ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าคึกคัก EA ขยายโรงงานแบตเตอรี่เพิ่มกำลังผลิตเป็น 4GW พร้อมทยอยส่งมอบรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า กระบะไฟฟ้า และรถขยะไฟฟ้า
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 บริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้รวมราว 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 27,546 ล้านบาท ซึ่งรายได้กว่า 50% หรือราว 20,000 ล้านบาท จะมาจากธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์
ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจอื่น อาทิ ธุรกิจไบโอดีเซล ธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ เป็นต้น โดยประเมินว่า ปีนี้จะมีการทยอยส่งมอบยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์กว่า 4,000 คัน ทั้งรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า กระบะไฟฟ้า รวมไปถึงรถขยะไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ สอดคล้องกับความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องของการลดคาร์บอนมากขึ้น จึงเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
ขณะที่โรงประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในส่วนของโรงงาน AAB ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่การผลิตของโรงงานประมาณ 55,000 ตารางเมตร มีกำลังการผลิตที่ 3,000 คันต่อปี (1 กะ) หากผลิตเต็มกำลังการผลิตจะประกอบรถไฟฟ้าได้ 9,000 คัน ยังสามารถรองรับการผลิตได้อีกมาก และปัจจุบันมีการผลิตอยู่ที่ 3,600 คันต่อปี โดยไตรมาส 1/66 บริษัทฯ คาดว่าจะมีการส่งมอบรถบัสไฟฟ้าได้กว่า 500 คัน
สำหรับหัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ หรือ EV on Train อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ EA ร่วมกับ CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน ได้รับโอกาสจากกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมพัฒนาด้วยการนำชุดเครื่องยนต์ดีเซลเดิม เปลี่ยนเป็นระบบแบตเตอรี่ ซึ่งสามารถเพิ่มตู้แบตเตอรี่แยก หรือ Power Car
โดยผลการทดสอบระบบสับเปลี่ยนขบวน (Shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สามารถเพิ่มระยะทางการวิ่งรวมแบตเตอรี่ขนาด 4.1 MWh วิ่งได้ระยะกว่า 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จ พร้อมมีการพัฒนาสถานีชาร์จขนาดใหญ่แห่งแรกในโลก เพื่อเป็นต้นแบบขยายสถานีชาร์จตามแนวเส้นทางรถไฟต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อมุ่งสู่การพัฒนารถไฟอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยจะแบ่งเป็นการใช้สำหรับการขยายโรงงานแบตเตอรี่ 6,000 ล้านบาท จากปัจจุบัน 1 GW เป็น 4 GW รวมทั้งจะใช้สำหรับการลงทุนเปลี่ยนแผงโซลาร์ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้ดีขึ้น โดยเงินลงทุนส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท