“อินโนบิก” ชูไทยศูนย์กลางสุขภาพ ยกระดับชีวิตคนเพิ่มความมั่นคงสาธาณสุข

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“อินโนบิก” ชูไทยศูนย์กลางสุขภาพ ยกระดับชีวิตคนเพิ่มความมั่นคงสาธาณสุข

Date Time: 10 ส.ค. 2566 06:40 น.

Summary

  • กลุ่ม ปตท.ชู “อินโนบิก” ขับเคลื่อนธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ ต่อยอดนวัตกรรมด้านยา อาหาร และอุปกรณ์การแพทย์ หวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้แก่ประเทศ

Latest

บริการ SMS ยังได้รับความนิยม โดยเฉพาะการส่ง OTP มาแรง

กลุ่ม ปตท.ชู “อินโนบิก” ขับเคลื่อนธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ ต่อยอดนวัตกรรมด้านยา อาหาร และอุปกรณ์การแพทย์ หวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้แก่ประเทศ

นายณัฐ อธิวิทวัส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด บริษัทในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จุดกำเนิดของอินโนบิกมาจากวิสัยทัศน์ของนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยได้มีการปรับกลยุทธ์องค์กรภายใต้คอนเซปต์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต”

ประกอบกับกลุ่ม ปตท.ต้องการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต หรือ New S-Curve เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม ทำให้ ปตท.ตัดสินใจขยายฐานธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ “Life Science” โดยจัดตั้งบริษัทอินโนบิกขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตยา อาหารเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ รวมถึงระบบการวินิจฉัยโรค ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและสุขภาพ และเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรม New S-curve สำคัญที่รัฐบาลส่งเสริม และยังต่อยอดครอบคลุมไปยัง New S-curve อื่นๆ เช่น การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น

โดยมอบหมายให้อินโนบิกเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนส่งเสริมสาธารณสุขคนไทยให้มีความมั่นคง และทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ตามเป้าหมาย

ลงทุนเพิ่มมูลค่าโชว์กำไรได้ใน 2 ปี

นายณัฐ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานของอินโนบิก จะเน้นการเข้าไปถือหุ้นร่วมทุนในบริษัทที่มีโอกาสสร้างรายได้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น และการต่อยอดการวิจัยของคนไทยพัฒนาให้เป็นมาตรฐานในระดับโลก เพื่อสนับสนุนงานวิจัยของคนไทย

การลงทุนสร้างโรงงานเองจะต้องใช้เวลานาน แต่หากตัดสินใจไปซื้อหุ้นในกิจการตามแผนงานการลงทุนแล้วจะใช้เวลาไม่นานในการสร้างรายได้ให้บริษัท ขณะที่เม็ดเงินการลงทุน อินโนบิกจะเสนอแผนการลงทุนให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท.พิจารณาอนุมัติก่อน และหากเห็นชอบ ก็สามารถเดินหน้าและของบประมาณการลงทุนได้

“วิกฤติโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้การดำเนินธุรกิจวิทยาศาสตร์ เพื่อสุขภาพเติบโตอย่างรวดเร็ว เพียง 2 ปี ส่งผลให้อินโนบิกมีกำไรจากการประกอบกิจการได้”

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจของอินโนบิก ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจยา ซึ่งเน้นการลงทุนในบริษัทที่ดำเนินการอยู่แล้ว และมีรายได้ เช่น การไปลงทุนในบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล (Lotus Phamaceutical) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 39% ด้วยเงินลงทุนราว 12,000 ล้านบาท โดยการตัดสินใจลงทุนใน Lotus Phamaceutical เนื่องจากเป็นบริษัทผู้ผลิตยาสามัญที่มีนวัตกรรมกว่า 250 รายการ โดยเฉพาะกลุ่มยารักษาโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs เช่น มะเร็ง หัวใจ และมีฐานตลาดในสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและเอเชีย กว่า 52 ประเทศ ปัจจุบันมีโรงงาน 3 แห่ง อยู่ในเกาหลีใต้และไต้หวัน

โมเลกุล “มณีแดง” เตรียมทดลองในคน

ส่วนเป้าหมายต่อไปคือการมองหาโอกาสและขยายตลาดสู่อาเซียน หากสำเร็จคาดว่าจะมีการตั้งโรงงานในไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อินโนบิก ยังได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท Adalvo ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจซื้อสิทธิบัตรยาอีกด้วย โดยกลุ่มธุรกิจยา ถือว่าทำรายได้ค่อนข้างดี ทำให้ปีที่ผ่านมา อินโนบิกมีกำไรกว่า 650 ล้านบาท

นอกจากนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ปตท.-อินโนบิก ยังได้จับมือกับคณะแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนางานวิจัยโมเลกุลมณีแดง หรือ RED-GEMs (REjuvenating DNA by Genomic Stability Molecules) ซึ่งยีนที่มีหน้าที่เป็นกรรไกรเพื่อสร้างรอยแยก DNA

โดยเซลล์ที่ได้รับโมเลกุลมณีแดงจะมี DNA ที่แข็งแรงขึ้น เปลี่ยนเซลล์ที่เสื่อมลงกลับมาดีขึ้น เป็นการต่อยอดในการฟื้นฟูและป้องกันที่มีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านพันธุศาสตร์ โดยได้ ทดลองในหนู ลิงแสมแล้ว และพร้อมจะทดสอบในคน ขณะเดียวกันจะต้องเตรียมความพร้อมในกระบวนการผลิตโมเลกุลมณีแดงสู่สังคมภายในปีหน้า หรือปีถัดไป ซึ่งขึ้นอยู่กับผลทดสอบ

นอกจากนั้น อินโนบิกยังเตรียมที่จะนำผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย มาพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสนับสนุนนักวิจัยไทย รวมถึงพัฒนาสมุนไพรไทยสู่ระดับสากลด้วย เพื่อสนับสนุนยุทธ ศาสตร์ของประเทศที่ต้องการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจรและพัฒนาอุตสาหกรรมความงามและดูแลสุขภาพที่ดี (Wellness)

ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี

ถัดมาเป็นธุรกิจที่สองคือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) ซึ่งต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีกลุ่ม ปตท. ใช้เม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีนผลิตผ้า Melt Blown รวมถึงการผลิตยางสังเคราะห์ เพื่อเป็นวัตถุดิบทำถุงมือไนไตร มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อตอบสนองความต้องการในการป้องกัน และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมถึงการผลักดันเทคโนโลยีในประเทศให้ออกสู่ต่างประเทศ

เริ่มจากการเชื่อมโยงกับวัตถุดิบที่เป็นผล พลอยได้จากการทำปิโตรเคมี และพัฒนาต่อยอดมาเป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันเชื้อโรค ตลอดจนมีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและระบบการตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้โรงพยาบาล ปัจจุบันยังพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ หากสามารถผลิตในประเทศได้ เชื่อว่าจะช่วยลดการนำเข้าได้

“อินโนบิกจะร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อผลิตอุปกรณ์การแพทย์ ตอบสนองความต้องการในประเทศ เพื่อให้คนไทยได้ใช้อุปกรณ์การแพทย์ที่มีมาตรฐานระดับโลก ขณะเดียวกันต้องมองโอกาสการส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย เพราะอุปกรณ์การแพทย์นับเป็นส่วนหนึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพในอนาคต”

อาหารสุขภาพอาหารอนาคต

สำหรับธุรกิจที่ 3 ธุรกิจสุดท้ายคือ ธุรกิจโภชนาการเพื่อสุขภาพ (Nutrition) ซึ่งมุ่งสนับสนุนวิถีการมีสุขภาพที่ดีขึ้น ด้วยผลิตภัณฑ์โภชนาการที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศ เพื่อต่อยอดสู่การเป็นผู้นำทางด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพ และโภชนเภสัชอย่างครบวงจร ส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนทั่วไป ผู้ป่วย และผู้สูงอายุในสังคมไทย

“รูปแบบอาหารที่จะออกมาในอนาคต จะอยู่ในรูปเชิงป้องกันโรค เพราะถ้ามนุษย์มีดีเอ็นเอที่ดี ร่างกายดี กินอาหารดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะป้องกันโรคได้ โดยเฉพาะสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เรื่องโภชนาการเป็นสิ่งจำเป็นในการดูแลตัวเอง” ซึ่งปัจจุบันอินโนบิกมีหลากหลายรายการอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เน้นให้เหมาะกับบุคคลแต่ละกลุ่ม ตามอายุ เพศ หรือความต้องการด้านโภชนาการ รวมทั้งเพื่อป้องกันโรคและโภชนาการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการดูแลทางด้านโภชนาการ และในอนาคตจะพัฒนาสูตรสำหรับผู้ป่วยทั่วไปและสูตรสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรคต่อไป” นายณัฐกล่าว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ