และกำลังเป็นที่ฮอตฮิตในโลกโซเชียลอย่างมาก
รวมทั้งบรรดาร้าน “ไก่ทอดหาดใหญ่” คู่แข่งรายสำคัญที่มีให้เห็นอยู่ทุกหนทุกแห่ง โดยแลนด์มาร์กที่หลักๆ คือ “หน้าเซเว่นอีเลฟเว่น” ที่จะมีบรรดารถเข็นมาปักหลักให้เลือกสรรไก่ทอดหลากหลาย พร้อมน้ำจิ้มสูตรเด็ดที่ยากจะลืม
แต่กระนั้นหากพูดถึงเจ้าตลาดเบอร์หนึ่งก็คงหนีไม่พ้น “KFC” (เคเอฟซี) ที่ได้รับการจัดการด้านแฟรนไชส์โดย บริษัท Yum Restaurants International (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Yum Brands, Inc. โดย KFC นับเป็นกลุ่มธุรกิจอาหารบริการด่วน (quick service restaurant : QSR) ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้ในประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล จึงกลายเป็นไก่ทอดที่ขายไก่ทอดจริงๆ แบรนด์แรก และแบรนด์เดียวในไทยที่มีสาขามากที่สุด ผ่านโมเดลของ 3 แฟรนไชส์
ได้แก่ เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย (QSA) เครือไทยเบฟ มีทั้งหมด 450 สาขา, บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เครือเซ็นทรัลกรุ๊ป จำนวน 329 สาขา และบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD) 274 สาขา รวมทั้งหมด 1,053 สาขา (ตัวเลขของ Q3/66 ณ ปัจจุบัน)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในตลาดจะมีการแข่งขันที่สูง ผู้เล่นยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดอยู่แล้วหลายราย รวมทั้งผู้เล่นหน้าใหม่ที่บุกตลาดกันอย่างดุเดือด แต่ “KFC” เบอร์หนึ่งในตลาดไก่ทอด ที่มีภาพจำคือ “ผู้พันแซนเดอร์ส” กับตำนานไก่ทอด ที่อายุเป็นเพียงตัวเลขก็ไม่หวั่น เดินหน้าประกาศศักดาออกกลยุทธ์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อมาแข่งขันในตลาดอย่างต่อเนื่อง
เห็นได้จากการที่ใครๆ ก็นึกถึง KFC ด้วยความใส่ใจผู้บริโภค ที่มีทีมวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉพาะ ทำให้ KFC เป็นเชนร้านอาหารที่มีการปรับรสชาติ ราคา โปรโมชัน ให้เหมาะสมกับรสนิยมของคนในประเทศนั้นๆ รวมทั้งยังมีการทำการตลาดที่ล้อไปกับเทรนด์ และเทศกาลต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นด้วยความไม่หยุดนิ่งของ KFC แบรนด์ไก่ทอดที่ดูจะสดใหม่ตลอดเวลา ซึ่งสวนทางกับอายุของแบรนด์ที่มีมานับ 70 ปี จึงไม่แปลกที่จะกลายมาเป็นแบรนด์ “อันดับหนึ่ง” ครองใจคนไทยทุกยุคทุกสมัยนั่นเอง