ไทยเบฟ เตรียมรุกธุรกิจเกี่ยวข้อง EV อวดกำไร 9 เดือนแรก ปี 65 แตะ 39,110 ล้าน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยเบฟ เตรียมรุกธุรกิจเกี่ยวข้อง EV อวดกำไร 9 เดือนแรก ปี 65 แตะ 39,110 ล้าน

Date Time: 28 ก.ย. 2565 08:10 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ฐาปน เผยธุรกิจในกลุ่ม "ไทยเบฟเวอเรจ" เติบโตรับเศรษฐกิจเริ่มฟื้น 9 เดือนแรกของปี 65 รายได้แตะ 207,922 ล้านบาท กำไร 39,110 ล้านบาท เตรียมปักธงรุกธุรกิจเกี่ยวข้อง EV

Latest


ฐาปน เผยธุรกิจในกลุ่ม "ไทยเบฟเวอเรจ" เติบโตรับเศรษฐกิจเริ่มฟื้น 9 เดือนแรกของปี 65 รายได้แตะ 207,922 ล้านบาท กำไร 39,110 ล้านบาท เตรียมปักธงรุกธุรกิจเกี่ยวข้อง EV 

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเจอกับสถานการณ์การระบาดของโควิด แต่ไทยเบฟยังมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง โดยไทยและเวียดนามซึ่งเป็นตลาดหลักทั้งสองแห่งของเราได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด เช่น การเปิดให้มีการดินทางระหว่างประเทศได้

รวมถึงการเปิดให้ผู้บริโภคกลับมารับประทานอาหารภายในร้านได้ตามเดิม ส่งผลให้การท่องเที่ยวทั้งในประเทศ ระหว่างประเทศ และการบริโภคฟื้นตัวมากขึ้น โดยปัจจัยดังกล่าวช่วยให้รายได้และกำไรของกลุ่มเติบโตขึ้น เห็นได้จากผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของเรา

ทั้งนี้ รายได้ 9 เดือนแรกของกลุ่มสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. 65 เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเป็น 207,922 ล้านบาท ซึ่งสูงกล่าวช่วงเดียวกันของ 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ หรือ Demand ของตลาดกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง รวมถึงการบริหารตราสินค้าของเราประสบความสำเร็จ

สำหรับกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี หรือ EBITDA เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็น 39,110 ล้านบาท โดยภาพรวมสถานะการเงินยังมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และมีเสถียรภาพของกระแสเงินสดอิสระที่ดี และมีความพยายามลดหนี้อย่างต่อเนื่อง



ส่วนปี 2566 นั้นเราวางงบลงทุนประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท (ต.ค. 2565 - ก.ย. 2566) ภายใต้กลยุทธ์ Passion 2025 ที่สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และการต่อยอดจากพื้นฐานธุรกิจที่มีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงธุรกิจอาหาร ที่เราได้ซื้อกิจการมาก่อนหน้านี้

นอกจากนี้เรามีแผนพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในทุกรูปแบบเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะการนำมาพัฒนาระบบโลจิสติกของบริษัท เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน หรือ Enabling Sustainable Growth 

นายฐาปน กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องค่าเงินบาทอ่อนค่านั้นสะท้อนในมุมที่ดี และมีความท้าทายกับเศรษฐกิจ เช่น ถ้าค่าเงินบาท ภาคการส่งออกจะเติบโต ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะนักท่องเที่ยวก็จะตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวง่ายขึ้น

แต่ในทางกลับกันภาคธุรกิจที่นำเข้าสินค้า โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น ธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟ ที่ต้องนำเข้ามอลต์จากต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต แต่บริษัทได้มีการบริหารจัดการสต๊อก เช่น การสั่งวัตถุดิบล่วงหน้า และการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เราสามารถบริหารความเสี่ยงเหล่านี้ได้ ส่วนธุรกิจสุรานั้นไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท เพราะวัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นของในประเทศทั้งหมด

ธุรกิจแอลลกอฮอล์ยังเติบโตต่อได้

นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา กล่าวว่า ปี 65 นี้ ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจสุราในประเทศยังคงมีความแข็งแกร่ง และสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้ดี โดยรวงข้าวยังคงเป็นสุราขาวอันดับหนึ่ง ควบคู่กับหงส์ทอง สุราสีอันดับหนึ่งของประเทศไทย

ทั้งนี้ หากดูผลการวิจัยช่วง 12 เดือนย้อนหลัง แสงโสม สามารถเติบโต 9% เนื่องจากความแข็งแรงของตราสินค้า ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศไทยฟื้นตัว ซึ่งมีส่วนช่วยให้ตลาดสุรา โดยเฉพาะสุราสีในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น

ส่วนของธุรกิจในประเทศเมียนมา แม้ว่าสถานการณ์ในเมียนมาช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะมีความท้าทาย แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป ยังมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง และสามารถครองตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งในเมียนมาไว้ได้ รวมถึงมีเสถียรภาพของกระแสเงินสดที่ดี

นายไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า ผลประกอบการของธุรกิจเบียร์มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งทั้งในไทยและเวียดนาม โดยรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจเบียร์เพิ่มขึ้น 15.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 92,573 ล้านบาท โดยมีกำไร 13,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายและส่วนประสมของผลิตภัณฑ์ที่เอื้ออำนวย รวมถึงการขึ้นราคาและมาตรการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น



นายเลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยมีผลประกอบการดีขึ้น เนื่องจากการบริโภคในร้านและกิจกรรมการตลาด เช่น คอนเสิร์ตและอีเวนต์ต่างๆ ได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง

โดยธุรกิจเบียร์ในไทยยังมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาท่ามกลางความพยายามในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มสินค้าระดับ Mass Premium อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดตัว Chang Cold Brew และเรายังวางแผนอนาคตด้วยการบริหารตลาดแบบเจาะรายพื้นที่ในเชิงรุก และจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถใช้ต้นทุนได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น

นายเบนเน็ตต์ เนียว กิม เซียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซาเบโก้ กล่าวว่า การที่เวียดนามกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้ซาเบโก้มีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้น โดยเราทุ่มศักยภาพเพื่อสริมความแข็งแกร่งให้กับ Bia Saigon ในฐานะตราสินค้าที่เป็นความภาคภูมิใจของเวียดนาม

ด้วยการเปิดตัว Bia Saigon Lager รุ่นลิมิเต็ดสำหรับเทศกาล Tet ปี 2565 ที่นำจุดเด่นของแต่ละจังหวัดในเวียดนามมาออกแบบเป็นลวดลายกระป๋อง 63 แบบ นอกจากนี้เรายังดำเนินแผนงานซาเบโก้ 4.0 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในแผนกลยุทธ์หลักของเรา

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โตขึ้น 9.7%

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เป็นจำนวน 12,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ เป็นผลจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 8.4% ท่ามกลางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี หรือ EBITDA เพิ่มขึ้น 5.4% เป็น 1,717 ล้านบาท

โดยช่องทางการบริโภคในร้านอาหารกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากผู้บริโภคกลับมารับประทานอาหารในร้านกันอีกครั้ง นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสและได้ดำเนินการเพื่อจับกระแสของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ZEA Tuna Essence เป็นต้น

ธุรกิจอาหารโตเพิ่ม 38.6%

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 38.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 11,990 ล้านบาท เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในร้านอาหาร และการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเจาะตลาดและเข้าถึงลูกค้ารวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของร้านอาหารในกลุ่มธุรกิจอาหาร ทำให้ธุรกิจมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี หรือ EBITDA เป็นจำนวน 1,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ