"ดิ เอ็มสเฟียร์" จิ๊กซอว์เติมเต็ม "ดิเอ็มดิสทริค

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"ดิ เอ็มสเฟียร์" จิ๊กซอว์เติมเต็ม "ดิเอ็มดิสทริค

Date Time: 18 พ.ย. 2566 05:10 น.

Summary

  • ในที่สุด “ดิ เอ็มดิสทริค” (The Em Distirict) ของ “เดอะมอลล์กรุ๊ป” ภายใต้การบริหารของ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร ประกาศความพร้อมที่จะเปิดให้บริการกับฤกษ์ชัยในวันที่ 1 ธ.ค.66 นี้

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

ในที่สุด “ดิ เอ็มดิสทริค” (The Em Distirict) ของ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ภายใต้การบริหารของ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร ประกาศความพร้อมที่จะเปิดให้บริการกับฤกษ์ชัยในวันที่ 1 ธ.ค.66 นี้ จะเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่อย่างสมบูรณ์แบบในการใช้ธุรกิจค้าปลีกร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

เป็นโครงการพัฒนาย่านการค้าบนถนนสุขุมวิทประกอบด้วย 3 ศูนย์การค้า ประกอบด้วย ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และดิ เอ็มสเฟียร์ โครงการล่าสุดมูลค่าการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท ที่จะสร้างมิติใหม่บนทำเลที่ดีสุดใจกลางย่านสุขุมวิทให้เป็นย่านการค้าระดับโลกที่โอบล้อมธรรมชาติด้วยสวนอุทยานเบญจสิริ

ไม่เพียงเท่านั้นเดอะมอลล์กรุ๊ปยังได้ประกาศพัฒนาอีก 2 ย่านการค้าผ่านเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ สาขาบางกะปิ เตรียมเปิดวันที่ 8 ธ.ค. และเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางแค จะเปิดต้นปีหน้า ด้วยมูลค่าลงทุนรวมกว่า 30,000 ล้านบาทที่จะร่วมกันสร้างกรุงเทพฯให้เป็นมหานครระดับโลกกับ 3 ย่านการค้าประกอบด้วยทำเลใจกลางเมือง, กรุงเทพฯฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก มูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท

ในยุคปัจจุบันการลงทุนเพียงแค่การสร้างศูนย์การค้ากลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากการจะสร้างให้ปัง สร้างความยิ่งใหญ่ รองรับไลฟ์สไตล์ทันสมัยครบครัน จะต้องร่วมพัฒนาเมืองให้เจริญเติบโตควบคู่กันไป เหมือนกับมหานครของโลก เช่น ย่านฟิฟท์ อเวนิว ที่มหานครนิวยอร์ก ย่านการค้าและแหล่งช็อปปิ้งระดับโลก ย่านโซโห ลอนดอน ฌ็องเซลิเซ ที่ปารีส กินซาที่ญี่ปุ่น เป็นต้น

“ศุภลักษณ์ อัมพุช” กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการยกระดับประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางทางด้านธุรกิจการค้า และการท่องเที่ยวที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนและของโลก ประกอบกับยุทธศาสตร์ในการปักหมุดย่านการค้าสำคัญ และวางเป้าหมายในการพัฒนาย่านการค้า ไม่ใช่เพียงพัฒนาโครงการศูนย์ การค้า สอดรับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวโดยภาพรวม เช่นเดียวกับเมืองที่เป็นย่านการค้าสำคัญในโลก ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากระบบรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมสำคัญภายในกรุงเทพฯ

ด้วยประสบการณ์บนธุรกิจค้าปลีกมากว่า 42 ปี จากการเริ่มต้นเดอะมอลล์ สาขาราชดำริ ซึ่งเป็นสาขาแรกและเป็นทำเลสุดยอดซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องการพัฒนาโครงการบนทำเลที่ดีที่สุด แต่อาจจะด้อยประสบการณ์ทำลงทุนในโครงการที่เล็กไปไม่สามารถสู้คู่แข่งได้ ต้องถอยกลับมาตั้งหลักเปิดสาขารามคำแหง เป็นทำเลชานเมืองแต่กลับประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วด้วยการนำความบันเทิงเข้ามาเช่น สถานที่เล่นไอซ์สเกต โรงภาพยนตร์ สตรีทฟู้ด เป็นต้น จนขยายสาขา 2-4 บนทำเลรามคำแหง เป็นการสร้างย่านการค้าแห่งใหม่ขึ้นมาในยุคนั้น

หลังจากนั้นมาได้ขยายสาขาไปยังสาขาท่าพระ สาขางามวงศ์วาน เป็นสาขาที่เปิดให้บริการในมุมเมืองต่างๆ และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี

ยิ่งไปกว่านั้นการลงทุนเปิดศูนย์ขนาดใหญ่ 2 แห่งพร้อมกันคือที่บางกะปิและบางแค พื้นที่รวมกันถึง 700,000 ตารางเมตร เป็นโครงการอภิมหาอาณาจักรศูนย์การค้าครบวงจร 2 มุมเมืองด้วยการใส่สิ่งใหม่ๆเข้าไป มีภูเขาไฟ ม่านน้ำตก สวนน้ำลอยฟ้า สวนสนุกและช็อปปิ้งครบครัน ทำให้เดอะมอลล์กรุ๊ปยกระดับไปอีกชั้น ผงาดมาเป็นผู้นำในวงการธุรกิจ

เมื่อสั่งสมประสบการณ์เต็มที่ได้กลับเข้าไปลงทุนในใจกลางเมือง รู้ว่าจะเดินหน้าสู้คู่แข่งได้อย่างไร เปิดโครงการศูนย์การค้าดิ เอ็มโพเรียม ศูนย์การค้าระดับโลกเป็นลักชัวรี มอลล์แห่งแรกของประเทศไทยจำหน่ายแบรนด์เนมอย่างหลุยส์ วิตตอง, ชาแนล, แอร์เมส ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นที่บรรดาซุปเปอร์แบรนด์เนมเหล่านี้ยังไม่รู้จักตลาดประเทศไทย ซึ่งภาษีนำเข้าลักชัวรีแบรนด์เนมสูงมาก โดยปกติคนไทยจะนิยมเดินทางไปช็อปปิ้งที่ฮ่องกง, สิงคโปร์และฝรั่งเศส แต่บังเอิญการเปิดศูนย์ในช่วงนั้นประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจนต้องไปกู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ค่าเงินบาทอ่อนค่าหนักจากอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 50 บาท/ดอลลาร์

ในห้วงเวลาดังกล่าวคนไทยประสบปัญหาวิกฤตกันมาก หลายๆธุรกิจถึงกับล้มละลายเพราะจ่ายหนี้ไม่ไหว สถา บันการเงินถูกสั่งปิดกิจการจำนวนมาก คนไทยที่ส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศต้องเรียกกลับบ้านเพราะส่งไม่ไหว แต่ดิ เอ็มโพเรียมจำเป็นต้องเปิดเพราะบรรดาร้านค้าตกแต่งเสร็จหมดแล้วจำเป็นต้องเปิดแต่วิกฤติกลับเป็นโอกาส เพราะคนไทยได้รับผลกระทบจากค่าเงินเลยเดินทางไปต่างประ เทศน้อยลงมาก ผสมโรงกับสินค้าแบรนด์เนมทั้ง หลายที่เก็บสต๊อกไว้ล่วง หน้านำมาจำหน่ายราคาเดิมจึงกลับมาขายดีสวนกระแสวิกฤติจนกลายเป็นการสร้างตำนานไฮโซของเมืองไทย

ขณะเดียวกันจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวอย่างหนักกลับพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จากเดิมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาปีละ 7 ล้านคน เพิ่มเป็นถึง 17 ล้านคน เพราะมาเที่ยวเมืองไทยมีราคาถูกมาก ส่งผลให้ยอดขายดิ เอ็มโพเรียมเติบโตสูงมากถึงปีละ 30% จนมองถึงการขยายการลงทุนออกไป

จนได้ข้อสรุปร่วมกับกลุ่มสยามพิวรรธน์พัฒนาโครงการสยามพารากอน ซึ่งเป็นศูนย์ขนาดใหญ่กว่า 500,000 ตารางเมตรที่สมบูรณ์แบบที่สุดเพียงสองวันแรกลูกค้าไหลเข้ามาใช้บริการกว่าหนึ่งล้านคน

สำหรับดิ เอ็มสเฟียร์ จิ๊กซอว์ล่าสุดมาเติมเต็มให้ดิ เอ็มดิส ทริคมีความสมบูรณ์จะตั้งเป้าเป็นศูนย์การค้าแห่งอนาคตที่ไม่เคยหลับใหล และจะเป็น “ความเร้าใจและชีพจรแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ” จะเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ แอนด์ฟิวเจอร์ รีเทล เป็นศูนย์รวมความบันเทิง พร้อมร้านอาหารและแหล่งแฮงเอาต์ บางร้านเปิดให้บริการถึง 24 ชั่วโมง

จะช่วยสร้างสีสันบรรยากาศขับเคลื่อนทำเลสุขุมวิทเป็นย่านการค้าระดับโลกต่อไป.

วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ