ข้าวหงษ์ทองบุกตลาดข้าวหอมมะลิพรีเมียม แบบลิมิเต็ด อิดิชั่น 1 ปีมีครั้งเดียวแค่ 2 แสนถุง คาดยอดขายข้าวในประเทศปี 65 ทรงตัวอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท
นายกัมปนาท มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวหงษ์ทอง กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันตลาดข้าวสารบรรจุถุงค่อนข้างทรงตัวเหมือนปี 64 ที่ผ่านมา โดยเราคาดว่ายอดขายปีนี้จะทรงตัวอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
ปัจจุบันข้าวหอมมะลิได้รับความนิยมจากคนไทยอย่างแพร่หลาย เนื่องจากราคาไม่แพง และคุณภาพดี ที่ผ่านมาข้าวหงษ์ทองได้พัฒนาข้าวหอมมะลิให้แตกต่างจากเจ้าอื่นๆ ด้วยการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อให้ได้ข้าวหอมมะลิที่หอม นุ่มไม่เหมือนใคร
"เราพัฒนาข้าวหอมมะลิต้นฤดู และได้การตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาในการพัฒนาข้าวหอมมะลิแบบพรีเมียม นั่นก็คือ ข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู 100% Limited Edition เพื่อยกระดับคุณภาพข้าวหอมมะลิของไทย ที่สำคัญมีเพียงแค่ 200,000 ถุง ตอนนี้ยอดขายผ่านช่องท่างออนไลน์สามารถขายได้แล้วถึง 60,000 ถุงและคาดว่าจะขายหมดไม่เกินกลางเดือน ธ.ค.65 นี้ "
ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู 100% Limited Edition นั้นใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ ปลูกด้วยกระบวนการนาหยอดในโครงการหงษ์ทองนาหยอด บนพื้นที่กว่า 50,000 ไร่ ในจังหวัดอุบลราชธานี และศรีสะเกษ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชั้นดี
ขณะเดียวกันเราได้นำนวัตกรรมทางการเกษตรอย่างโดรนควบคุมความหอมของข้าว และโดรนตรวจจับความผิดปกติของแปลงนามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพของข้าวหอมมะลิให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งนำเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์การอาหารมาใช้ตรวจสอบคุณภาพข้าวทั้งทางกายภาพ ความนุ่ม ความหอม เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะได้รับประทานข้าวมะลิที่หอมที่สุดและนุ่มที่สุด
นอกจากนี้ เรายังได้นำโครงการหงษ์ทองนาหยอดมาสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีปลูกข้าวจากเดิมที่เคยปลูกแบบนาหว่านมาเป็นการทำนาหยอดที่ปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร อีกทั้งยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น ข้าวเมล็ดสูง หอมและนุ่มยิ่งขึ้น
รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มกำไร เช่น โดรนเพื่อการเกษตร เพื่อติดตามสุขภาพและการเติบโตทุกการเพาะปลูก โดยริเริ่มใช้ตั้งแต่การวัดระดับพื้นที่เพาะปลูกเพื่อวางรากฐานแปลงนาให้มั่นคง ใช้ในการวางระบบน้ำเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำนาและสูบน้ำออกได้ง่ายก่อนเก็บเกี่ยว รวมทั้งการใช้ RGB Sensor เพื่อวัดความอุดมสมบูรณ์ของแปลงนา และติดตามการเติบโตทุกช่วงเพาะปลูกด้วยแพลตฟอร์ม Varuna Land Monitoring อีกด้วย