“ทรูคอฟฟี่” แต่งตัวเข้าตลาดหุ้น ขายกาแฟคัพ-น้ำวิตามินดันรายได้ 1,000 ล้านบาท

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ทรูคอฟฟี่” แต่งตัวเข้าตลาดหุ้น ขายกาแฟคัพ-น้ำวิตามินดันรายได้ 1,000 ล้านบาท

Date Time: 18 พ.ย. 2564 06:45 น.

Summary

  • ทรูคอฟฟี่เผยแผนกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 3 ปี เดินหน้าสร้างการเติบโตผ่านการขยายธุรกิจสู่สินค้า FMCG ที่ซื้อง่ายขายคล่อง หลังชิมลางขายกาแฟคัพในร้าน 7–11 ทำยอดขายแตะ 3 ล้านแก้วมาแล้ว

Latest

คาราบาวแดง ตั้งเป้าเพิ่มแชร์ 3% ทะยานสู่แชมป์ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ผนึกไทยรัฐ กรุ๊ป ปีที่ 4 ลุยแคมเปญใหญ่

ทรูคอฟฟี่เผยแผนกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 3 ปี เดินหน้าสร้างการเติบโตผ่านการขยายธุรกิจสู่สินค้า FMCG ที่ซื้อง่ายขายคล่อง หลังชิมลางขายกาแฟคัพในร้าน 7–11 ทำยอดขายแตะ 3 ล้านแก้วมาแล้ว เปิดตัวต่อด้วยน้ำวิตามิน “ทรู วิตามิน วอเตอร์” ดันเป้ารายได้สู่ 1,000 ล้านบาทก่อนเข้าตลาดฯ

นายปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจอาหารและคอฟฟี่ เฮาส์ บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด เจ้าของแบรนด์ทรูคอฟฟี่ (TrueCoffee) เปิดเผยว่า จากจุดเริ่มต้นที่ทรูคอฟฟี่เปิดให้บริการ เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์ให้กับลูกค้ามือถือของทรูเมื่อ 15 ปีก่อน ปัจจุบันสามารถยืนหยัด ขยายธุรกิจเพิ่มเติม สร้างผลกำไรจนนำไปสู่การตั้งเป้าหมายเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอีก 3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล เป็นเจ้าของและบริหารแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มหลากหลาย ประกอบด้วย ทรูคอฟฟี่ ทรูคอฟฟี่โก (TrueCoffee Go) รวมทั้งแบรนด์เบเกอรีชื่อดังจากฝรั่งเศส อย่าง Paul และ Gontran Cherrier

ขายกาแฟคัพใน 7-11 สู่ 3 ล้านแก้ว

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีให้หลัง ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มต้องพยายามปรับตัว หาโมเดลธุรกิจใหม่ๆเพื่อสร้างการเติบโต สำหรับกลุ่มทรูคอฟฟี่ นอกจากการขยับขยายช่องทางจำหน่ายผ่านการดีลิเวอรีแล้ว ยังรวมถึงการก้าวเข้าสู่การจำหน่ายสินค้าในกลุ่ม FMCG (Fast Moving Consumer Goods) หรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่ซื้อง่ายขายคล่อง โดยเมื่อเดือน เม.ย. 64 ที่ผ่านมา ได้เปิดตัวทรูคอฟฟี่คัพ (TrueCoffee Cup) กาแฟพร้อมดื่มจำหน่ายในร้าน 7-11 ซึ่งภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะทำยอดขายทะลุ 3 ล้านแก้วได้

และล่าสุดการเปิดตัวเครื่องดื่มทรู วิตามิน วอเตอร์ (True Vitamin Water) น้ำผสมวิตามินและแร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่ม FMCG ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องจักร สร้างการเติบโต โดยเฉพาะเมื่อจำหน่ายผ่านช่องทาง ที่แข็งแกร่งในเครือทั้งร้าน 7-11 ทุกสาขาทั่วประเทศ ห้างโลตัสและแม็คโคร

“เราตั้งเป้ายอดขายทรู วิตามิน วอเตอร์ไว้ 3 ล้านขวดภายใน 3 เดือนแรก ตลาดน้ำวิตามินแม้จะเป็นตลาดใหม่ แต่มูลค่าไม่น้อย เมื่อปี 62 อยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท และหลังจากนี้จะทยอยเปิดตัวสินค้า FMCG อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สินค้าจากพืชหรือ Plant-based กาแฟสกัดเย็น (Cold Brew) เครื่องดื่มชูกำลัง นมอัลมอนด์ เป็นต้น”

นอกจากการขยายธุรกิจ ผ่านการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติมแล้ว ความท้าทายอีกประการ คือการขยายฐานลูกค้าของทรูคอฟฟี่ให้กว้างขวางมากขึ้น ด้วยการพยายามเก็บตกลูกค้ากลุ่มที่เหลือ เนื่องด้วยทรูคอฟฟี่ถูกริเริ่มจากความต้องการตอบสนองลูกค้ามือถือทรูเป็นหลัก สาขาทั้งหมด 100 สาขาที่มี ส่วนใหญ่จึงฝังอยู่ในร้านทรูช้อป “เราเริ่มจากปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ ซึ่งติดช่วงโควิดพอดี เชื่อว่าโลโก้ใหม่ จะทยอยปรากฎ แก่สายตาลูกค้าทั่วไปครบถ้วนภายในปีหน้า อย่างไรก็ตาม เรายังใช้ชื่อทรูคอฟฟี่เช่นเดิม เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง”

เปิดแฟล็กชิปสโตร์ช่วยกาแฟร้านเล็ก

นายปพนธ์กล่าวว่า ภายใต้เป้าหมายที่ได้รับจากนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ในฐานะบริษัทแม่ คือการนำทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทลเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในอีก 3 ปีข้างหน้านั้น เวลาที่เหลือจากนี้ นอกจากต้องเร่งสร้างการเติบโตของธุรกิจแล้ว การเติบโตนั้นยังต้องเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมๆไปกับพันธมิตรแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของซีพี ด้วยเหตุนี้ ทรูคอฟฟี่จึงได้เปิดตัวแฟล็กชิปสโตร์แห่งแรกขึ้นที่สาขาเซ็นตอร์พอยท์ สยามสแควร์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Roastery & Bakery Café โดยมีหุ่นยนต์ “น้องปุยฝ้าย” โรบอทบาริสต้าตัวแรกของไทยมูลค่า 3 ล้านบาท ที่สามารถ Drip กาแฟด้วย 2 มือกล โดยกาแฟที่ใช้ในสาขานี้ จะเป็นเมล็ดพันธุ์จากโครงการส่งเสริมอาชีพชุมชนทั้งจากสบขุ่น จ.น่าน และแม่กำปอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งซีพีไปช่วยสนับสนุนด้านการตลาด เพื่อให้เกษตรกรเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนั้น สาขาแฟล็กชิปยังจะถูกใช้เป็นเวทีสำหรับร้านกาแฟขนาดเล็กทั่วประเทศ สามารถหมุนเวียนเข้ามาร่วมสร้างสรรค์กาแฟกับทรูคอฟฟี่ เพื่อเปิดโอกาสให้ร้านขนาดเล็ก ได้เข้าถึงลูกค้าในทำเลทองอย่างสยามสแควร์ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเช่า เพื่อสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนไปด้วยกัน

เป้าหมายใหญ่สู่รายได้พันล้าน

นายปพนธ์ยังกล่าวถึงธุรกิจเบเกอรีฝรั่งเศสภายใต้แบรนด์ Paul และ Gontran Cherrier ว่า ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มรายได้จากเครื่องดื่ม คิดเป็นสัดส่วน 40% ของรายได้ทั้งหมด โดยสำหรับโมเดลธุรกิจกับ Paul เป็นการตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาใหม่ ภายใต้ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล ใช้ชื่อว่า Bake House ได้สิทธิ์บริหารแบรนด์ Paul ในไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมทั้งจีน ซึ่งมีเป้าหมายต้องเปิดให้ครบ 500 สาขา ส่วนแบรนด์ Gon tran Cherrier ซึ่งเป็นครัวซองต์ฝรั่งเศสยอดนิยมนั้น เริ่มวางจำหน่ายตามร้านทรูคอฟฟี่ รวมทั้งร้านแฟล็กชิปแห่งใหม่

“ก่อนเข้าตลาดเรามีเป้าหมายรายได้แตะปีละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าการบุกสู่ธุรกิจ FMCG จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสู่เป้าหมาย โดยรายได้ปี 2563 ของทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทลอยู่ที่ 400 ล้านบาท (ไม่รวมรายได้จากสินค้า FMCG) ขาดทุน 90 ล้านบาท จากผลกระทบของโควิดในปีแรก โดยยอดขายเครื่องดื่มทรูคอฟฟี่ทั้งปี 2563 อยู่ที่ 4 ล้านแก้ว”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ