"เอาต์เลต มอลล์" เปิดแผนพลิกฟื้นธุรกิจ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"เอาต์เลต มอลล์" เปิดแผนพลิกฟื้นธุรกิจ

Date Time: 7 ต.ค. 2566 05:10 น.

Summary

  • เอาต์เลต มอลล์ ผู้บุกเบิกธุรกิจเอาต์เลตในประเทศไทยมากว่า 22 ปี จากการนำโมเดลธุรกิจที่ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ มาเปิดตลาดในประเทศไทยจนประสบความสำเร็จขยายธุรกิจตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยได้ถึง 8 สาขา

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

เอาต์เลต มอลล์ ผู้บุกเบิกธุรกิจเอาต์เลตในประเทศไทยมากว่า 22 ปี จากการนำโมเดลธุรกิจที่ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ มาเปิดตลาดในประเทศไทยจนประสบความสำเร็จขยายธุรกิจตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยได้ถึง 8 สาขา

ด้วยโมเดลธุรกิจที่เริ่มต้นมาตั้งแต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่า “เอาต์เลต” คืออะไร ทำให้คนท้องถิ่นทั่วไปมองว่าเป็นสินค้าเก่าราคาถูกมาเลขายในต่างจังหวัด ขณะที่นักท่องเที่ยวเป็นลูกค้าหลักมีความเข้าใจว่าเป็นสินค้าของแบรนด์แท้ๆ จำหน่ายราคาถูก อาจจะเป็นสินค้าผลิตเกินออเดอร์ สินค้านอกฤดูหรือ สินค้าตกรุ่น เพียงแต่ไม่มีบริการเหมือนร้านค้าปลีกทั่วไปซึ่งเป็นลูกค้าหลักสูงถึง 80%

ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โควิด ธุรกิจนี้จึงได้รับผลกระทบเต็มๆ นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่ผู้บริหารของเอาต์เลต มอลล์ได้พยายามฟื้นธุรกิจกลับคืนมาด้วยการปรับธุรกิจเดิมและการมองหาธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคตหรือ New S–Curve

นางรจนี บุญญารัชต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอาต์เลต มอลล์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัท เอาต์เลต มอลล์ จำกัด บริหารโครงการพรีเมี่ยมเอาต์เลต จำนวน 8 สาขาในเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ เอาต์เลต มอลล์ พัทยา, ชะอำ, เขาใหญ่, อยุธยา, กระบี่, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และอุดรธานี

สำหรับยอดขายก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 อยู่ที่ระดับสูงสุด 3,000 ล้านบาท จากนั้นได้รับผลกระทบจากโควิดที่นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักถูกจำกัดการเดินทาง พอหลังโควิดเริ่มฟื้นตัวยอดขาย ปี 2564 กลับมาจำนวน 1,600 ล้านบาท ปี 2565 เพิ่มเป็น 2,100 ล้านบาท และปี 2566 คาดว่าจะทำได้ 2,400 ล้านบาท

จากผลกระทบโควิด–19 เอาต์เลตได้เสริมตลาดคนท้องถิ่น รอการกลับมาของนักท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมงานแฟร์ลดราคา เพื่อซ่อมเป้ายอดขายให้คู่ค้า และเพื่อคนท้องถิ่นได้เข้าถึงสินค้าแบรนด์เนม ภายใต้ชื่อ “งานนี้มีโละ” พร้อมปรับกลยุทธ์การขาย จากการขายในห้องแอร์เป็นออกมาขายในพื้นที่อีเวนต์ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่พรีเมี่ยมเอาต์เลต สาขาอยุธยา ณ บริเวณลานจอดรถของทางศูนย์ และในครั้งแรกมีผู้คนเข้ามาร่วมงานกว่า 25,000 คน จึงถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

รวมถึง “งานโละสัญจร” เป็นรูปแบบการจัดพื้นที่ขายอีเวนต์ในจังหวัดเมืองรอง (Second Tier) นอกเหนือจากในพื้นที่ที่มีสาขาของเอาต์เลตตั้งอยู่ ขณะเดียวกันได้หันมาทำตลาด O2O (Online to Offline) ผสมผสานระหว่างข้อดีของการขายของบนของโลกออนไลน์ ผ่านแฟนเพจของเอาต์เลตทุกสาขา ซึ่งปัจจุบันมีฐานแฟนเพจกว่า 7 แสนคน และปิดการขายที่ศูนย์ เพื่อเพิ่มยอดขายให้มากยิ่งขึ้น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงและรอบด้าน

วิธีการทำการตลาดในแบบ O2O จะช่วยสร้างการรับรู้ และสร้างความต้องการผ่านการโพสต์และไลฟ์ สตรีม และยังคงความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ เพราะมีทั้งหน้าร้านที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าไปลองสินค้า และได้ประโยชน์กับการสร้างทราฟฟิกภายในศูนย์กับแบรนด์อื่นๆด้วย หรือในขณะเดียวกันยังสามารถเลือกซื้อสินค้าจากโลกออนไลน์แล้วมารับสินค้ากับสาขาใกล้บ้าน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้ทุกเวลา โดยมีบริการจัดส่งอีกด้วย

ขณะเดียวกันในพรีเมี่ยมเอาต์เลตได้ปรับกลยุทธ์ใหม่สร้างความหลากหลายในพื้นที่ศูนย์การค้าด้วยการทยอยเปิดร้าน Category Killer เป็นร้านขายสินค้าเฉพาะกลุ่ม มารองรับกับคู่ค้าที่ไม่พร้อมลงทุนร้านของตัวเอง ด้วยรูปแบบร้านค้าขนาดใหญ่ 500 ตร.ม. ขึ้นไป ประกอบด้วย Golf Challenge (ร้านรวมอุปกรณ์กีฬากอล์ฟ), Sport Stadium (ร้านรวมเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา), Kids Zone (ร้านรวมเสื้อผ้า ของใช้ ของเล่นเด็ก), Brabara (ร้านรวมแบรนด์ชุดชั้นใน ชุดนอน สำหรับสุภาพสตรี), Men’s Wear (ร้านรวมแบรนด์เสื้อผ้า Accessories สำหรับสุภาพบุรุษ), Luggage Store (ร้านรวมกระเป๋า และอุปกรณ์การเดินทาง), Jeans Station (ร้านรวมเสื้อผ้ายีนส์), Cucina (ร้านรวมอุปกรณ์เครื่องครัว และของแต่งบ้าน), Factory Brand Shoes (ร้านรวมรองเท้า กระเป๋า เครื่องหนัง)

ล่าสุด ได้จับมือกับบริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทย เปิดร้าน Specialty Store เพื่อลูกค้าเข้าถึงสินค้าทีมชาติไทย ผ่านสาขาของเอาต์เลต เริ่มแรก 3 สาขา ที่พัทยา, อยุธยาและเขาใหญ่ มุ่งสู่การเป็นฮับอย่างเต็มรูปแบบขยายฐานลูกค้าเดิมสู่เมืองท่องเที่ยวด้วยการนำสินค้าที่ชาติไทยและโปโล ไลฟ์ สไตล์ ที่ “วอริกซ์” มีความเชี่ยวชาญรองรับเทรนด์ตลาดสินค้ากีฬาและสินค้า–บริการสุขภาพ ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังได้ขยายธุรกิจเข้าสู่กรุงเทพฯ ด้วยการเปิดร้านอุปกรณ์กอล์ฟและร้านรวมเสื้อผ้า ของใช้ ของเล่นเด็ก ที่เซ็นทรัล วิลเลจ ซึ่งเป็นพรีเมี่ยม เอาต์เลตจับกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวเช่นกัน รวมถึงการเปิดร้าน Category Killer ออกไปเปิดช็อปขนาดเล็ก 300-500 ตร.ม. ตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งเป็นการลงเงินทุนไม่มากสามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องขอสินเชื่อธนาคาร

ซึ่งธุรกิจ New S–Curve ที่วางแผนไว้นี้ น่าจะสร้างรายได้ให้ “เอาต์เลต มอลล์” กลับไปสู่จุดสูงสุดที่ระดับ 3,000 ล้านบาทในอนาคตเร็วๆนี้.


วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “ตลาดนัดหัวเขียว” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ