ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โลกของเราขับเคลื่อนและพัฒนาสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีคิดแบบ “วิศวกรรมศาสตร์” และหวังให้มนุษย์มีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น ทำงานได้มากขึ้น และได้รับประสิทธิผลที่มากขึ้น แต่การพัฒนาดังกล่าว ไม่พูดถึงการทำให้มนุษย์มี “สุขภาวะดีขึ้น” สักเท่าไหร่
โดยเฉพาะตอนนี้ ที่โลกเรากำลังเผชิญกับ ภาวะโลกรวน (climate change) ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหามลพิษ และอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ความไม่สมดุลได้ส่งผลต่อการใช้ชีวิต และพฤติกรรมของคนเราเป็นอย่างมาก การโฟกัสเพียงแต่ความสะดวกสบายและประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอในการทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นอีกต่อไปแล้ว
RISC by MQDC ได้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้เปิดตัวหลักสูตร “Well-Being Design & Engineering Program” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม และคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งเราจะพาคุณไปพูดคุยกับ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบหลักสูตรในครั้งนี้
“Well-Being Design & Engineering” อาชีพแห่งอนาคต
“ผมมั่นใจมากๆ ว่า Well-Being Design & Engineering จะเป็นอาชีพแห่งอนาคต”
รศ.ดร.สิงห์ เริ่มต้นกล่าวกับเราถึงมุมมองของเขาต่ออาชีพนี้ ที่จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในอนาคต พร้อมเผยที่มาของแนวคิดในการสร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมา
“ที่ผ่านมาเราคิดและสร้างทุกอย่างแบบวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรถยนต์ เครื่องบิน เราคิดแบบวิศวกรรมกับทุกอย่างเลย และมีเป้าหมายเพื่อให้เรามีอยู่ดีมีสุข ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เราไม่เคยคิดวิศวกรรมเพื่อ “สุขภาวะที่ดี” เลย”
“พอพูดถึงเรื่องสุขภาวะที่ดีเราก็คิดถึงเรื่องการนั่งสมาธิ การเข้าวัดเข้าวา แต่ผมว่าจริงๆ เราใช้วิธีคิดแบบวิศวกรรมกับสิ่งนี้ได้ เพราะว่าสุดท้ายแล้วเราสร้างอาคารเพราะว่าจุดมุ่งหมายคือ ต้องการให้คนอยู่อย่างมีความสุข แต่การทำให้คนอยู่อย่างมีความสุข ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะสร้างแอร์ให้เย็นเท่าไหร่ ไฟต้องสว่างเท่าไหร่ น้ำประปาต้องไหลเท่าไหร่แล้วก็จบ ทุกวันนี้เราใช้วิศวกรรมแยกกันเป็นส่วนๆ แต่ไม่มีคนที่เอาทุกอย่างมารวมกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดี นี่คือสิ่งที่โปรแกรมนี้จะสอน”
หัวเรือใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบหลักสูตรกล่าว
Well-Being Design & Engineering Program คืออะไร?
คำถามสำคัญแล้วหลักสูตร Well-Being Design & Engineering จะสอนเกี่ยวกับอะไร รศ.ดร.สิงห์ อธิบายให้เราฟังง่ายๆ ว่า หลักสูตรนี้จะเสริมสร้างองค์ความรู้ และสร้างความเข้าใจ จากหลากหลายศาสตร์การออกแบบอาคาร โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี (Well-Being) ได้อย่างยั่งยืน
“เราจะสร้างนักออกแบบและวิศวกรที่สร้าง Well-Being ไม่ได้สร้างนักออกแบบและวิศวกรที่สนใจแค่การออกแบบแสงดี ออกแบบไฟดี ประหยัดพลังงานหรือเปล่า แต่ทั้งหมดต้องออกมาเป็นนักออกแบบและวิศวกรที่สร้าง Well-Being ให้กับคนที่อยู่อาศัยด้วย
“ที่ผ่านมาความรู้ของเรามากขึ้นตลอดเวลา เราสามารถจะวิศวกรรมได้ว่าควรจะสร้างตึกอย่างไร แสงแบบไหนจะทำให้คนรู้สึกดี แสงแบบไหนทำให้คนรู้สึกเร่าร้อน อากาศแบบไหนที่ทำให้คนรู้สึกขยัน อุณหภูมิแบบไหนทำให้คนรู้สึกขี้เกียจ แต่ว่าทำไมความรู้ทางวิศวกรรมเหล่านั้น ไม่หลอมรวมไปกับชีวิตของเราสักที ทำไปทำมากลายเป็นเพื่อบอกว่าจะประหยัดพลังงาน เพื่อจะทำอย่างนู้นอย่างนี้ แต่เราต้องทำเพื่อตัวเราบ้าง ต้นไม้อยู่ได้ คนอยู่ได้ สัตว์อยู่ได้ ผมว่าเรายังขาดตรงนี้”
ในหลักสูตรจะเป็นการเรียนต่อเนื่อง 9 ครั้งใช้เวลา 9 สัปดาห์ โดยจะแบ่งหลักสูตรออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันได้แก่
ส่วนที่ 1 Introduction: What is Well-Being? แนะนำคำนิยามของคำว่า “Well-Being” และความสำคัญของหลักสูตร ซึ่งบรรยายโดย “ผู้เชี่ยวชาญการสร้างความอยู่ดีมีสุข” ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จริง
ส่วนที่ 2 How to be “Well”: 3 key Dimensions for Well-Being ที่จะเจาะลึกละเอียดของการทำความเข้าใจ Well-Being ทั้ง 3 Dimensions ไม่ว่าจะเป็น ด้านความยั่งยืนทางด้านจิตใจ (Mental/Emotional Well-Being), ด้านความยั่งยืนทางด้านร่างกาย (Physical Well-Being) และความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Well-Being) พร้อมแนะนำแนวทางการสร้าง Well-Being แต่ละด้าน
ส่วนที่ 3 Well-Being Experiences โดยในสัปดาห์ที่ 9 จะเป็นการเรียนรู้จากสถานที่จริง ในโครงการใหญ่ๆ ของ MQDC และแล็บวิจัยสำคัญของ RISC เพื่อไปดูว่าการประยุกต์องค์ความรู้ เข้ากับการใช้งานในพื้นที่จริงทำอย่างไร
“ในหลักสูตรครั้งแรก เราจะเน้นการสอนให้กับคนที่มีพื้นฐานทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรม อยู่แล้ว หรือคนที่เคยมีประสบการณ์เคยทำโครงการอสังหาริมทรัพย์มาแล้ว เพราะว่าเราอยากสอนกลุ่มคนที่สามารถเอาไปใช้งานจริงได้เลย และระหว่างสอนจะมีการใช้ศัพท์หรือความรู้เฉพาะเยอะ ถ้าเราต้องอธิบายพื้นฐานมาก ระยะเวลา 8 วันในการสอนคงไม่สามารถทำได้”
“เราตั้งใจว่าจะเชิญผู้เรียน 20 คนแรก ที่คิดว่าจะมีอิมแพ็คในการต่อยอดการศึกษา หรือต่อยอดไปสู่การนำไปใช้จริง ส่วนอีก 20 คน คือเปิดกว้างให้ใครที่สนใจที่มีพื้นฐานสมัครเข้ามา”
สร้าง “New Army of Well-Being”
“เราทำหลักสูตรนี้เพราะคิดว่าเป็น “Sustainnovation” แบบหนึ่ง มีคนถามว่าเรา RISC หรือ MQDC ทำแบบนี้แล้วได้อะไร เป้าหมายของเราคือต้องการยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย ถ้าตึก อาคาร หรือโครงการก่อสร้างในประเทศไทยดีขึ้น ทุกคนสนใจทำสิ่งนี้มากขึ้น เราจะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “Destination” ได้”
“เมื่อก่อนเราขายจุดเด่นเรื่องอาหาร เรื่องการท่องเที่ยว แต่เดี๋ยวนี้อาจจะไม่เพียงพอแล้ว เพราะถ้าเราเป็นเมืองที่มีแต่น้ำท่วม น้ำเน่า มีแต่มลพิษ น่าจะยากที่เราจะไปแข่งกับประเทศอื่น เพราะฉะนั้นต้องแก้ตอนนี้ ถ้าเมืองเราน่าอยู่ขึ้นเมื่อไหร่ มันจะดีขึ้น”
รศ.ดร.สิงห์ ตอกย้ำถึงอิมแพ็คที่หลักสูตรนี้ จะส่งผลต่อภาพรวมของประเทศกับเรา
“สำหรับ RISC เราไม่ได้คิดว่าตัวเราเองเก่งที่สุดในทุกๆ เรื่อง แต่เราเก่งมากในการทำตัวเป็น “Conductor” หรือวาทยกร เราเล่นเปียโนคงไม่เก่งเท่านักเปียโน แต่ว่าวาทยกรเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ “ดนตรี” เกิดขึ้น ผมว่านี่คือหน้าที่ของ RISC และหน้าที่นี้มีคนไม่เพียงพอ ผมอยากจะฝากหลักสูตร “Well-Being Design & Engineering Program” นี้เอาไว้ ที่มีหลักสูตรแบบนี้ออกมา ผมบอกเลยว่านี่เป็นครั้งแรกของโลก ที่มีหลักสูตรแบบนี้ออกมา กูเกิลเข้าไปไม่มีทางหาเจอ เพราะไม่มีใครทำแน่นอน และไม่มีใครสนใจจะทำด้วย และนี่จะเป็น Future career แน่ๆ”
รศ.ดร.สิงห์ กล่าวย้ำปิดท้ายกับเรา สำหรับใครที่สนใจหลักสูตร Well-Being Design & Engineering Program สามารถลงทะเบียนและอ่านเงื่อนไขการรับสมัครได้ที่ https://forms.gle/5y2XHeCS6PE4dNEL8
เริ่มรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 20 มกราคม 2566
ผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดหลักสูตรได้ที่ risc_admin@dtgo.com หรือ 063-902-9346