พลิกวิกฤติเป็นโอกาสที่ยั่งยืน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พลิกวิกฤติเป็นโอกาสที่ยั่งยืน

Date Time: 7 ต.ค. 2565 06:05 น.

Summary

  • สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้ จะว่าเผาหลอกก็ไม่ใช่จะว่าเผาจริงก็ไม่เชิง เหมือนจะไม่ตายแต่ก็เลี้ยงไม่โต ภาระหนี้สินของประเทศทั้งที่ซุกเอาไว้ใต้พรม และที่เป็นหนี้เป็นสินอย่างเปิดเผย

Latest

Medical District ดันที่ดินย่านศิริราชมีมูลค่า แต่พื้นที่พัฒนาอสังหาฯ มีจำกัด


สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้ จะว่าเผาหลอกก็ไม่ใช่จะว่าเผาจริงก็ไม่เชิง เหมือนจะไม่ตายแต่ก็เลี้ยงไม่โต ภาระหนี้สินของประเทศทั้งที่ซุกเอาไว้ใต้พรม และที่เป็นหนี้เป็นสินอย่างเปิดเผย เป็นเรื่องของเศรษฐกิจระดับมหภาค แต่หนี้ครัวเรือน การประคับประคองตัวในการดำรงชีวิตให้รอดปากเหยี่ยวปากกา เป็นภาระของชาวบ้านล้วนๆ มาตรการช่วยลดผลกระทบจากค่าครองชีพภาครัฐ ก็ไม่ต่างจากยาพิษอ่อนๆ ยิ่งนานวันก็ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเพดานการเป็นหนี้ พิษก็จะแล่นเข้าสู่หัวใจ ถ้าไม่รีบหาทางแก้เอาไว้

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ สภาพหนี้ครัวเรือนในปี 2565 พบว่ามีหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ประมาณ 5 แสนบาท เฉพาะเป็นหนี้นอกระบบ ถึง ร้อยละ 21.1 ต้องหาเงินผ่อนหนี้เดือนละประมาณ 12,800 บาท ในยามนี้ที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น เงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์มีค่ามาก จะมีปัญญาที่ไหนหาเงินมาใช้หนี้ ทำให้จำนวนหนี้เพิ่มขึ้นในทุกมิติ

สำหรับภาคธุรกิจ ถ้าสายป่านไม่ยาวจริงอยู่ลำบาก เอสเอ็มอี ไม่ต้องไปพูดถึง ปิดได้ก็ปิด เลิกได้ก็เลิก ซึ่งน่าเสียดายมาก เพราะถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ เอสเอ็มอี จะเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้ดีท่ีสุดเนื่องจากมีขนาดใหญ่โต การลงทุนไม่มาก ฟื้นตัวเร็ว ปรับโครงสร้าง ยืดหยุ่นได้ง่าย เช่น ผลิตเครื่องสำอางไม่เวิร์กก็หันไปผลิตอาหารเสริมทดแทนได้ ขายสินค้าหน้าร้านไม่ได้ก็หันไปขายทางออนไลน์ เป็นต้น

ที่อยากจะยกมาเป็นตัวอย่างของการเติบโตแบบยั่งยืน จากกรณีที่ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ไปพูดเอาไว้ในงาน PTT Group CEO Town Hall 2022 : GROWTH BEYOND THE FUTURE ถอดรหัสการเติบโตสู่อนาคตไปด้วยกัน ในเวทีครั้งสำคัญของผู้บริหารระดับสูงในกลุ่ม ปตท.ที่มีการวางเป้าหมายและวิสัยทัศน์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในปี 2573 สู่การเติบโต 3GROWTH แบบยั่งยืน ประกอบด้วย

ขยายธุรกิจพลังงาน ที่มีแนวโน้มเติบโตรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน BUSINESS GROWTH ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไฟฟ้า การลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

การเติบโตธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจที่ไกลกว่า พลังงาน NEW GROWTH ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ EV หรือพลังงานใหม่ๆที่จะมีสัดส่วนกำไรสุทธิมากขึ้นในสัดส่วนร้อยละ 30 ภายในปี 2030

และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลงที่เป้าหมายร้อยละ 15 เมื่อเทียบจากปี 2020 โดยตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ Carbon Neutrality ในปี 2040 และ Net Zero Emission ในปี 2050 ซึ่งจะเป็นการสอดรับกับการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจในอนาคตที่ต้องวางยุทธศาสตร์ในระยะยาว

ที่มองข้ามไม่ได้คือการรวมเอาทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานร่วมกัน CEO จาก 6 กลุ่มธุรกิจในเครือมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล CEO PTTEP วิรัตน์ เอื้อนฤมิต CEO TOP คงกระพัน อินทรแจ้ง CEO GC ชวลิต ทิพพาวนิช CEO IRPC วรวัฒน์ พิทยศิริ CEO GPSC และจิราพร ขาวสวัสดิ์ CEO OR ผู้บริหารระดับแถวหน้าที่เป็นเคล็ดลับไปสู่ความสำเร็จ โตจากภายในสู่ภายนอก เป็นวิทยายุทธที่ต้องเรียนรู้ พลิกวิกฤติไปสู่โอกาสที่ยั่งยืน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ