ความหวังที่จะเติบโตและประสบความสำเร็จบนเวทีโลก อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเรารู้จักตัวเองมากพอ และค้นพบแนวทางที่จะเดินไปอย่างชัดเจน คุณนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่านั่นเป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งของการริเริ่มโครงการ “Smart Value Creation” เวทีที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยได้พบกับนักวิจัยด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ก่อนจะอาศัยสิ่งนี้เข้าไปขุดค้นตัวตนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นมากพอ และพร้อมจะนำตัวเองไปสู่เวทีโลก วันนี้ “Smart Value Creation 2021” กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เพื่อเผยประตูบานสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย
“ตลาดโลก” กำลังต้องการสิ่งใด?
วันนี้ผู้ประกอบการชาวไทยต่างเดินทางอยู่ภายใต้โจทย์อันหนักหน่วง แต่หลายสถานการณ์ที่ถาโถม ก็ไม่ควรเป็นเหตุผลของการหยุดพัฒนาตัวเอง หากต้องการประสบความสำเร็จในเส้นทางธุรกิจ คุณนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าภายใต้โจทย์ชีวิตใหม่ๆ ที่ต้องรับมือ ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้ค้นพบความโดดเด่นของตัวเองมากกว่าที่เคย เหมือนเช่นที่ผ่านมาที่มีผู้ประกอบการ SMEs ไทยจำนวนไม่น้อย ค้นพบสิ่งนี้เช่นกัน
“ผู้ประกอบการไทยเรามีศักยภาพในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างสูง เพียงแต่ปัจจุบันสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศเองก็เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชัดเจน รวมถึงมีความต้องการสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น สินค้าในปัจจุบันนี้ นอกจากจะต้องมีมูลค่าในตัวเองมากขึ้นแล้ว ยังต้องตอบโจทย์เรื่องสุขอนามัย และความใส่ใจต่อส่วนรวมมากขึ้นด้วย ส่วนการเปลี่ยนแปลงอีกเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในวันนี้คือ การค้าระหว่างประเทศเน้นการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นหากจะก้าวไปให้ถึงจุดนั้นได้ก็ต้องเติมเต็มสิ่งนี้ลงไปด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เองก็ส่งผลให้ตลาดทั่วโลกมีการแข่งขันค่อนข้างสูงขึ้น โจทย์ของเราในวันนี้จึงมีเรื่องเดียว นั่นคือ ทำอย่างไรจะพัฒนาสินค้าได้ตรงต่อความต้องการของตลาดโลก หรือภายใต้นโยบายของท่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เรื่อง “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งเป็นการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลกมากขึ้น ทั้งในแง่ของการเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น และมีนวัตกรรมมากขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาด้วยว่า ทำไมวันนี้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องให้สำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ของสินค้ามากขึ้น ซึ่งการจับคู่นักวิจัยและนักพัฒนากับผู้ประกอบการไทย ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของไทยเรา ให้ก้าวไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้”
จาก “BCG Economy” ถึง “สินค้านวัตกรรม” …โจทย์ที่ต้องขบคิด
ด้วยศักยภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทยในหลายด้าน คุณนันทพงษ์ เชื่อมั่นว่าวันนี้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ยังสามารถก้าวต่อไปได้อีกไกลเช่นกัน เพียงแต่ในวันที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ ก็มีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจมากขึ้นเพื่อความเท่าทันโลก
“หากต้องการก้าวไปสู่ตลาดโลกอย่างเข้มแข็ง และได้รับการยอมรับมากขึ้น สิ่งที่ ผู้ประกอบการ SMEs ต้องมีอย่างมากคือ “นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์” ที่ผ่านมาความคิดสร้างสรรค์ ทั้งที่เกี่ยวกับตัวสินค้าไปจนถึงเรื่องบรรจุภัณฑ์ของไทย ถือว่าทำได้ดีและประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีหลัง เพียงแต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ความคิดสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป นวัตกรรมคือคำตอบหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มขีดขั้นความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น เนื่องจากนวัตกรรม โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้”
นอกจากนี้ทิศทางของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เผยตัวบนเวทีโลกในวันนี้ ยังสัมพันธ์กับแนวคิดของ BCG หรือ Bio – Circular – Green Economy ที่ว่าด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ่าน 3 ปัจจัย อันได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คุณนันทพงษ์ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า BCG Economy เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและผลิตภัณฑ์ผ่านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“วันนี้ BCG หรือ Bio – Circular – Green Economy เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเพิ่มมูลค่าของสินค้าผ่านนวัตกรรม และช่วยตอบคำถามได้ว่า ทำไมนวัตกรรมจึงสำคัญกับการสร้างสรรค์สินค้าและผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างการทำให้สินค้าอาหารกลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าของสารอาหารเพิ่มมากขึ้น หรือตอบโจทย์การทำงานที่มากขึ้น อย่างผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงที่ให้พลังงานค่อนข้างมาก ก็เป็นตัวอย่างจากการนำแนวคิดและนวัตกรรมด้าน “Bio Economy” มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ แน่นอนว่ามีนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์”
นอกจากนี้การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ โดยยึดโยงกับแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ก็เป็นแนวทางหนึ่งของการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมหนึ่งไปเพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ในอีกอุตสาหกรรมหนึ่งอย่างสินค้าในกลุ่มไลฟ์สไตล์ หรือผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดต่างประเทศ ก็เป็นเครื่องสะท้อนหนึ่งของแนวทางสู่ความสำเร็จได้ ในขณะเดียวกันการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ่านแนวคิดรักษ์โลก หรือ “Green Economy” โดยอาศัยนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นตัวช่วย ก็เรียกได้ว่าเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการ SMEs ไทยได้ไม่ยากเช่นกัน
เปิดประตูบานใหม่ให้ธุรกิจ ผ่าน “Smart Value Creation 2021”
วันนี้ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลายเป็นสิ่งที่จะเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กันไปอย่างแนบแน่น เพื่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ โดดเด่น และเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดโลกได้อย่างสง่างาม ซึ่งจากความสำเร็จของผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ “Smart Value Creation จับคู่นวัตกรรม” ในปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ปีนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า จับมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดกิจกรรม “SMART VALUE CREATION – INNOVATION FOR A BETTER FUTURE” ขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้เป็นเวทีเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ไทยกับนักวิจัย ได้ร่วมต่อยอดพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้มีนวัตกรรม พร้อมยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่ม ก่อนออกสู่ตลาดสากลอย่างเป็นรูปธรรม
“Smart Value Creation เมื่อปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ SMEs ไทยหลายรายเข้าร่วมโครงการ โดยจับคู่กับนักวิจัยด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมกว่า 10 คู่ ซึ่งผลการวิจัยออกมาดีมาก ส่งผลให้เห็นว่าสินค้าได้รับการพัฒนา และต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้อย่างไร อย่างผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์ที่มีสารเคลือบผิวที่ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย ก็เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่สอดรับกับความต้องการของตลาดในปัจจุบันอย่างมาก สำหรับ Smart Value Creation 2021 หรือจับคู่นวัตกรรมปีนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีอีกครั้งที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจะได้พบกับนักวิจัยเฉพาะด้าน ที่จะเข้ามาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้มีนวัตกรรม และพร้อมตอบโจทย์ความต้องการสำหรับตลาดโลก สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องมีในวันนี้ มีเพียงสิ่งเดียว นั่นคือความมุ่งมั่นตั้งใจ เพราะหลายครั้งการวิจัยและพัฒนาอาจต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่หากเรามุ่งมั่นและตั้งใจมากพอ การรอคอยความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องไกล”
การเดินเคียงข้างผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้พร้อมเติบโตขึ้นในตลาดระดับสากล ถือเป็นพันธกิจสำคัญอย่างหนึ่งของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพราะไม่เพียงช่วยให้เกิดความสำเร็จในระดับปัจเจกแก่ผู้ประกอบการไทย ผ่านแนวทางการสนับสนุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง แต่ละโครงการเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจระดับประเทศด้วยเช่นกัน ยิ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทย เติบโตมากขึ้นเท่าใด ประเทศไทยก็จะได้รับผลดีมากขึ้นตามไปด้วยเท่านั้น โดยโครงการ Smart Value Creation ในครั้งนี้ก็พร้อมจะเป็นหนึ่งในแนวทางสู่ความสำเร็จนั้นเช่นกัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 นี้ เป็นช่วงที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจได้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการจับคู่กับนักวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นๆ ร่วมกัน ตั้งแต่กระบวนการของการพัฒนาด้านวัตถุดิบ กระบวนการการผลิต ไปจนถึงการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ พร้อมกันนั้นยังมีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ การเพิ่มมูลค่าของสินค้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดโลกมากขึ้น
ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ innovation.ditp2021@gmail.com หรือกลุ่มงานส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการค้า โทร 02-5078267 / 02-5078270 / ผู้ประสานงาน : บริษัท อีเอยู เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด 095-8474807 (ภาวนันทร์)
หรือ สมัครผ่านทาง QR code