จับตาร้านสะดวกซื้อ ศึก 3 เจ้าสัว ไทยเบฟ ขอสู้ เซเว่น-ซีเจ ส่ง "โดนใจ" ชิงเค้ก 4.28 แสนล้าน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตาร้านสะดวกซื้อ ศึก 3 เจ้าสัว ไทยเบฟ ขอสู้ เซเว่น-ซีเจ ส่ง "โดนใจ" ชิงเค้ก 4.28 แสนล้าน

Date Time: 6 ต.ค. 2566 13:17 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • เมื่อเจ้าสัวเจริญ แห่งอาณาจักรไทยเบฟเวอเรจ ขอสู้ศึกสมรภูมิร้านสะดวกซื้อ ท้าชน 7-eleven และ CJ เนรมิต “โดนใจ” สู่โชห่วยรูปแบบใหม่ 30,000 สาขา หวังชิงเค้กมูลค่ากว่า 4.28 แสนล้านบาท

Latest


ศึกเจ้าสัวร้านสะดวกซื้อ

“ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ” นับเป็นขนมที่หอมหวานของเหล่าบรรดามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศเลยก็ว่าได้ เพราะด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เน้นการจับจ่ายใช้สอยที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว จึงต่างหันมาพึ่งพาร้านสะดวกซื้อกันแทบทั้งสิ้น ทำให้ในปัจจุบันมีร้าน สะดวกซื้อหลากหลายแบรนด์ผุดขึ้นใหม่แทบจะทุกโลเคชัน รวมทั้งยังมีการขยายสาขาเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคกันเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่า หมดยุคกินรวบ! อีกต่อไป เพราะร้านสะดวกซื้อในไทยจะไม่ได้มีแค่แบรนด์สองแบรนด์เท่านั้น  

ซึ่งข้อมูลจากสำนักข่าว Bloomberg ได้มีการระบุว่า “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” หนึ่งในมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของไทย จากมูลค่าทรัพย์สิน 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 4.2 แสนล้านบาท กำลังมองหาโอกาสในการบุก “ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ” ที่มีเจ้าตลาดอย่าง 7-eleven ครองมาร์เก็ตแชร์เบอร์หนึ่ง โดยเจ้าของคือ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งอาณาจักร CP ที่ขึ้นแท่นอันดับ 1 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในไทยด้วยทรัพย์สิน 1.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ที่อันดับ 116 ของโลก 

รวมทั้งผู้เล่นที่อยู่ในตลาดก่อนหน้าอย่าง CJ แบรนด์ร้านสะดวกซื้อสัญชาติไทย ของ “เสถียร เสถียรธรรมะ” เจ้าพ่อคาราบาวแดง ที่กำลังรุกหนักอย่างน่าจับตา โดยมีการตั้งเป้าว่าในปี 2570 จะขยายสาขาซีเจให้ครบ 2,000 สาขา ทั้งนี้ยังประเมินว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทแตะ 40,000 ล้านบาท กำไรมากกว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันทำได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้า ขณะที่ปี 65 รายได้รวม 35,000 ล้านบาท กำไรอยู่ที่ 1,770 ล้านบาท ขณะเดียวกันภายในปี 2573 ซีเจ จะขยายครบ 3,000 สาขา พร้อมกับดันรายได้บริษัทฯทะลุ 100,000 ล้านบาท รวมทั้งร้านสะดวกซื้ออย่าง ถูกดีมีมาตรฐานที่ก็ถือเป็นโชห่วยสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ภายใต้แนวคิดกินแบ่ง ไม่กินรวบ และ Tops ของ "กลุ่มเซ็นทรัล" แห่งตระกูลจิราธิวัฒน์

โดยการเข้าสู่สมรภูมิในครั้งนี้ของเจ้าสัวแห่งไทยเบฟเวอเรจก็เพื่อ ขานรับกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการซื้อครั้งละมากๆ เป็นซื้อทีละน้อยแต่บ่อยขึ้น และในครั้งนี้มีแผนที่จะเปลี่ยนร้านค้าแบบดั้งเดิมอย่างร้านของชำ หรือ โชห่วย กว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ให้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อภายใต้โมเดล ‘ร้านโดนใจ’ ในเครือของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (บีเจซี) ภายในปี 2570

"โดนใจ" โชห่วยรูปแบบใหม่ ท้าชิงรุ่นพี่

ซึ่งก่อนหน้านี้ บีเจซี ได้เปิดตัวโมเดลธุรกิจ “ร้านโดนใจ” ในปี 2565 ที่ผ่านมา ด้วยการพัฒนาระบบ POS ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับร้านโชห่วยไทยให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี โดยได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง จากเจ้าของร้านโชห่วยในพื้นที่ต่างๆ และนั่นเองจึงทำให้ “ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ” กลายเป็นจุดหมายใหม่ของการลงทุนของเจ้าสัวแห่งอาณาจักรไทยเบฟเวอเรจ

ภายใต้แผนดังกล่าว บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จะเป็นแม่ทัพในการให้บริการด้านโลจิสติกส์ การตลาด และข้อมูล เพื่อเปลี่ยนโฉมร้านโชห่วยให้กลายเป็นโมเดลร้านสะดวกซื้อรูปแบบใหม่ โดยแลกกับการที่บริษัทฯจะเป็นผู้จัดหาสินค้าจากบริษัทต่างๆ ในเครือให้ อย่าง Big C และ Thai Beverage ตามปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ยังมี เจ้าพ่อระบบขนส่งมวลชนอย่าง “คีรี กาญจนพาสน์” ที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่คมนาคม และ "ตระกูลจิราธิวัฒน์" แห่งอาณาจักรค้าปลีก ก็แสวงหาโอกาสในการเข้ามาชิงสัดส่วนเค้กก้อนนี้ด้วยเช่นกัน 

แต่กระนั้นใครก็ตามที่ต้องการจะขยายธุรกิจ สู่ร้านสะดวกซื้อ ก็มักจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากราชาแห่งร้านสะดวกซื้อของไทยอย่าง CP ซึ่งเป็นเพชรเม็ดงามในตระกูลเจียรวนนท์ มีมูลค่าทรัพย์สิน 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 1 ล้านล้านบาท) มีร้าน 7-Eleven มากกว่า 14,000 แห่ง ซึ่งคิดเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของจำนวนร้านสะดวกซื้อทั้งหมดในประเทศไทย ตามข้อมูลจากบริษัทผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ CBRE Group Inc.

Bloomberg ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวของบรรดามหาเศรษฐีในไทย ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึง ความคาดหวังใหม่ในธุรกิจนี้ จากการที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศเดินหน้านโยบายแจกเงินคนละ 15,000 บาท ผ่านการอัดฉีดเงินประมาณ 560,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถดถอย รวมทั้งยังเป็นการหนุนภาคการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาสดใสอีกด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ร้านสะดวกซื้อได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มาจากการกระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมถนนในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่นๆ โดยให้บริการร้านค้าแบบครบวงจร ตั้งแต่สินค้าหลากหลายประเภท อาหารพร้อมรับประทาน ไปจนถึงสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน อาทิ การรับชำระค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า เรียกได้ว่าเป็น One Stop Service เลยก็ว่าได้

จากรายงานของ Euromonitor International ระบุว่า ตลาดร้านสะดวกซื้อจะขยายตัวอยู่ที่ 5.4% ในปีนี้เป็น 4.28 แสนล้านบาท หลังจากที่เพิ่มขึ้น 18% ในปี 2565 ซึ่งได้แรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด และคาดว่าการเติบโตต่อปีอาจจะขึ้นไปอยู่ที่ 5.5% จนถึงปี 2568 โดยรายได้ร้านสะดวกซื้อมากกว่าสองในสามจะมาจากอาหารและเครื่องดื่ม ตามการประมาณการของ บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

แม้ว่าเจ้าสัวเจริญจะประสบความสำเร็จในช่วงแรกในการขยายร้านโดนใจไปแล้วกว่า 1,400 แห่งในช่วงสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน รวมเป็นสาขาทั้งหมดประมาณ 2,600 แห่ง แต่การนำ Big C Retail เข้า IPO ที่คาดว่าจะดมทุนได้ 1 พันดอลลาร์ กลับถูกเลื่อนออกไป

ทุนใหญ่ไทย หนุนปั้นโชห่วย

ดังนั้นหากมองในแวดวงร้านสะดวกซื้อจะถือได้ว่ามีบรรดาเจ้าสัว-เจ้าพ่อต่างหมายปอง และกระโดดเข้าร่วมวงเพื่อชิงสัดส่วนเค้กก้อนนี้กันไม่น้อย และเรามักจะเห็นการเปลี่ยนแปลง การเกิดขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเซ็นทรัล ที่ได้ประกาศยกเลิก FamilyMart ทั้งหมด และเปลี่ยนไปใช้ Tops Daily รวมทั้ง คีรี กาญจนพาสน์ เจ้าพ่อด้านระบบขนส่งมวลชน ที่ได้ใช้ประโยชน์จาก BTS เปิดตัวร้านสะดวกซื้อ Turtle 

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแบรนด์จะเป็นเช่นไร จะมีการเกิดขึ้นใหม่ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องเผชิญกับคู่แข่งรายสำคัญอย่าง CP ที่ถือเป็นปลาใหญ่ในน่านน้ำอยู่ดี และล่าสุดจะมีการลงทุนมากถึง 13,000 ล้านบาทในแผนการขยายธุรกิจในปี 2566 รวมถึงการเปิดร้าน 7-eleven เพิ่มอีกอย่างน้อย 700 แห่ง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ