พิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทย คาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมรถเช่าในปี 2564 จะอยู่ที่ 5,434 ล้านบาท ส่วนปี 2565 อยู่ที่ 5,393 ล้านบาท ซึ่งมองว่าปีที่ผ่านมาตลาดหดตัวลงเล็กน้อย
ส่วนในปีนี้มองว่าตลาดเหมือนจะดีขึ้น แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์เนื่องจากตลาดไม่ค่อยเติบโตนัก เพราะด้วยปัจจัยแรกคือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ได้มีการปรับเปลี่ยนจากการเช่ารถกลับไปเป็นรถร่วมแทน แต่ทั้งนี้ก็มีผู้เช่ารายใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงมองว่าโดยมองว่าภาพรวมจะยังคงเติบโตได้ประมาณ 5-10%
ในขณะที่ครึ่งปีที่ผ่านมาพบว่าค่าเช่าของ KCAR ลดลงประมาณ 3% เนื่องจากลูกค้าต่ออายุสัญญา และรถที่ครบสัญญากลับมา รวมทั้งในแต่ละปีจะมีรถที่ครบอายุสัญญาประมาณ 1,200-1,500 คัน โดยสองปีที่ผ่านมามีจำนวนน้อยลงเนื่องจากลูกค้าต่ออายุสัญญาเป็นจำนวนมาก แต่ในปีนี้พบว่าเริ่มมีคืนรถเข้ามาเยอะขึ้น และปัจจุบันจำนวนรถที่ปล่อยเช่าของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 9,000 คัน มีจำนวนลูกค้ากว่า 1,200 บริษัท มีศูนย์บริการ 1,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งยังมีมูลค่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สูงสุดในอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ในส่วนของปีนี้ตั้งเป้าปล่อยรถเช่ากว่า 1,500 คัน โดยจะเป็นรถ EV ประมาณ 100 คัน จากครึ่งปีแรกปล่อยไปแล้วกว่า 500-600 คัน และรอส่งมอบในครึ่งปีหลังอีก 1,000 คัน
โดยที่รถเช่าจะไม่เหมือนการขาย ที่เมื่อขายออกไปจะรับรู้รายได้ทันที แต่รถเช่าจะมีการรอส่งมอบในช่วงปลายปีจำนวนมาก ทำให้การรับรู้จะแตกต่างออกไปจากธุรกิจอื่น
“ในส่วนของการปล่อยเช่ารถ EV เราจะค่อยๆ ดำเนินการไป เนื่องจากนับเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ ซึ่งเรื่องของความเสถียรจึงไม่แน่ใจนัก บวกกับราคาตลาดรถมือสอง และการให้บริการในแต่ละพื้นที่ที่จะต้องให้ความสำคัญ จึงต้องเป็นเหมือนการทำลองทำ เพื่อไม่ให้ตกขบวนอย่างน้อยเราจะรู้พฤติกรรมลูกค้า อุปสรรค และในอนาคตเราจะสามารถควบคุมได้”
ทั้งนี้ ธุรกิจปล่อยเช่ารถของบริษัทในระยะยาวคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 2-3% ต่อปี ซึ่งจะมาจากฐานลูกค้า SMEs ที่จะหันมาใช้บริการเช่ารถมากขึ้น ขณะเดียวกันตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมาตลาดรถเช่าระยะยาวเติบโตขึ้นทุกปี ยกเว้นช่วงโควิด ซึ่งปัจจุบันตลาดหดตัวเล็กน้อย แต่มีลูกค้าใหม่ๆ ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 90% ของตลาดทั้งหมดถูกครอบครองด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่
ขณะที่สัญญาเช่าจะเป็น 5 ปี จากเดิมส่วนใหญ่มีอายุ 3 ปี ทั้งนี้ทิศทางของ SMEs จะถูกเปลี่ยนจากซื้อเป็นเช่ามากขึ้น และไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยไม่มีการซื้อรถแล้วในหลายๆ หน่วยงาน เนื่องจากเปลี่ยนเป็นการเช่าโดยส่วนใหญ่ ทำให้ตลาดยังคงเติบโตไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างไร แต่ก็มีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันด้วยตลาดไม่มีกำแพงกั้นในการเข้า แต่อุปสรรคมักจะมีด้วยเช่น โดยจะเป็นในเรื่องขององค์ความรู้ และอุปสรรคในการบริหารจัดการ ซึ่งทุกอย่างจะกระทบกับต้นทุนหมด
รวมทั้งในช่วงเปิดประเทศนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา ซึ่งเขามองว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้โฟกัสที่นักท่องเที่ยวแต่จะเป็นกลุ่มบริษัทเอกชน ใช้เพื่อเป็นรถยนต์ทดแทน หรือใช้เพื่อต้อนรับแขก ฯลฯ
ทั้งนี้การแบ่งกลุ่มลูกค้าของ KCAR แบ่งออกเป็น รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 15% อาทิ ธ.ออมสิน, ธอส. อีกทั้งฝั่งบริษัทเอกชนจะมีสัดส่วน 85% โดยที่ 50% จะเป็นบริษัทชั้นนำ อาทิ ธ.กสิกรไทย, SCB, SCG
รวมทั้งในส่วนของสัดส่วนรายได้ 59% จะมาจากรายได้ค่าเช่า และอีกกว่า 39% จะมาจากรายได้ขายรถใช้แล้ว และอื่นๆ 2% โดย 98% เป็นเช่าระยะยาว ที่เหลือประมาณ 2% เป็นลูกค้ารายย่อยที่เช่ารถยนต์เป็นรายวัน
และเมื่อย้อนกลับมาดูในส่วนของประเภทธุรกิจให้เช่ารถยนต์ของ KCAR จะแบ่งออกเป็น เช่าระยะสั้น ที่ส่วนใหญ่จะเช่าเพื่อการท่องเที่ยว, เช่าดำเนินงาน โดยเป็น Outsource จัดการด้านรถยนต์ให้องค์กร และเช่าการเงิน/เช่าเงินทุน ที่คล้ายกับการเช่าซื้อ แต่มีสิทธิเลือกซื้อกลับ
ขณะที่ภาพรวมของ KCAR ที่ผ่านมามูลค่าตลาดของ KCAR มีหุ้นที่ไม่เคยต่ำกว่า IPO โดยปันผลตอบแทนอยู่ประมาณ 5% ทุกปี ทั้งนี้ยังเป็นบริษัทที่ไม่เคยขาดทุนตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยมีกำไรสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี
ส่วนทางด้าน TOYOTA SURE แบรนด์รถมือสองระดับพรีเมียมของไทย มียอดขายอันดับ 1 โดยที่มีการขายครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และมีรถหลากหลายรุ่น หลายประเภท โดยที่อายุรถจะอยู่ที่ 0-12 ปี จากในอดีตอยู่ที่ 5-6 ปี รวมทั้งมีสต๊อก 500-1,000 คัน โดยที่ Supply 60-70% จะมาจาก KCAR
สำหรับผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2566 รายได้รวมอยู่ที่ 1,153 ล้านบาท โต 0.3% ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.6% โดยผลพวงมาจากใกล้ครบอายุสัญญาเช่ารถมากขึ้น
ทั้งนี้ในตลาดมีผู้เล่นรายใหญ่ประมาณ 20 ราย ขณะที่ KCAR ได้วางงบลงทุนปี 2566 ไว้ที่ราว 1,200-1,500 ล้านบาท โดยจะเป็นการซื้อรถยนต์ใหม่ ซึ่งครึ่งปีแรกใช้ไปแล้ว 500-600 ล้านบาท ตอกย้ำการเป็นผู้นำที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดราว 5-7%
“ขณะเดียวกันหากมองถึงภาพรวมของธุรกิจปล่อยเช่ารถยนต์ ก็จะพบว่าต้นทุนที่มากที่สุดคือ “ค่าเสื่อม” ซึ่งสำหรับรถ EV เรียกได้ว่ามีการดำเนินการในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งเรา กำลังจะเริ่มลองขายรถมือสองเป็นครั้งแรกเร็วๆ นี้ โดยจะเป็นอายุสัญญา 1 ปี ทั้งนี้โดยส่วนตัวคาดว่าราคาขายน่าจะอยู่ที่ประมาณ 80% ของราคารถมือหนึ่ง”
ส่วนทางด้านภาพรวมของอุตสาหกรรมรถมือสองเขามองว่าไม่ค่อยดีเท่าไรนัก โดยรายใหญ่มองว่ายังคงทรงตัว หดตัวเล็กน้อย แต่หากเป็นรายเล็กมองว่าจะหดตัว ด้วยปัจจัยดังนี้ คือ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี อุปทานมากขึ้นตามจำนวนรถถูกยึด ประกอบกับเจอรถที่มีเซกเมนต์สูงขึ้น อย่างการเข้ามาของรถ EV โดยภาพรวมของรถมือสองมักจะแปรผันกับรถใหม่
ทั้งนี้ราคาประมูลรถมือสองบางรุ่นในปีที่ผ่านมาลดลงจาก 3.3-3.4 แสนบาท เหลือเพียง 2.7 แสนบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% โดยเฉลี่ย เนื่องจากซัพพลายที่เป็นในส่วนของปริมาณรถที่ถูกยึดเริ่มเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปลายปีผ่านมา และจะเป็นไปอีกนานไหมเขามองว่า อยู่ที่สภาวะเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี KCAR ได้มีการตั้งเป้ารายได้จากการขายรถมือสองในปี 2567 ไว้ไม่ต่ำกว่า 20% ส่วนในปีนี้คาดว่าเติบโตได้มากกว่า 10% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยสู้ดีนัก รวมทั้งไฟแนนซ์ระมัดระวังเรื่องการปล่อยสินเชื่อใหม่
ขณะที่กลยุทธ์ทางการตลาดมองว่าจะเป็นในส่วนของบริการที่ดีกว่า และแตกต่าง รวมทั้งการยึดมั่นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การจับมือกับพันธมิตร และมีอัตราค่าเช่าที่เหมาะสม พร้อมทั้งปรับตัวตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้น
ส่วนความได้เปรียบทางการแข่งขันของ KCAR อาทิ จำนวนฐานลูกค้า ประสบการณ์ ทีมงาน เครือข่ายบริหาร พันธมิตรทางธุรกิจ และความมั่นคงทางสถานะการเงิน..