ค้าปลีกกระอักล็อกดาวน์ โควิดรอบ 3 เกษตรเสียหาย 1.3 หมื่นล้าน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ค้าปลีกกระอักล็อกดาวน์ โควิดรอบ 3 เกษตรเสียหาย 1.3 หมื่นล้าน

Date Time: 10 ส.ค. 2564 07:05 น.

Summary

  • ค้าปลีกเจ็บหนัก! ล็อกดาวน์ 29 จังหวัด ฉุดยอดขายเหลือแค่ 10–20% ยื่นข้อเสนอรัฐช่วยเหลือด่วน ต่อลมหายใจธุรกิจ ประคองจ้างงาน ขณะที่ สศก. ชี้โควิด–19 ระบาดรอบ 3 ตั้งแต่เดือน เม.ย.–ส.ค.64

Latest

เปิดพิกัด “ลอยกระทง 2567” ห้างไหน จัดงานบ้าง

ค้าปลีกเจ็บหนัก! ล็อกดาวน์ 29 จังหวัด ฉุดยอดขายเหลือแค่ 10-20% ยื่นข้อเสนอรัฐช่วยเหลือด่วน ต่อลมหายใจธุรกิจ ประคองจ้างงาน ขณะที่ สศก. ชี้โควิด-19 ระบาดรอบ 3 ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ส.ค.64 ทำบริโภคสินค้าเกษตร ลดลง 13,895 ล้านบาท สวนผักกระทบสูงสุด

น.ส.ชลิดา จันทร์สิริพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ในฐานะเลขานุการกลุ่มค้าปลีกและบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การล็อกดาวน์พื้นที่ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัด ส่งผลให้ยอดขายของกลุ่มค้าปลีกเหลือเพียง 10-20% ของช่วงปกติ เพราะ 29 จังหวัดคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของยอดขายทั้งประเทศ เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมกว่า 41% แล้ว ส่วนร้านสะดวกซื้อ ยอดขายลดลงเช่นกัน เพราะไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมง ขณะที่ในช่วง 16 เดือนที่ผ่านมา หรือตั้งแต่โควิด-19 ระบาดรอบแรกในประเทศในปี 63 ยอดขายของกลุ่มค้าปลีกลดลงถึง 270,000 ล้านบาท จากเดิมในปี 62 มียอดขาย 4.4 ล้านบาท แต่เหลือ 3.8 ล้านบาทในปี 63

“ในกลุ่มค้าปลีก มีธุรกิจคู่ค้า โดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) อยู่กว่า 1.2 ล้านราย และมีแรงงานไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ซึ่งเราพยายามประคับประคองไม่ให้เลิกจ้าง โดยช่วยให้คู่ค้าเอสเอ็มอีเข้าถึงซอฟต์โลน แต่ภาครัฐจัดเงินกู้ให้ไม่ทั่วถึง หากภายใน 30 วันนี้ เอสเอ็มอียังไม่ได้รับเงินกู้ ก็อาจทำให้ต้องปิดกิจการไปกว่าแสนราย นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากโลจิสติกส์ที่มีปัญหาจากการล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิว รวมถึงซัพพลายเชน ที่เป็นโรงงานผลิตสินค้ามีแรงงานติดเชื้อ ทำให้ต้องปิดโรงงานหลายแห่ง ซึ่งจะทำให้การส่งสินค้าให้ห้างล่าช้า และสินค้าอาจหายไปจากชั้นวางในบางช่วง ทั้งๆที่จริงๆแล้ว สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงอาหาร ไม่ขาดแคลนเลย”

ด้านนายสุรงค์ บูลกูล ที่ปรึกษาคณะกรรมการกลุ่มค้าปลีกและบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ สนับสนุนการจ่ายคนละครึ่ง (โค-เพย์เมนต์) สำหรับค่าแรงให้พนักงานในกลุ่มค้าปลีก เพื่อรักษาการจ้างงาน เพราะผู้ประกอบการกำลังจะหมดสภาพคล่อง, ขยายเวลาการลดภาษีให้ภาคเอกชนออกไปจนถึงปี 65 โดยเฉพาะภาษีที่ดิน ภาษีการค้า เพื่อรักษาสภาพคล่อง และมีเงินเลี้ยงดูพนักงาน, ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า, ผ่อนคลายการขนส่งสินค้าในช่วงล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิว เพื่อให้สินค้าเข้าสู่ระบบตามปกติ ไม่ขาดแคลน และพิจารณาให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว เข้าไปซื้อสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าได้ตามปกติ ต่อลมหายใจธุรกิจ

ส่วนนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดระลอก 3 ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ส.ค.64 ที่รุนแรงขึ้นจนมีการล็อกดาวน์ กระทบต่อการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ รวมถึงประชาชนมีรายได้ลดลง ทำให้การบริโภคสินค้าเกษตรลดลง มูลค่าทางเศรษฐกิจหายไป 13,895 ล้านบาท โดยสินค้าเกษตรทุกสาขาได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยสวนผักเสียหายหนักสุด 3,049 ล้านบาท ตามด้วยสวนผลไม้ 2,061 ล้านบาท, การทำนา 2,038 ล้านบาท, ประมง 1,007 ล้านบาท, สัตว์ปีก 908 ล้านบาท, ปศุสัตว์ 650 ล้านบาท, สุกร 616 ล้านบาท, ไข่ไก่ ไข่เป็ด 474 ล้านบาท, ไม้ดอก สมุนไพร 417 ล้านบาท, ไร่อ้อย 351 ล้านบาท

“แต่ถือว่าภาคเกษตรได้รับผลกระทบน้อยสุด เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ โดยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2 ปี 64 ขยายตัว 1.2% จากไตรมาส 2 ปี 63 ที่หดตัวถึง 3.1% เพราะปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น ทำให้การผลิตพืช และปศุสัตว์ดีกว่าปีก่อนอีกทั้งราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิต และการส่งออกขยายตัวดีตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า คาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 64 จะขยายตัว 1.7-2.7%”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ