สิงห์ เอสเตทรุกธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สิงห์ เอสเตทรุกธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

Date Time: 8 พ.ค. 2564 05:01 น.

Summary

  • บมจ.สิงห์ เอสเตท (S) บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของกลุ่มสิงห์ หรือตระกูลภิรมย์ภักดีที่ได้ขยายธุรกิจออกมาจากธุรกิจเครื่องดื่มซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิม

Latest

คาราบาวแดง ตั้งเป้าเพิ่มแชร์ 3% ทะยานสู่แชมป์ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ผนึกไทยรัฐ กรุ๊ป ปีที่ 4 ลุยแคมเปญใหญ่

บมจ.สิงห์ เอสเตท (S) บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของกลุ่มสิงห์ หรือตระกูลภิรมย์ภักดีที่ได้ขยายธุรกิจออกมาจากธุรกิจเครื่องดื่มซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิม

กับวิสัยทัศน์การเป็น “พรีเมียร์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ อินเวสต์เม้นท์โฮลดิ้ง คัมปานี” ที่สร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยการขยายการลงทุนไปในหลากหลายรูปแบบจากฐานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในโครงการคอนโดมิเนียม ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าเป็นต้น

รวมไปถึงเทกโอเวอร์หรือการเข้าซื้อกิจการโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ และรุกไปธุรกิจโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อความมั่นคงในอนาคต

ล่าสุดได้เข้าเทกโอเวอร์นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ บนเนื้อที่ 1,790 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดอ่างทอง ด้วยการลงนามซื้อหุ้น 100% ของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ในราคาพาร์ จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มูลค่ากว่า 2,421 ล้านบาท

โดยจำนวนเงิน 510 ล้านบาท จ่ายซื้อหุ้นทั้งหมดจากบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด ส่วนอีก 1,726 ล้านบาท เป็นเงินที่จะใช้ในการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ.สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า ดีลนี้เกี่ยวโดยตรงกับโรงไฟฟ้าสามแห่งที่ได้เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนมากพอควร นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ทำให้ธุรกิจของเรามีความเป็น Resilient Business เป็นธุรกิจที่มีความยืดหยุ่น สร้างจุดแข็งเพื่อการเติบโตในระยะยาว จากการส่งเสริมระหว่างธุรกิจ

ด้านนางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า การผสานธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจของบริษัท ทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงาน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วนิคมอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด

ทั้งนี้ การดำเนินกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่ง ซึ่งภายในนิคมฯแห่งนี้ได้เน้นสินค้าอาหารโดยเฉพาะ ทำให้มีความต้องการใช้ไอน้ำจากผู้ประกอบการแปรรูปอาหารต่างๆ ซึ่งโรงไฟฟ้าของบริษัทก็เป็นผู้ผลิตไอน้ำที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย

ขณะเดียวกันกิจการโรงไฟฟ้ายังช่วยให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจากการขายพื้นที่ในนิคมฯ

ยังมองเห็นอนาคตที่สดใสของธุรกิจนิคมฯ ที่ตั้งอยู่ในภาคกลาง ซึ่งมีอัตราการใช้พื้นที่สูงถึง 89% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 80% ในช่วงปีที่ผ่านมา

“นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ยังมีความสำคัญตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศที่มุ่งยกระดับให้เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก โดยทำเลที่ตั้งของนิคมฯแห่งนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารและวัตถุดิบของประเทศ ทั้งแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนม และสัตว์ปีกพร้อมแหล่งน้ำเนื่องจากอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา”

เมื่อเดือน มี.ค.64 ที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตทเปิดเผยแผนการสร้างรายได้ในอนาคต ให้เพิ่มขึ้นสามเท่า กลายเป็นประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี และมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี

สำหรับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด–19 ระลอกสามนี้ คาดการณ์ว่าหากสถานการณ์คลี่คลายลงและผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด จะทำให้ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน.

วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ