อนาคตของ "กัญชง" กับธุรกิจเฮลท์แคร์

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อนาคตของ "กัญชง" กับธุรกิจเฮลท์แคร์

Date Time: 17 ก.ย. 2565 05:06 น.

Summary

  • กัญชง (Hemp) ในมุมมองของนักธุรกิจที่มองเห็นโอกาสของการเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์หรือการดูแลสุขภาพของประเทศไทย

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

กัญชง (Hemp) ในมุมมองของนักธุรกิจที่มองเห็นโอกาสของการเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์หรือการดูแลสุขภาพของประเทศไทย ถ้าหากนำไปใช้ให้ถูกวิธีจะเป็นประโยชน์และสร้างธุรกิจใหม่ๆในอนาคต

หลายคนยังมีความสับสนระหว่างกัญชงและกัญชา เป็นพืชชนิดเดียวกันและแตกต่างกันอย่างไร แม้รัฐบาลจะปลดล็อกออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ส่งผลให้ส่วนต่างๆ ได้แก่ ช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ไม่ว่าสดหรือแห้ง กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและยางกัญชา ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดอีกต่อไปนั้น

นายยิ่งยศ จารุบุษปายน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด ได้นำเสนอข้อมูลถึงความแตกต่างระหว่างพืช 2 ชนิดว่า หากจะเปรียบเทียบระหว่างกัญชาที่มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาทส่งผลต่ออารมณ์ ความจำ ความรู้สึก ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม อยากอาหาร และลดอาการคลื่นไส้ อยู่ที่ร้อยละ 1-10 อันเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท มีผลเสียต่อสมอง ร่างกาย และทำให้ขาดสติได้ ส่วนกัญชงมีสาร THC ต่ำ น้อยกว่าร้อยละ 0.2 จึงไม่ถือเป็นสารเสพติดแต่อย่างใด

ขณะที่กัญชงมีสารสกัด Cannabidiol (CBD) เป็นสารไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ไม่ทำให้มึนเมา มีฤทธิ์ระงับอาการปวด ลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และลดความกังวล จะมีคุณประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมหาศาล มีคุณสมบัติที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งเป็นผลิตภัณฑ์ ยา อาหารและเครื่องดื่ม

ทั้งนี้ ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝั่งอเมริกาใต้บางส่วน ฝั่งยุโรป และฝั่งออสเตรเลีย ต่างก็ยอมรับในประสิทธิภาพการใช้งานในวงการแพทย์ และได้มีการนำสาร CBD มาพัฒนาสูตรจนมีผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายแล้ว

สำหรับประเทศ ไทย สารสกัด CBD จากกัญชง นับเป็นดาวเด่นดวงใหม่ของวงการแพทย์และยา จะมีโอกาสทางธุรกิจในตลาดอาหารเสริม และตลาดเฮลท์แคร์ที่ชัดเจนมาก ในปัจจุบันเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ และด้วยความก้าวหน้าของวงการแพทย์ในประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของโลกและเอเชีย

นายยิ่งยศในฐานะที่บริษัท ไทย ลีฟ ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตผลิตภัณฑ์และสกัดสาร CBD จากกัญชง จึงมองว่า กัญชง จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทางด้านเฮลท์แคร์ในอนาคตแน่นอน และประชาชนจะเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นภายในปี 2566 หลังจากเริ่มมีการพัฒนาและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด และให้คำมั่นว่า “ผู้บริโภคจะต้องได้ใช้ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชงที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์มากที่สุดในราคาที่เหมาะสม”

ปัจจุบันคนไทยคิดว่าน้ำมันจากสารสกัด CBD กัญชง ใช้หยดเพื่อนอนหลับได้อย่างเดียว ซึ่งข้อนี้ถือเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานของกัญชงเท่านั้น เพราะแท้จริงสารสกัดดังกล่าวมีคุณประโยชน์มากกว่านั้น เมื่อนำไปพัฒนาเป็นสูตรต่างๆตามลักษณะแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ต้องการผลิต ไทยลีฟได้เล็งเห็นประโยชน์ในหลายด้านที่จะเข้ามาช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย สร้างสมาธิ และไม่ทำให้มึนเมา ผนวกกับต้องการเสนอทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยรักษาโรคที่คนไทยกำลังประสบกันมาก เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น จึงได้ร่วมกับหลายๆภาคส่วนในต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการวิจัยสายพันธุ์กัญชงกับมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยกัญชงมากว่า 30 ปี

ปัจจุบัน ไทย ลีฟ มีสูตรผลิตภัณฑ์ที่พร้อมพัฒนาทันทีกว่า 1,000 สูตร มีการจดลิขสิทธิ์และขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแล้วในอเมริกา ซึ่งวางแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มแรกในปี 2566 คือ 1.กลุ่มเครื่องดื่ม 2.กลุ่มอาหารเสริม และ 3.กลุ่มเวชสำอาง ตามด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาตามลำดับ ซึ่งตอนนี้มีสูตรยาที่มีกัญชงเป็นสารประกอบแล้วราว 40 ชนิด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายประโยชน์ของพืชเศรษฐกิจตัวนี้ นายยิ่งยศระบุว่า เป็นข้อกฎหมายจากภาครัฐที่กำหนดข้อปฏิบัติไม่ชัดเจน มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง อาจจะทำให้คนไทยสับสนว่าสิ่งใดทำได้และสิ่งใดทำไม่ได้ ดังนั้น ภาครัฐควรจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ต่อข้อมูลที่ถูกต้องให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน

ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ต้องจับมือร่วมกับภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการใช้กัญชงอย่างถูกต้อง ซึ่งบริษัท ไทย ลีฟ ในบทบาทของผู้พัฒนา ที่พร้อมด้วยประสบการณ์ เครื่องมือ และเครือข่าย พร้อมที่จะให้การ สนับสนุนทุกรูปแบบ เพื่อขับเคลื่อนพืชเศรษฐกิจใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต.

วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ