e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ สู่เป้าหมายลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ล้านเครื่อง คาร์บอนไดออกไซด์ 2.5 หมื่นตัน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ สู่เป้าหมายลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ล้านเครื่อง คาร์บอนไดออกไซด์ 2.5 หมื่นตัน

Date Time: 20 มิ.ย. 2566 17:52 น.

Video

เปิดภารกิจ 3 แบงก์ไทย ใช้ Green Finance ช่วยลูกค้าปรับตัวฝ่า ระเบียบโลกใหม่ | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ‘e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ’ โครงการเปิดจุดรับ e-Waste หรือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเปลี่ยนภัยร้ายของสังคมเทคโนโลยีให้กลายเป็นศูนย์ ด้วยเป้าหมายการตั้งรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ล้านเครื่อง ที่คาดว่าจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 25,000 ตันคาร์บอน

Latest


ยิ่งเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากเท่าไร? ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเท่านั้น ประโยคนี้ดูเหมือนจะสะท้อนความจริงบางอย่างที่เห็นได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาระบบการสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ล้ำสมัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเหตุผลนี้เองได้กระตุ้นให้เกิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งปริมาณมหาศาล และดูเหมือนจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ล้าสมัย เสื่อมสภาพ หรือหมดยุคเหล่านี้ เราเรียกกันว่า ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ’ หรือ Electronic Waste (E-Waste) นั่นเอง 

ปัจจุบันมี E-Waste เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลจากการเติบโตของเทคโนโลยี ทั้งนี้รายงานของ Global E-waste Monitor (GEM) พบว่าที่ผ่านมาทั่วโลกมีปริมาณ "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ประมาณ 53.6 – 54 ล้านตันต่อปี โดยในภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนมากที่สุดอยู่ที่ 24.9 ล้านตัน รองลงมาคืออเมริกาและยุโรป เป็นจำนวน 13.1 และ 12 ล้านตัน ตามลำดับ ในจำนวนนี้มีประมาณ 18 % เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภัยมืดยุคดิจิทัล 

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก GWI และ The Roundup ได้คาดการณ์ถึงปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2573 ว่าจะเพิ่มสูงถึง 74 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีโทรศัพท์มือถือกว่า 5.3 พันล้านเครื่องจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

จากคำกล่าวข้างต้นถือเป็นอีกหนึ่งปมปัญหาของกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ที่น่ากังวลไม่แพ้กัน จึงได้ผลักดันให้หลากหลายองค์กร รวมถึงภาคธุรกิจ เดินหน้าโครงการเพื่อจัดการกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้ประสิทธิภาพหนึ่งในนั้นคือ ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ได้กำหนดเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero e-Waste to Landfill) ภายในปี 2573 ผ่านการเปิดตัวโครงการ ‘e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ’ 

โดยการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถนำสมาร์ทโฟนเครื่องเก่า อุปกรณ์เสริม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่เลิกใช้งาน นำมาทิ้งที่กล่องจุดรับขยะ e-Waste 

ด้าน นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจเร่งสร้าง ทรู คอร์ป สู่การเป็น Telecom-Tech Company อย่างเต็มรูปแบบ คือ การบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทั้งแบรนด์ทรูและดีแทคต่างเป็นช่องทางจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและดีไวซ์รวมมากกว่าล้านเครื่องต่อปี บริษัทฯ จึงตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีแบบครบวงจรและเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อร่วมลดปริมาณขยะฝังกลบให้เป็นศูนย์ 

โครงการ e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ เป็นผลจากการนำจุดแข็งของเราสององค์กรมาสานต่อและยกระดับให้เกิดการจัดการ e-Waste ที่ขยายจุดรับทิ้งขยะให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีการจัดการขนส่งขยะไปสู่ระบบการรีไซเคิลแบบ 100% มั่นใจว่าจะไม่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับเข้าสู่ระบบ

ทั้งนี้ หากในประเทศไทยมีการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือจะช่วยสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรนั้นพบว่า โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 12.6 กิโลกรัม โทรศัพท์มือถือ 1 ล้านเครื่อง จะเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์บนถนน 1,368 คัน ภายในระยะเวลา 1 ปี ขณะเดียวกันยังเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้า 370,000 ครัวเรือนภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งถือเป็นสเกล Butterfly Effect 

ส่วนภาพรวมของโลกโทรศัพท์มือถือ 4.6 พันล้านเครื่อง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าการลดใช้รถยนต์ 6 ล้านคัน

โดยประชาชนสามารถนำสมาร์ทโฟนเก่า โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่เลิกใช้งาน มาทิ้งได้ที่กล่องจุดรับขยะ e-Waste ทั้งที่ ทรูช้อป ทรูสเฟียร์ และศูนย์บริการดีแทค รวม 154 สาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการตั้งจุดรับขยะ e-Waste กับพันธมิตรเจ้าอื่นๆ เช่น เทสโก้โลตัส มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มี True lab 9 แห่ง รวมทั้งได้มีการผนึกพันธมิตรชั้นนำจากหลากหลายกลุ่ม อาทิ ออลล์ นาว โลจิสติกส์, โทเทิล เอนไวโรเมนทอล โซลูชั่นส์ในการขนส่งและรีไซเคิล รวมถึง ทรูคอฟฟี่, PAUL, เต่าบิน, Sukishi Korea Charcoal Grill, NARS, Ultima ll และเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และจะขยายโครงการไปยังโรงเรียน, บ้าน, วัด เพื่อส่งเสริมการทิ้งและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี

ด้าน ดร.ปิยาภรณ์ ภาสกานนท์ หัวหน้าสายงานด้านการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “โครงการ “e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ” ที่เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนแห่งวันสิ่งแวดล้อมโลกนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) และการเป็นองค์กรที่จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero e-Waste to Landfill) ภายในปี 2573 รวมถึงเป้าหมายที่ 12 ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ SDGs ในการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 

เนื่องจากในประเทศไทย มีจำนวนโทรศัพท์มือถือจำนวน 16.7 ล้านเครื่อง และสมาร์ทโฟน 5G จำนวน 5.7 ล้านเครื่อง ที่จัดส่งในปี 2565 เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปี 2564 ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโทรศัพท์มือถือสูงถึง 25,050 ตัน แต่มีเพียง 17 ตัน (1%) เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล

#ไม่ย่อยสลายและสะสมในสิ่งแวดล้อม ในดิน อากาศ น้ำ และสิ่งมีชีวิต

ทั้งนี้ หากใช้วิธีการฝังกลบขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในองค์ประกอบของขยะเหล่านั้นแบ่งแยกออกเป็นวัสดุที่แตกต่างกัน อาทิ พลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลาย 450 ปี ขยะที่โลหะและอะลูมิเนียมใช้เวลา 80-100 ปี ส่วนแก้ว กระจก ไม่สามารถย่อยสลายได้ ทั้งนี้ ขยะเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดขยะพิษ ที่ก่อให้เกิดมลพิษ และโลหะหนักปนเปื้อนได้สูงมาก 

สำหรับกระบวนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น บริษัทได้ร่วมมือกับ TES ผู้นำด้านรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานสากล สำหรับเป้าหมายในการดำเนินโครงการปี 2566 ตั้งเป้าการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ล้านเครื่อง คาดว่าจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 25,000 ตันคาร์บอน และคาดว่าจะช่วยลดคาร์บอนฟุตปริ้นของบริษัทได้อีกด้วย 

ดังนั้นในโครงการ e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านกระบวนการจากโครงการนี้จะเป็นการรีไซเคิล 100% โดยที่ไม่นำกลับเข้ามาสู่ระบบอีก..


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์