เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด นำทรัพยากรที่ใช้แล้วนำกลับคืนสู่สภาพเดิมหรือพร้อมนำกลับมาใช้ได้ใหม่
ในช่วงที่ผ่านมา ทางภาครัฐและภาคเอกชนต่างขานรับและได้ส่งเสริมให้ความสำคัญโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ในเครือบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้ริเริ่มโครงการเก็บกลับ–รีไซเคิล เพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ คัดแยก และการนำบรรจุ ภัณฑ์หลังการบริโภคกลับ คืนสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ นับเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน
“อรทัย พูลทรัพย์” กรรมการผู้จัดการ TBR กล่าวว่า ทางบริษัทได้ผสานความร่วมมือกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) ส่งมอบ “สถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล” ซึ่งเป็นสถานีต้นแบบของการเรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะสู่การรีไซเคิลที่เป็นการต่อยอดลงมือปฏิบัติจริง สร้างรายได้และส่งเสริมวัฒนธรรมเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้เริ่มตั้งแต่ระดับครัวเรือน วัด และโรงเรียนในพื้นที่ชุมชน โดยเริ่มต้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร วัดมหาวัน จ.ลำพูน และโรงเรียนบ้านไม้ขาว จ.ภูเก็ต โดยมีการส่งมอบในช่วงเดือนต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
“อรทัย” กล่าวว่า ก่อนหน้าบริษัท TBR สนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชัน OK Recycle เพื่อใช้บันทึกข้อมูลกิจกรรมอย่างเป็นระบบให้สถาบัน TIPMSE สำหรับกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่บริษัทได้ริเริ่มโครงการเก็บกลับ-รีไซเคิลสำหรับกิจกรรมในภาคชุมชน จึงร่วมกับ TIPMSE จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปกับชุมชน เรื่องการจัดการคัดแยกขยะและการบริหารจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน ขอนแก่น และภูเก็ต
“ปีนี้มีการต่อยอดจากการเรียนรู้ สู่จากการลงมือทำจริง มีการส่งมอบสถานีเก็บกลับ-รีไซเคิลแห่งแรกที่ชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร และอีก 2 แห่งดังกล่าว เพื่อเป็นจุด นัดพบในชุมชนรูปแบบตลาดนัดรีไซเคิล ให้ทุกคนคัดแยกตั้งแต่ที่บ้าน วัด โรงเรียน สถานที่ทำงานของตนเอง และนัดวันเปิดตลาดให้ผู้ซื้อพบผู้ขาย นอกจากรายได้แล้ว ชุมชนจะได้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคภายในชุมชนได้ด้วยตนเอง โดยสถานีทุกแห่งก็จะใช้แอป OK Recycle ในการบันทึกข้อมูลเพื่อการติดตามการจัดการของแต่ละสถานี และเผยแพร่ผลการจัดการผ่านทางเว็บไซต์ www.bringbackrecycle.com และสถานีทุกแห่งถือเป็นจุดรับวัสดุรีไซเคิลหนึ่งใน 300 กว่าแห่งทั่วประเทศของโครงการ ที่เป็นต้นแบบที่หวังจะเป็นแรงขับเคลื่อนสู่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”
“พรรรัตน์ เพชรภักดี” รองผู้อำนวยการใหญ่และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการอยู่ที่ความร่วมมือของทุกคน รู้สึกดีใจที่ชุมชนให้ความร่วมมือและเห็นความสำคัญเรื่องการแยกขยะ โดยเฉพาะเยาวชนที่ถือว่าเป็นต้นกล้าพันธุ์ใหม่ของชุมชน ซึ่งน้องพวกนี้จะเป็นคนที่ออกแบบกิจกรรมชุมชนของเขาต่อเนื่อง
ด้าน “ปิ่นทอง วงษ์สกุล” ประธานชุมชนกุฎีจีน กล่าวว่า นับเป็นการเริ่มต้นทำเรื่องขยะรีไซเคิลอย่างจริงจัง การที่มาทำแบบนี้ทำให้จิตสำนึกคนในชุมชนรู้จักความสะอาดเพิ่มขึ้นรู้จักแยกขยะ เพราะว่าขยะสามารถกลับเป็นตัวเงินได้ เรากำหนดวันรับซื้อขยะและของเก่าสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของเดือน ซึ่งทางเราจะตรวจสอบราคาจากคนที่มารับซื้อก่อนว่าตอนนี้มีการซื้อขายกันที่เท่าไหร่ เรารับซื้อเท่าไหร่แล้วก็ขายออกไปเท่านั้น เพื่อช่วยคนในชุมชนมีรายได้ ต้องขอขอบคุณ TBRแล้วก็ไทยเบฟที่เห็นความสำคัญของชุมชนนี้
นับเป็นการเริ่มต้นปลุกพลังของชุมชนให้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ในฐานะผู้บริโภค และนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี มีการบริหารจัดการขยะในชุมชนอย่างเป็นระบบ
ส่งเสริมเป็นวัฒนธรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเป็นการสร้างรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนรากหญ้าอย่างยั่งยืนที่น่าส่งเสริมและกระจายไปทั่วประเทศ.
วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th