"ทนายรณณรงค์" อ้างการยกเลิกประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ ทำไม่ได้ ย้ำ คปภ.ต้องออกคำสั่งให้ชัดเจน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของประชาชน
วันที่ 16 ก.ค. 2564 ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ทนายคู่ใจ โดยระบุว่า จากกรณีข่าวที่บริษัทสินมั่นคงประกันภัย ยกเลิกสัญญาประกันภัยโควิดนั้น เรื่องนี้มองว่า คปภ.ต้องออกคำสั่งมาให้ชัดเจน ว่าข้อสัญญาที่ระบุให้ยกเลิกสัญญาได้นั้นมีผลในทางกฎหมายหรือไม่อย่างไร คือโอเคว่าประกันภัยโควิด จัดว่าเป็นสัญญาประเภทหนึ่งตามกฎหมายแพ่ง เมื่อเป็นสัญญาก็อาจมีการบอกเลิกสัญญาได้หากระบุเงื่อนไขไว้ในสัญญา ตามหลักกฎหมายแพ่ง
แต่สัญญาประกันภัยนั้นไม่ได้ยึดหลักแค่กฎหมายแพ่งเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำสัญญากันระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกันก็ตาม แต่มันก็เป็นการทำสัญญาระหว่างนายทุนกับผู้บริโภค ซึ่งประชาชนอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ
ดังนั้นในทางกฎหมายจึงมีกฎหมายเฉพาะที่ออกมาคุ้มครองประชาชน ทั้งพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย, พ.ร.บ.ประกันชีวิต ซึ่งกรมธรรม์ประกันโควิดก็จัดว่าเป็นประกันวินาศภัยแบบหนึ่ง นอกจากมีกฎหมายเฉพาะแล้ว ก็ยังมีหน่วยงานกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.
ซึ่ง คปภ.เนี่ย ก็จะกำกับดูแลบริษัทประกันภัยทั้งหมดเลย ทั้งแบบเงื่อนไขของกรมธรรม์ทั้งหมด ตัวแทนขายประกัน เบี้ยประกัน การเคลมประกัน รวมถึงอนุญาโตข้อพิพาทประกันภัย คือแบบกรมธรรม์ที่ระบุเงื่อนไขต่างๆ ก่อนที่จะเอาออกมาขาย จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน คปภ.ก่อน เบื้องต้นค้นไม่เจอเหมือนกันว่าไอ้ข้อสัญญาที่ระบุให้บริษัทประกันยกเลิกสัญญาได้นั้น ได้รับความเห็นชอบจาก คปภ.มาก่อนหรือไม่ หรือเป็นการระบุเพิ่มเติมภายหลังของบริษัทประกันเอง
แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นไร คปภ.ก็มีอำนาจสั่งได้ตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย คือถึงแม้ข้อสัญญาจะระบุให้ยกเลิกได้ก็ตามแต่ และชอบตามแบบที่นายทะเบียนเคยให้ความเห็นชอบก็ตาม คปภ.ก็สามารถสั่งให้แก้ไข หรือยกเลิกได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของประชาชน แต่ถ้าเป็นกรณีที่แบบกรมธรรม์ ข้อที่ระบุให้ยกเลิกสัญญานั้นไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของนายทะเบียนเลย แต่บริษัทประกันมาเพิ่มทีหลังแบบนี้ ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์นั้นต่อไป หรือจะยกเลิกสัญญาเอาเบี้ยประกันคืน และไม่ว่าผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยจะใช้สิทธิดังกล่าวนี้ประการใดหรือไม่ ย่อมไม่เป็นเหตุให้บริษัทพ้นความผิดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 29 วรรคท้าย)
สำหรับเรื่องนี้ไม่ยาก อยู่ที่ คปภ. เลยที่จะออกมาชี้แจงว่าแบบกรมธรรม์ที่ระบุเงื่อนไขยกเลิกสัญญาแบบนี้นายทะเบียนเห็นชอบด้วยไหม หากเห็นชอบ ก็กล้าๆ จะสั่งยกเลิกหน่อย แต่หากไม่เคยเห็นชอบเลย แต่บริษัทประกันมาเพิ่มเติมทีหลัง แบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน ว่าจะให้บริษัทประกันรับผิดตามสัญญา หรือจะเอาเงินคืน.
ขอบคุณเฟซบุ๊ก ทนายคู่ใจ