โรงพยาบาลพระรามเก้า คาดรายได้อีก 5 ปีข้างหน้าจะแตะ 10,000 ล้าน พร้อมรับมือผู้ป่วยโรคซับซ้อน เตรียมดึง AI ช่วยเสริมการดูแลคนไข้
นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ภาพรวมช่วง 6 เดือนแรกของปี 66 โรงพยาบาลมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 9% หรือ คิดเป็น 2,900 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าทั้งปีจะสามารถมีรายได้ที่ 4,000 ล้านบาท โดยโรงพยาบาลได้ยังคงเดินหน้าที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี เข้ามาตอบสนองการรักษาคนไข้อย่างต่อเนื่อง
รวมถึงยังวางเป้าหมายที่จะสร้างรายได้ขึ้นมาเป็น 10,000 ล้านบาทภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีนับจากนี้ เนื่องจากในอนาคตแนวโน้มผู้ป่วยที่เป็นโรคซับซ้อนจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งค่ารักษาต่อเคสจะเติบโตขึ้น รวมถึงโรงพยาบาลจะมีการขยายพื้นที่ให้บริการและเพิ่มในส่วนของไอซียูมากกว่าเดิม ทำให้รายได้จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน
นายแพทย์เสถียร กล่าวอีกว่า เราได้มุ่งเน้นการมุ่งขยายฐานลูกค้าต่างชาติให้มากขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 14-15% โดยจะเห็นได้ว่าหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยมากขึ้น แม้ว่ากลุ่มลูกค้าหลักอย่างตลาดจีน จะยังไม่เติบโตตามเป้าหมายมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศดังกล่าวชะลอการเติบโต จึงต้องขยายลูกค้าไปยังกลุ่มอาหรับให้มากขึ้น จะช่วยผลักดันให้ลูกค้าต่างชาติขยับสัดส่วนขึ้นมาเป็น 20%
อย่างไรก็ตามเรามองว่าการมีรัฐบาลใหม่เข้ามา จะทำให้ภาคเอกชนมั่นใจมากขึ้น และหากรัฐบาลได้มีการผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็ยิ่งจะเป็นผลดีกับธุรกิจโรงพยาบาลที่มีกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยโรงพยาบาลฯ ก็จะทำการตลาดอย่างเข้มข้นในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีและอาหรับ โดยเฉพาะเมียนมา และกัมพูชา ที่ทำตลาดอยู่แล้วก็จะเจาะลึกให้มากขึ้น
ด้านนายแพทย์วิทยา วันเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ล่าสุดเราได้จับมือร่วมกับ 7 โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่, กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง, โรงพยาบาลนวเวช, BBH Hospital จับมือ บริษัท เนเวอร์ คลาวด์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ จากเกาหลีใต้
โดยมีการร่วมจัด สัมมนาเทคโนโลยีอัจฉริยะด้านสุขภาพที่ล้ำหน้าสู่อนาคต และความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในทางการแพทย์ ระหว่างไทย-เกาหลี (DHTC BANGKOK 2023 : Digital Healthcare Transformation Conference) ครั้งแรกกับการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์
ขณะเดียวกันได้ร่วมกับเนเวอร์ คลาวด์ ประเทศเกาหลี ทดลองเปิดให้บริการ Talemedicine และแพลตฟอร์ม Dr.Call ผ่านแอปพลิเคชัน Line ช่วยตอบคำถามอาการผู้ป่วยเบื้องต้นก่อนส่งต่อให้แพทย์ พยาบาล และเข้ามารับการรักษาซึ่งช่วยรองรับจำนวนผู้ป่วยได้มากขึ้น เข้าถึงคนไข้ได้ทั่วประเทศ
อีกทั้งช่วยประหยัดต้นทุนบุคลากร ที่ทำให้ที่คัดกรองคนไข้ขั้นแรก อีกทั้งประหยัดเวลาและวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้เร็ว และหลังจากนี้โรงพยาบาลสนใจจะนำเทคโนโลยี AI มาใช้ทางการแพทย์ด้านสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ และระบบทางเดินหายใจของเด็ก เป็นต้น