กระแสของโลกปัจจุบันกำลังมุ่งไปที่ดีพเทค (Deep Tech) หรือนวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนบนพื้นฐานจากการวิจัยระดับสูง เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของประเทศไทยในการยกระดับประเทศให้ก้าวสู่ความเป็นดีพเทค หลากหลายมุมมองในการสร้างดีพเทคให้เกิดขึ้นได้ถูกเผยแพร่ออกมาอย่างมากมาย
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะประธานสภาดิจิทัลแห่งประเทศไทย และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย หนึ่งในวิทยากรที่มาทอล์กในหัวข้อ Thailand Innovation Hub : Center of Excellence for Deep Tech ในงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021 (ระบบนิเวศเทคโนโลยีเชิงลึก : โอกาส ความท้าทายและการสร้างคุณค่าเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย) ได้ให้มุมมองในการสร้างดีพเทคในไทยว่า ประเทศไทยจะเกิดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีได้ ต้องมีการวางระบบนิเวศ หรือโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เอื้อต่อการเป็นประเทศนวัตกรรมเสียก่อน
7 ปัจจัยพื้นฐานเพื่อสร้างระบบนิเวศ คือ 1. งบลงทุนรัฐ ด้านเทคโนโลยีและงานวิจัยไทย 10,000 ล้านเหรียญ ต้องต่อเนื่องเชื่อมโยงตลอด นอกจากนี้ ควรมีนโยบายและมาตรการทางภาษีต่างๆ ที่เอื้อให้กองทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพไทยเหมือนกับที่สิงคโปร์ ฮ่องกง ที่กองทุนต่างประเทศเลือกจะไปลงทุน การลงทุนเหล่านี้ต้องใช้เงินมหาศาลซึ่งประสบความสำเร็จแค่หนึ่งหรือสองโครงการเท่านั้น เขาจึงเลือกไปในประเทศที่มีมาตรการภาษี หรือเสียภาษีให้น้อยที่สุด หรือไม่เก็บเลย
ดังนั้น เรื่องภาษีกับกองทุนต่างประเทศไทยต้องให้สิทธิพิเศษ เพราะถ้าภาษีดี ทุนก็จะมา ทุนมาคนเก่งก็จะมา ทำให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้ อันนี้เป็นระบบนิเวศที่สำคัญในการสร้างดีพเทค อย่างประเทศจีนเอาเมืองใหญ่ 3 เมืองมาเชื่อมเป็นเมืองนวัตกรรม และให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับนักลงทุน ทำให้เกิดเป็นอินโนเวชันฮับเพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุน และช่วยสตาร์ทอัพ
2. ส่งเสริม Tech Startup ในอเมริกามีการให้เงินลงทุนกับเด็ก ไม่ใช่แค่ระดับมหาวิทยาลัย แต่ถึงระดับมัธยมศึกษาแล้ว เพื่อสร้างสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้น
3. Excellent Center/มหาวิทยาลัยที่ลงทุนด้าน School of technology ไทยต้องสร้างพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมชุมชนเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่าง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีการลงทุนเพิ่มในเรื่อง School of Science Technology ถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ใช่แค่มหาวิทาลัยฮาร์วาร์ด แต่ในหลายๆ มหาวิทยาลัยในอเมริกาก็ลงทุนในเรื่องนี้ เพื่อสร้างให้เกิดบอสตันและซิลิคอนวัลลีย์ขึ้นมาทำให้ผู้คนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลกมารวมตัวกัน
4. ถ้านักวิทยาศาสตร์ไทย “ไม่รวย” ก็ “ไม่เกิด” โปรเฟสเซอร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยบอกไว้ว่า การพัฒนาประเทศถ้าไม่มีนักวิทยาศาสตร์ นักนวัตกร หรือโปรเฟสเซอร์ด้านวิทยาศาสตร์ที่ร่ำรวย ประเทศนั้นไม่มีทางเจริญได้ เพราะประเทศที่เจริญก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จล้วนมีเทคโนโลยีเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศ และพัฒนาโลก คนจึงเป็นระบบนิเวศแรกที่สำคัญ ไทยต้องมีนักวิทยาศาสตร์ หรือคนที่เรียนสายวิทยาศาสตร์เพื่อทำการค้นคว้า ต้องมีห้องทดลอง ต้องมีศูนย์รวมเรื่องเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกัน แต่อาจไม่ได้สร้างนวัตกรรมร่วมกันก็ได้
5. ดึงนักวิทยาศาสตร์ และ Tech Strartup จากทั่วโลกให้เข้ามา
6. BIG BOYS ตั้งศูนย์วิจัยพัฒนา ไทยเป็นศูนย์กลาง
7. ระบบการศึกษาไทย ที่กองทุนระดับโลกเข้ามาลงทุนในไทยน้อย เพราะมองว่าไทยไม่มีระบบนิเวศในการสร้างคน ดังนั้น การศึกษาพื้นฐานจนถึงระดับมหาวิทยาลัยของไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลง ครูต้องเป็นผู้แนะนำ ส่งเสริม ให้เด็กเป็นผู้ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน และอภิปรายด้วยเหตุผล เพื่อสร้างให้เยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และมีจินตนาการ (Imagination) ในการประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ทำให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ครูต้องทำหน้าที่ดึงศักยภาพของเด็กออกมา ส่วนระดับมหาวิทยาลัยไทยยังไม่มีมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็ง ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยไทยเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระดับโลกให้ได้
ติดตามชมเสวนาออนไลน์จากหลากหลายผู้เชี่ยวชาญ ในงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021” ภายใต้แนวคิด “DEEP TECH RISING …The Next Frontier of Innovation” การยกระดับเทคโนโลยีเชิงลึก...นวัตกรรมด่านหน้าแห่งอนาคตที่จะมาขับเคลื่อนประเทศ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กันยายนนี้ ผ่านเว็บไซต์ https://site.nia.or.th