แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก ปิดบริษัทกะทันหัน คนร่วมลงทุนหวั่นไม่ได้เงินคืน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก ปิดบริษัทกะทันหัน คนร่วมลงทุนหวั่นไม่ได้เงินคืน

Date Time: 14 ม.ค. 2565 07:59 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • ถอดบทเรียนธุรกิจ "แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก" ประกาศปิดบริษัทกะทันหัน เทลูกค้าซักผ้า ขณะที่คนร่วมลงทุนหวั่นไม่ได้เงินคืน ส่วนคนกู้เงินแบงก์มาลงทุนสุดช้ำ ต้องส่งดอกเบี้ยทุกเดือน

Latest


ถอดบทเรียนธุรกิจ "แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก" ประกาศปิดบริษัทกะทันหัน ขณะที่คนร่วมลงทุนหวั่นไม่ได้เงินคืน ส่วนคนกู้เงินแบงก์มาลงทุนสุดช้ำ ต้องส่งดอกเบี้ยทุกเดือน

ช่วงสัปดาห์ทีผ่านมา ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก เจ้าหนึ่งได้ประกาศปิดตัวกะทันหันทันที่เปิดปีใหม่ 2565 โดยระบุว่า มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องในบริษัท หลังจากนั้นผู้เสียหายจากการลงทุนในแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักยี่ห้อนี้ได้รวมตัวกันเพื่อช่วยกันหาทางออก 

โดยคุณเอ หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ว่า เราเริ่มสนใจธุรกิจร้านสะดวกซักเมื่อประมาณ ต.ค. 64 จากนั้นก็ข้อมูลเปรียบเทียบแฟรนไชส์แต่ละยี่ห้อ จนมาเจอเจ้านี้ที่มีความน่าสนใจตรงที่การใช้ Iot เข้ามาช่วยระบบการซัก และไม่ต้องใช้เหรียญแลก ที่สำคัญค่าแฟรนไชส์อยู่ในกรอบที่เราพอลงทุน จากนั้นจึงติดต่อไปที่บริษัท และพบกับเซลล์ ในเวลาต่อมาเซลล์ก็เข้ามาดูสถานที่ พร้อมกับประมาณการค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ แพ็กเกจที่เราเลือกอยู่ที่ 700,000 บาท และมีการนัดเซ็นสัญญากันต้นเดือน ธ.ค.64 ที่ผ่านมา โดยสัญญาระบุว่า เราซื้อแฟรนไชส์จากเขา โดยทำให้ออกแบบ หาเครื่องซักผ้า และติดตั้งระบบ ซึ่งทางบริษัทก็บอกว่าต้องจ่ายค่ามัดจำ 70% แต่เราก็ต่อรองขอจ่ายมัดจำ 50% จากนั้นก็จ่ายไปประมาณ 350,000 เพื่อความมั่นใจก็เลยขอนัดไปทำสัญญาที่ออฟฟิศเจ้าของแฟรนไชส์

"เราก็พอได้ยินข่าวไม่ดีของแฟรนไชส์ยี่ห้อนี้เมื่อกลางปี 64 ก็เลยถามว่าจะเกิดเคสแบบนั้นกับเราไหม ทางเซลล์ก็บอกว่า ปัญหานั้นจัดการเรียบร้อยแล้ว และมีแค่เคสเดียว ที่ล่าช้าเรื่องการทำร้านเพราะช่างติดโควิด ทางบริษัทได้คืนเงินลูกค้ารายนั้นไปแล้ว และก็ขอให้มั่นใจ เราจึงตกลงทำสัญญากัน"

จากนั้นฝ่ายเราก็ต้องจะทักไปถามเซลล์ตลอดเลยว่า ช่างมาดูหน้างาน มาติดตั้งเครื่องแล้วหรือยัง เซลล์ก็ส่งช่างมาคุย จากนั้นก็หายไปอีก ซึ่งในสัญญาระบุว่า หลังจากเซ็นสัญญาแล้วร้านจะต้องเสร็จภายใน 60 วัน แต่ทางฝ่ายเขาก็ยังนิ่งอยู่ ก่อนปีใหม่ เราก็ไปตามอีก เซลล์บอกว่า ตามช่างให้แล้วแต่อาจจะหยุดช่วงปีใหม่ พอเปิดช่วงปีใหม่มา เราก็ตามเซลล์ สิ่งที่น่าตกใจคือ เซลล์บอกว่าลาออกแล้ว ที่ช็อกซ้ำสอง คือ บริษัทแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักที่เราไปลงทุนบอกขอปิดตัว 

ก่อนหน้านี้เราก็ศึกษาเรื่องการทำธุรกิจแฟรนไชส์มาพอสมควร ในมุมของเราการลงทุนในแฟรนไชส์ เหมาะกับเราตรงที่มันสามารถทำเป็นอาชีพเสริม เพราะเราต้องทำงานประจำ ส่วนใหญ่คนที่จะลงทุนในแฟรนไชส์ ก็น่าจะเปรียบเทียบมาแล้วว่าแต่ละเจ้าเป็นอย่างไร ซึ่งร้านสะดวกซักยี่ห้อดังกว่านี้ เราก็ศึกษามา แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ที่เราเลือกเจ้านี้เพราะค่าใช้จ่ายเริ่มต้นไม่มาก และเจ้านี้ก็เปิดมา 4 ปีแล้ว เราก็ค่อนข้างมั่นใจ เขามีหลายสาขา แถมได้รางวัลการันตีจากหน่วยงานรัฐ เป็นสตาร์ทอัพที่น่าลงทุน

คนที่กู้เงินธนาคารมาลงทุนในแฟรนไชส์สุดช้ำ

สำหรับการลงทุนในแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักเจ้านี้มี 2 รูปแบบคือ เรามีทำเล และซื้อแฟรนไชส์เข้ามาจัดการระบบ หาเครื่องซักผ้า รวมถึงตกแต่งร้าน กับอีกรูปแบบหนึ่งคือ ทางบริษัทจะเสนอทำเลให้ ดีลกับนิติบุคลให้ เพียงแค่เราจ่ายเงินลงทุนเท่านั้น ซึ่งตอนนี้มีผู้เสียหายหลายรายที่ลงทุน และจ่ายค่าแฟรนไชส์ครบ 100% แต่ปรากฏว่าทางบริษัทไม่เข้ามาทำร้านให้เขา

มีเคสหนึ่งที่พี่เขาจ่ายเงินครบ 7 แสนกว่าบาท แต่สิ่งที่เขาได้คือ ท่อน้ำ ซึ่งเงินลงทุนนี้เขาไปกู้ธนาคารมา และต้องจ่ายดอกเบี้ยธนาคารทุกเดือน ในขณะที่เขาไม่มีรายได้สักบาท ถ้ามีเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้าให้เขา ก็ยังพอติดตั้งเครื่องยอดเหรียญ วางระบบได้ แต่นี่ไม่มีเลย ที่สำคัญที่ตั้งร้านก็ต้องจ่ายค่าเช่าทุกเดือน มีแต่เสียกับเสีย ถ้าบริษัทคืนเงินให้กับลูกค้า ยังพอเอาไปเงินไปทำร้านต่อเพื่อหาดอกเบี้ยไปจ่ายธนาคารได้

สภาพร้านสะดวกซักที่เจ้าของแฟรนไชส์ลอยแพ
สภาพร้านสะดวกซักที่เจ้าของแฟรนไชส์ลอยแพ

คุณเอ ทิ้งท้ายอีกว่า จริงๆ แล้วธุรกิจร้านสะดวกซัก เป็นธุรกิจที่ดี และน่าสนใจ เราเห็นเทรนด์ที่ดีมาตั้งแต่ปี 64 ที่ผ่านมา การซักผ้าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องซัก ต้องทำ ซึ่งร้านสะดวกซักเหมาะกับคนไม่มีเครื่องซักผ้า ตอบโจทย์คนอยู่หอพัก คอนโดมิเนียม ยิ่งคอนโดเยอะดีมานด์ก็มาก นอกจากนี้ลูกค้าขาจรมีเยอะ เขาอาจจะมีแค่เครื่องซักผ้า แต่อยากอบผ้าช่วงฝนตก ไม่สะดวกตากผ้า ร้านสะดวกซักก็ตอบโจทย์ได้เช่นกัน เราก็ยังเห็นแนวโน้มที่ดีอยู่ในอนาคต 

5 ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจลงทุนแฟรนไชส์

พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ SME ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ด้วยศักยภาพของแฟรนไชส์ในประเทศไทยที่สามารถเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ อีกทั้งความหลากหลายของประเภทธุรกิจ และขนาดของการลงทุนแฟรนไชส์ที่มีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลายสิบล้านบาท จึงรองรับความต้องการลงทุนที่แตกต่างกันของผู้ประกอบการแต่ละรายได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีข้อได้เปรียบที่ดึงดูดใจคนอยากมีธุรกิจของตัวเอง อาทิ แฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่สามารถเริ่มต้นได้โดยใช้เวลาไม่นาน แม้ไม่มีประสบการณ์ ไม่ต้องเสียเวลาในการบุกเบิกหรือลองผิดลองถูก เพราะเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ หรือ Franchisor ได้อาศัยประสบการณ์ของตนในการทำธุรกิจที่จะขายแฟรนไชส์มาเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการดำเนินธุรกิจ

รวมถึงการวางระบบต่างๆ ให้ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อถ่ายทอดให้แก่ผู้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ หรือ Franchisee ที่เพียงนำมาปฏิบัติตามโมเดลที่สร้างไว้ รวมถึงข้อได้เปรียบด้านชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของแบรนด์มักเป็นที่ยอมรับและติดตลาดอยู่แล้ว ขณะที่การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์และคิดกลยุทธ์การตลาดก็เป็นเรื่องที่ Franchisor ดูแลให้อย่างเป็นแบบแผน

แม้มองเห็นโอกาสสำเร็จจากการสร้างรายได้และการคืนทุนเร็วของธุรกิจแฟรนไชส์ แต่ต้องจำไว้เสมอว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นก่อนที่จะกระโจนเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ เราต้องสำรวจตัวเองและทำความเข้าใจธุรกิจให้ถี่ถ้วนก่อนเดินหน้าลงทุน เราจึงมีคำแนะนำ 5 พื้นฐานต้องรู้ ก่อนลงทุนแฟรนไชส์เพื่อสร้างกำไรอย่างที่ต้องการ เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวสำหรับผู้สนใจธุรกิจแฟรนไชส์ ดังนี้

1. สำรวจความต้องการและเงื่อนไขของตัวเอง เพื่อช่วยหาไอเดียของประเภทธุรกิจที่เราควรลงทุน เพราะการทำธุรกิจในสิ่งที่ชอบและถนัดจะช่วยให้เข้าใจระบบของธุรกิจได้ง่ายขึ้นและอยู่กับธุรกิจนั้นได้นาน ขณะเดียวกันจำเป็นต้องรู้เงื่อนไขของตัวเองเพื่อหารูปแบบแฟรนไชส์ที่เหมาะสม เช่น หากเราไม่มีเวลาบริหารจัดการธุรกิจตลอดทั้งวันก็ต้องเลือกแฟรนไชส์ที่ไม่ซับซ้อนและสำเร็จรูป เช่น ธุรกิจสะดวกซัก หรือ เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เป็นต้น

หากต้องการทำธุรกิจที่มีอิสระในการบริการจัดการด้วยตัวเอง ต้องมองหาแฟรนไชส์ในลักษณะ Products Franchise ที่ให้เฉพาะสิทธิ์ในเรื่องวัตถุดิบ การขายสินค้า และเครื่องหมายการค้า ซึ่งแตกต่างจาก Business Format Franchise ที่ให้สิทธิ์พร้อมระบบและวิธีการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานที่กำหนดไว้เป็นแนวทางให้ปฏิบัติได้ง่าย

2. ศึกษารายละเอียดต้นทุน ค่าธรรมเนียม และระยะเวลาคืนทุน แฟรนไชส์แต่ละแบรนด์มีจำนวนค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ หรือ Franchise Fee ซึ่งเป็นเหมือนค่าธรรมเนียมแรกเข้าเพื่อให้ได้สิทธิ์ และค่าธรรมเนียมสนับสนุนต่อเนื่อง หรือ Royalty Fee ที่ Franchisor จะเรียกเก็บโดยกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ผู้สนใจลงทุนจะต้องวิเคราะห์ดูว่าค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เรียกเก็บนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ มีสิ่งใดตอบแทนกลับมาจากค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายตลอดการดำเนินธุรกิจ

รวมถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้าง การตกแต่งสถานที่ และค่าอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ร้านแฟรนไชส์นั้นสามารถดำเนินกิจการได้ นอกจากนี้ควรพิจารณาในเรื่องของระยะเวลาคืนทุน ซึ่งควรมีระยะเวลาคืนทุนสอดคล้องกับสัญญาแฟรนไชส์เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่า การลงทุนแฟรนไชส์นั้น ผู้ลงทุนจะมีกำไรที่มากขึ้นภายหลังจากระยะเวลาคืนทุน ซึ่งเป็นระยะเวลาเก็บเกี่ยวรายได้ของธุรกิจแฟรนไชส์

3. วิเคราะห์ศักยภาพของแฟรนไชส์ที่จะลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ใด จะต้องวิเคราะห์ตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์ให้ชัด คุณค่าของสินค้าและบริการต้องแตกต่างจากคู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกัน และต้องมั่นใจว่า Franchisor มีเป้าหมายธุรกิจในอนาคตและมีวิธีการทำให้เป้าหมายเกิดขึ้นจริงอย่างชัดเจน และมีข้อมูลความสำเร็จที่น่าเชื่อถือของ Franchisee ปัจจุบันให้เห็นอย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนเองจำเป็นต้องลงศึกษาพื้นที่จริงในหลายๆ สาขา เพื่อทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ คู่แข่ง และกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้องก่อนตัดสินใจเดินหน้าลงทุน

4. การสนับสนุนและช่วยเหลือจากเจ้าของสิทธิ์ เพราะ Franchisor คือ พี่เลี้ยงในการทำธุรกิจ จึงต้องพร้อมเคียงข้างช่วยสนับสนุนให้กิจการของเราไปได้ตลอดอายุสัญญา ก่อนลงทุนจึงต้องมั่นใจว่า Franchisor จะมีการถ่ายทอดโมเดลธุรกิจให้กับ Franchisee ผ่านการอบรมหรือเทรนนิ่งอย่างทั่วถึงด้วยมาตรฐานเดียวกัน และไม่หยุดนิ่งที่จะสร้างสรรค์กลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้กับ Franchisee

เมื่อธุรกิจเกิดปัญหาจะต้องมีระบบที่ดีสามารถส่งทีมเข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงัก และในกรณีประสบวิกฤติเจ้าของแฟรนไชส์มีนโยบายเข้ามาช่วยดูแลหรือไม่อย่างไร ในวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้เราได้เห็นเจ้าของแฟรนไชส์หลายแบรนด์ที่ไม่ทอดทิ้งให้ Franchisee ต่อสู้เพียงลำพัง นับเป็นองค์ประกอบที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน

5. เงินทุนในการดำเนินธุรกิจ หากเรามีเงินทุนของตัวเองเพียงพอกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเริ่มต้นธุรกิจและมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะใช้หมุนเวียนธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องหาแหล่งทุนอื่น สามารถเดินหน้าธุรกิจได้ทันที แต่หากมีเงินทุนไม่เพียงพอ หรือต้องการเก็บเงินทุนของตนเองเพื่อไปเสริมสภาพคล่องในเรื่องอื่นๆ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะสามารถแจ้งความต้องการไปยัง Franchisor เพื่อช่วยประสานกับธนาคารพันธมิตรในการสนับสนุนสินเชื่อ ขอเพียงมีการรับรองจาก Franchisor ก็จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแฟรนไชส์ได้แล้ว


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ