ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง หากเราใช้วิธีคิดหรือกระบวนการเดิมๆ “คำตอบใหม่ๆ” คงไม่สามารถเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาปัจจุบันที่โลกของเรามีปัญหาที่ซ้อนทับกันอยู่มากมาย รวมถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ไหลไปอย่างรวดเร็ว
“นวัตกรรมใหม่ๆ” จึงถูกคิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่คำว่า “ใหม่” เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะนวัตกรรมที่สร้าง ต้องผสาน “ความยั่งยืน” ไปในเส้นทางที่เดินด้วย
เราจึงถือโอกาสมาพูดคุยกับ รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) ที่จะพาเราไปรู้จักแนวคิด “Sustainnovation” ผ่านหนังสือเล่มพิเศษที่บันทึกแนวคิด และตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งสอดรับกับแนวคิด “For all Well-Being”
ซึ่งหากใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ เชื่อว่าจะได้ไกด์ไลน์แนวคิด และแรงบันดาลใจในการเดินบนถนนสายความยั่งยืนอย่างแน่นอน
บนเส้นทางความยั่งยืนที่เคยผิดพลาด
รศ. ดร. สิงห์ เริ่มต้นบทสนทนากับเราโดยเล่าว่า ตั้งแต่ยุค 1970 แนวคิดความยั่งยืนของมนุษย์ เชื่อว่า “Triple bottom line” หรือ “เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม” ถ้าเรารักษาสามสิ่งนี้ให้สมดุลได้ สุดท้ายโลกของเราจะดีขึ้น แต่เวลาผ่านมา 40 กว่าปี ผลลัพธ์ที่เราทุกคนเห็น คือโลกไม่ได้ดีขึ้นแม้แต่น้อย จึงเป็นคำถามสำคัญ ว่าเส้นทางที่ผ่านมาของเราถูกต้องหรือไม่
“เราเชื่อว่าวิถีเดิมที่เราทำมาในอดีตผิด โลกที่เราเห็นว่าพัฒนา ทำไมยิ่งพัฒนาแล้วยิ่งแย่ลง เมืองพังมากขึ้น ทำไมสิ่งที่เราทำไม่นำไปสู่ความสุขมากขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น สิ่งนี้เลยนำมาสู่แนวคิดว่า เราต้องคิดใหม่ ถ้าวิถีเดิมที่เป็นอยู่แก้ปัญหาที่เรื้อรังอยู่ไม่ได้ คำว่า “Sustainnovation” จะสร้างแนวทางใหม่ที่นำเราไปสู่ความยั่งยืน นี่เลยเป็นเหตุผลที่เราทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา”
ในหนังสือเล่มนี้ได้เปลี่ยนวิธีคิดจาก Human Centric มาเป็น For All Well-being เพราะแต่ก่อนเรามองว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องให้มนุษย์มีความสุขก่อน แต่สุดท้ายคำตอบไม่ใช่แค่ให้ “มนุษย์” มีความสุขเท่านั้น แต่ต้องเป็นทุกสิ่งมีชีวิตที่มีความสุข
“ในหนังสือเล่มนี้เราไม่ได้ถามว่า “Sustainability” คืออะไร เราเลิกถามถึงสิ่งนี้กันแล้ว เพราะพวกเราตอบมา 40 กว่าปีแต่ไม่เกิดอะไรขึ้น เรานิยามคำนั้นไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะถ้ายังอยู่ในวิธีคิดแบบเดิม เราก็จะได้คำตอบแบบเดิม เรามีแนวคิดเรื่อง “Resiliency” หรือความยืดหยุ่น ไม่ใช่ว่าเราต้องโฟกัสที่ความยั่งยืนอย่างเดียว สิ่งนี้ต่างกัน เพราะไม่ได้แปลว่าเราต้องเก็บรักษาอย่างเดียว
ไกด์ไลน์สู่นวัตกรรมที่ยั่งยืน
ในหนังสือเล่มนี้ รศ. ดร. สิงห์ อธิบายความตั้งใจออกแบบว่า อยากให้เป็นเหมือนไกด์ไลน์ เพื่อคนอ่านเข้าใจว่าแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมที่สอดรับกับ “Well-Being” คืออะไร แล้วมีตัวชี้วัดคืออะไรบ้าง ซึ่งมีหลากหลายด้านที่น่าสนใจ
“เราเคารพ Innovator ทั่วโลก จึงเลือกนวัตกรรมหลายๆ อย่างทั่วโลกเข้าไปในหนังสือเล่มนี้ ถ้าเปิดหนังสือเล่มนี้จะเห็นเทรนด์ เห็นภาพว่าใครทำอะไรมาแล้วบ้าง เป็นเหมือนไกด์ซึ่งทำให้ไม่หลุดจากเส้นทาง ซึ่งมันง่ายมากที่จะหลุดจากเส้นทางนี้ เพราะการเดินไปบนเส้นทางใหม่ไม่ง่าย มันเหมือนเดินอยู่ในหมอก ที่เราอาจจะตอบคำถามผู้ใหญ่ ตอบคำถามคนอื่นรอบข้างไม่ได้ในทันที แต่เรารู้ว่าถ้าหมอกจางลงเส้นทางนี้แหละที่ใช่ ตรงนี้คือความยาก”
ตัวอย่างเทรนด์นวัตกรรมในหนังสือแบ่งออกเป็น 6 หมวด ซึ่งมีทั้ง ด้านสุขภาวะ (Health & Wellness) ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ด้านการจัดการทรัพยากร (Resource management) ด้านพลังงาน (Energy) ด้านการขนส่ง (Transportation) และด้านการบริโภคอาหาร (Food consumption) ซึ่ง รศ. ดร. สิงห์ มองว่าถ้าเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวด้านความยั่งยืนทั่วโลก เทียบกับประเทศไทย เรายังมีจุดที่ขาดอยู่อีกมาก
“ประเทศไทยพัฒนาเรื่องความยั่งยืนในด้านการรับรู้ และนโยบายไปเยอะมาก แต่เราพัฒนาในด้านผลลัพธ์ในการลงมือปฏิบัติน้อยมาก เหมือนเป็นคนที่มีภูมิ มีความรู้เยอะ แต่เอาไปใช้งานไม่สำเร็จ ที่ผมสังเกตคือเรายังไม่ได้รวมศักยภาพทุกอย่างที่มี เรามีวัตถุดิบที่ครบ แต่ยังไม่ยอมปรุง ใช้น้ำเท่าไหร่ไม่รู้ ใช้ความร้อนเท่าไหร่ไม่รู้ คนที่เป็นเชฟและทำหน้าที่ปรุงเรามีน้อย และไม่ค่อยมีคนอยากปรุงด้วย เพราะว่าคนที่ออกมาปรุงคนแรก และไม่อร่อยมักจะโดนก่อน”
“สำหรับผมถ้าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมี “Free flow informations” เราไม่ให้ข้อมูลเป็นแนวดิ่ง แต่ต้องเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งการไม่เชื่อมโยงกันก็เรื่องหนึ่งแล้วนะ แถมรูปแบบการเก็บข้อมูลของแต่ละที่ยังไม่เหมือนกันอีก ก็เลยไม่สามารถเชื่อมกันได้ ผมว่าอันนี้เป็นอุปสรรคมาก ในการที่เราจะแก้ปัญหาที่ใหญ่ขนาดนี้ ต้องมีองค์กรที่เก็บข้อมูลในรูปแบบเดียวกัน และเกิดการพูดคุยกันตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่ผมสังเกตเห็นมากที่สุด”
อุปสรรคที่ต้องก้าวข้าม
“การจะขับเคลื่อนให้วงล้อ Sustainability หมุนได้ เราคิดว่าความต้องการยังไม่พอ ที่จะทำให้วงล้อหมุนและทุกคนได้ประโยชน์กันครบ” รศ. ดร. สิงห์ ตอบคำถามเมื่อเราคุยกันถึงเรื่องอุปสรรคที่มีอยู่”
“ผมว่า Price barier หรือเรื่องราคา เป็น 1 ใน 4 ของกำแพงหลักที่ทำให้เกิด Sustainnovation ขึ้นมาไม่ได้ ซึ่งเราสามารถแก้ได้ถ้า Demand หรือความต้องการในตลาดมีมากพอ เรื่องที่สองคือเรื่อง Phycological barier หรือเรื่องของจิตใจอันนี้แก้ยาก เพราะเป็นเรื่องความเชื่อ อันที่สามคือ Financial barier หรือเรื่องการเงินการลงทุน ซึ่งคนเห็นชัด แต่แก้ไม่ยากในเชิงเทคนิค เรื่องสุดท้ายคือ Regulation barier เรื่องของกฎหมายต่างๆ ซึ่งอันนี้แก้ยากเพราะกฎหมายไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา ปัญหาทั้งหมดนี้เลยเห็นว่าวงล้อ Sustainability มันขับเคลื่อนไปได้ช้า”
ไม่ใช่แค่เพียงปัจจัยภาคนอกเท่านั้นที่เป็นอุปสรรคในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ขับเคลื่อนโลกให้ยั่งยืนมากขึ้น รศ. ดร. สิงห์ บอกว่าบนเส้นทางของความยั่งยืน คนที่เลือกเดินบนเส้นทางนี้ก็มีความท้าทายที่ต้องเจอเสมอๆ
“ผมคิดว่าคนที่จะเดินบนเส้นทางของ Sustainnovation สิ่งที่เขาต้องเจอเลยคือ ถึงมีไอเดียแล้ว เป็นไอเดียที่แหวกแนวมากๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อเริ่มทำจะมีคนบอกว่าทำไม่ได้ อย่าทำเลย ทำไปทำไม จะมีคนบอกแบบนี้กับคุณตลอด ผมบอกได้เลยว่าจะมีแต่กำแพง และถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ให้คิดเสียว่ามี 2 ตัวเลือก หนึ่งคือล้มเลิกทำ สองคือลองทำดู”
“ที่ RISC เรามาได้ถึงทุกวันนี้เพราะว่าเราเลือกทางที่สอง ถามว่าที่สำเร็จมีไหม มีที่ล้มเหลวมีไหม เยอะ แต่มันมีแค่สองทางเลือกเท่านั้น ผมมั่นใจว่าใครจะมาสาย Sustainnovation จะต้องเจอเรื่องนี้แน่ๆ และจะเจอทุกครั้ง ต่อให้คุณจะประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้แล้วหลายๆ รอบก็จะเจอ ทุกครั้งที่เราต้องสร้างสิ่งใหม่ ประสบการณ์สอนผมมากๆ เลย ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จแค่ไหนก็ตาม ถ้าเรานำเสนอสิ่งใหม่จะมีคนต่อต้าน แต่ผมเลือกลองทำด้วยแนวคิดว่า รู้ตัวเองว่าต้องไม่เจ็บ คำว่าลองทำ คือเมื่อถึงจุดหนึ่งเราถอยได้ไม่ต้องอาย ไม่ใช่การเลิกและลุย แต่เป็นลองและเลิกผมว่านี่สำคัญที่สุด”
สำหรับใครที่อยากได้ไกด์ไลน์ในการเดินไปบนถนนสายความยั่งยืน สามารถดาวน์โหลดหนังสือ Sustainnovation มาสำรวจแนวคิดและนวัตกรรมที่น่าสนใจ ได้ที่ https://online.anyflip.com/bpnjl/fqqy/mobile/ หรือสนใจดูคลิปวิดีโอแนะนำหนังสือ Sustainnovation ได้ที่: https://youtu.be/NaWEP72Igok