มุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน

Date Time: 26 ก.ค. 2565 05:32 น.

Summary

  • ขณะนี้ได้มีหลายบริษัทในประเทศไทยที่มีความตื่นตัวในเรื่องการพัฒนาองค์กรสู่ความมั่นคงและยั่งยืน (Stable and Sustainable) เพราะการดำเนินธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน นำมาซึ่งความเสี่ยง

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

ขณะนี้ได้มีหลายบริษัทในประเทศไทยที่มีความตื่นตัวในเรื่องการพัฒนาองค์กรสู่ความมั่นคงและยั่งยืน (Stable and Sustainable) เพราะการดำเนินธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน นำมาซึ่งความเสี่ยงและโอกาส จึงต้องมีการปรับตัวและพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ที่สำคัญภายใต้การดำเนินธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงนั้น ยังต้องมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีพร้อมกับการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในองค์กรภาคธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในเรื่องนี้ ต้องยกให้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ประกาศเป็นนโยบายหลักที่จะบรรลุสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มครบวงจรที่มั่นคงและยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน Stable and Sustainable ASEAN Leader ภายใต้ PASSION 2025

ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมานอกจากการดำเนินธุรกิจให้เติบโตไปอย่างมั่นคง บริษัท ไทยเบฟฯยังได้มีการดำเนินโครงการต่างๆเพื่อสังคมตลอดมา

อย่างเช่น เมื่อเร็วๆนี้ได้จับมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) องค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา (อบต.ดงพญา) อำเภอดงพญา และจังหวัดน่าน จัด “โครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 5 หมู่บ้าน รอบบ้านห้วยขาบ”

เพื่อให้ประชาชนในชุมชนพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ มีแผนป้องกันสาธารณภัย และสามารถ ใช้อุปกรณ์จากศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยประจำหมู่บ้านห้วยขาบได้ และเพื่อให้ชาวบ้านมีความตระหนักรู้ในเรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีความพร้อมและสามารถช่วยเหลือหมู่บ้านข้างเคียงได้ยามเกิดภัย

โครงการดังกล่าว นับเป็นการต่อยอดและยกระดับ จากการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Community Based Disaster Risk Management หรือ CBDRM) หลังเกิดเหตุดินโคลน ถล่มทับบ้านเรือนชุมชนบ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2561

“เกริกเสกข์สัณห์ วาสะศิริ” ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร กองส่งเสริมการป้องกัน สาธารณภัย กล่าวว่า การเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัยในชุมชนเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก เพราะจะช่วยลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ เมื่อเกิดสาธารณภัยแล้วชาวบ้านจะสามารถช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือคนในชุมชน และชุมชนรอบข้างได้

นอกจากนี้ ไทยเบฟฯยังมีอีกโครงการเพื่อสังคม โดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ในเครือไทยเบฟฯได้จัดโครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล ขับเคลื่อนการเรียนรู้ คัดแยก และการนำบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับคืนสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยมี “สถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล” เป็นสถานีต้นแบบเรื่องการคัดแยกขยะสู่การรีไซเคิล ที่เป็นการต่อยอดลงมือปฏิบัติจริง สร้างรายได้และส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ระดับผู้บริโภคระดับในครัวเรือน วัด โรงเรียนในพื้นที่ชุมชน

ล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานย่านวังเดิม ย่านกะดีจีน หรือชุมชนกุฎีจีน ร่วมกับกรมสารวัตรทหารเรือ สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ สำนักงานเขตธนบุรี จัดกิจกรรม “หล่อเทียนพรรษา พาเที่ยว 2 ย่าน” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและอาหารประจำย่าน รวมทั้งส่งเสริมอาชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน

ทางชุมชนย่านกะดีจีน ซึ่งได้รับองค์ความรู้เรื่องการแยกขยะพร้อมสถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล จากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด ได้เข้ามาดูแลการจัดการขยะภายในพื้นที่จัดงาน โดยมี “สถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล” พร้อมถังขยะประเภทต่างๆ รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแยกขยะให้ถูกต้อง ณ บริเวณริมกำแพงวัดอรุณราชวราราม

“อรทัย พูลทรัพย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) กล่าวว่า บริษัทได้ริเริ่มโครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล โดยมีเป้าหมายเพื่อจะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนในการรณรงค์และปลูกจิตสำนึก ปรับเปลี่ยนและส่งเสริมพฤติกรรมการคัดแยกบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคที่รีไซเคิลตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้มีบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคมีคุณภาพที่ดีขึ้น ง่ายต่อการรีไซเคิล

โดยนอกจากการให้ความรู้ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ได้มีการต่อยอดสู่การลงมือทำจริง ผ่านวิธีการของ “สถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล” ที่จุด นัดพบคนชุมชนกับผู้รับซื้อ ทำการซื้อขายวัสดุที่รีไซเคิลได้ ซึ่งชุมชนกุฎีจีน เป็นหนึ่งในชุมชนที่ขานรับแนวคิดและสานต่อให้เกิดเป็นรูปธรรม

สำหรับโครงการนี้ยังมีชุมชนในภูมิภาคอีก 2 แห่ง ที่จังหวัดลำพูนและภูเก็ต

“เราหวังว่าการจุดประกายเล็กๆในครั้งนี้ จะสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมด้านการจัดการขยะของชุมชนอย่างยั่งยืนได้จริง เพื่อประโยชน์ของชุมชน และภาพรวมของประเทศ ซึ่ง นอกจากจะสร้างรายได้กลับเช้าสู่ชุมชนแล้ว ยังจะส่งเสริมเป็นวัฒนธรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมความยั่งยืนสืบต่อไป”.

เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ