“กัลฟ์” เปิดแผนลงทุนอินทัช-เอไอเอส สยายปีกสู่แพลตฟอร์ม-เทคโนโลยี

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“กัลฟ์” เปิดแผนลงทุนอินทัช-เอไอเอส สยายปีกสู่แพลตฟอร์ม-เทคโนโลยี

Date Time: 26 เม.ย. 2564 05:05 น.

Summary

  • บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ออกแถลงการณ์ว่า คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้กัลฟ์ตั้งโต๊ะซื้อหุ้นของบริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ออกแถลงการณ์ว่า คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้กัลฟ์ตั้งโต๊ะซื้อหุ้นของบริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH โดยให้ลงทุนไม่เกิน 81.07% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้ว ในราคาหุ้นละ 65 บาท ขณะเดียวกันก็อนุมัติให้ซื้อหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในราคา 122.86 บาทต่อหุ้น หากกัลฟ์ได้หุ้น INTUCH เพิ่มจนเกิน 50% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมด

การซื้อหุ้นกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มเทมาเสกและสิงคโปร์เทเลคอม (สิงเทล) ของรัฐบาลสิงคโปร์ดังกล่าว ทำให้กัลฟ์ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนกว่า 530,000 ล้านบาทโดยไม่ต้องเพิ่มทุน

ผู้บริหารของกัลฟ์ ให้เหตุผลกับนักลงทุนรายย่อย สื่อมวลชน และทีมเศรษฐกิจ ว่า เขาต้องการแพลตฟอร์มด้านการสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อต่อยอดธุรกิจพลังงาน สนามบิน และท่าเรือของกัลฟ์ให้ดำเนินไปสู่ธุรกิจยุคใหม่ที่เป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์มอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันก็จัดเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ประชาชนคนไทยสามารถเลือกที่จะเข้าถึงธุรกิจของกัลฟ์ได้โดยง่าย เมื่ออนาคตเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีเทคโนโลยีทันสมัยเป็นเครื่องมือเพื่อความอยู่ยงคงกระพัน และต่อยอดสู่การบูรณาการธุรกิจในมือให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

ทีมเศรษฐกิจสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้วางแผนการลงทุนให้แก่กัลฟ์ในอนาคต

สมิทธ์ พนมยงค์
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)

ในฐานะได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการลงทุน ผมและทีมงานเตรียมการในเรื่องนี้มานานและต่อเนื่อง เรานั่งประชุมกัน และจับทิศทางการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ขึ้น ทำให้ตลาดโลกและในประเทศตกใจ

ในช่วงเวลานั้น คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกัลฟ์ จึงขอ ดูสถานการณ์โดยรวมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดว่า หุ้นตัวไหนน่าลงทุน

“ผมเสนอรายงานให้ลงทุนในหุ้นหลายตัว หนึ่งในนั้นคือ INTUCH ผู้ที่นั่งอยู่หัวโต๊ะสั่งให้ไปหารายละเอียดมามากกว่านี้ และยิ่งศึกษาก็ยิ่งเห็นความมีเสน่ห์ Portfolio (ผลการดำเนินงานในอดีต) สวยงาม เป็นหุ้นโครงสร้างพื้นฐานที่น่าลงทุนอย่างยิ่ง และยังเป็นแพลตฟอร์มที่เข้ากับยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงสู่ Digital Transform ได้อย่างแท้จริง”

กัลฟ์ จึงตัดสินใจลงทุนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ 5 เป็น 10–15 กระทั่งถึงวันนี้ กัลฟ์ถือหุ้น INTUCH อยู่ 18.9%

ตามกฎกติกาของตลาด ถ้าจะถือ 25% ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ (Tender offer) หรือคำเสนอซื้อหุ้นจากรายย่อย นั่นเป็นเหตุผลให้เราทำเรื่องเสนอตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อเสนอราคารับซื้อจากผู้ถือหุ้นรายย่อยหุ้นละ 65 บาท จากที่ราคาตลาดเคลื่อนไหวที่ระดับ 50-55 บาท

ชินคอร์ปขายเหมาเข่งมานานแล้ว

หุ้น INTUCH เป็นของบริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นเดิม เมื่อปี 2549 ชินคอร์ปได้ขายเหมาเข่งกิจการทั้งหมดของกลุ่มให้กับบริษัทรัฐวิสาหกิจใหญ่ของสิงคโปร์ชื่อเทมาเสก รวมมูลค่ากว่า 75,000 ล้านบาท

เทมาเสก ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสิงคโปร์ เทเลคอม หรือสิงเทล ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ที่มีข้อมูลของลูกค้ากว่า 20 ประเทศในภูมิภาคนี้ เป็นผู้ถือหุ้นแต่ละบริษัทในเครือ ซึ่งได้แก่ เอไอเอส ไทยคม จนปัจจุบันขนกำไรจากการดำเนินงานทั้งหมดกลับสิงคโปร์ จนน่าจะเกินมูลค่าที่ควักเงินซื้อ 75,000 ล้านบาทไปมากแล้ว

อินทัช ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทชั้นนำที่ลงทุนในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยี และดิจิทัล ที่สร้างมูลค่าอย่างยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มโดยเฉพาะสิงคโปร์

ลักษณะของธุรกิจ ประกอบไปด้วยการลงทุนใน 3 สายธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายในนามเอไอเอส ธุรกิจดาวเทียม ในนามบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และธุรกิจต่างประเทศ ตลอดจนถึงธุรกิจอื่นๆ

การเข้าไปซื้อหุ้นอินทัชของกัลฟ์ จึงไม่ใช่เรื่องการเมืองหรือคอนเนกชันใดๆ ที่กัลฟ์ดูเหมือนจะมีอย่างล้นหลามในยามนี้ หากแต่เป็นการลงทุนล้วนๆอย่างแท้จริง

ยิ่งรู้จัก ยิ่งอยากได้เธอ

อินทัช เป็นธุรกิจแสนล้าน ที่มีพนักงานไม่ถึงร้อยคน แต่กลับมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 176,000 ล้านบาท ข้อมูลจาก “ลงทุนแมน” ให้รายละเอียดของ 3 สายธุรกิจหลักของอินทัชไว้ดังนี้คือ

1.ธุรกิจโทรคมนาคมและโครงข่ายโทรคมนาคม ผ่านการลงทุนถือหุ้นใน ADVANC หรือเรารู้จักกันดีในชื่อ เอไอเอส ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายเพื่อการสื่อสาร, บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่, ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และธุรกิจดิจิทัล เซอร์วิส โดย อินทัช ถือหุ้น ADVANC อยู่จำนวน 1,202.7 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 225,000 ล้านบาท

2.ธุรกิจดาวเทียม และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร ผ่านการลงทุนถือหุ้นใน THCOM หรือเรารู้จักกันดีในชื่อ ไทยคม ซึ่งเป็นผู้ให้บริการธุรกิจดาวเทียม ธุรกิจอินเตอร์เน็ต สื่อ และธุรกิจโทรศัพท์ในต่างประเทศโดยอินทัชถือหุ้นอยู่จำนวน 450.8 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 2,700 ล้านบาท

3.ธุรกิจอื่นๆ เช่น การเข้าไปร่วมถือหุ้นในบริษัทอื่นด้วยการให้เงินทุน (Venture Capital), ธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง, ธุรกิจให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และธุรกิจสื่อโฆษณาซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า อินทัช ก็เป็นผู้ลงทุนรายแรกๆใน บริษัท วงใน ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันรีวิวร้านอาหารชื่อดังของไทยด้วย

แน่นอนว่า ในบรรดาบริษัทที่ อินทัช เข้าไปถือหุ้น ADVANC เป็นบริษัทที่สร้างรายได้ กำไร และจ่ายเงินปันผลให้กับอินทัช มากที่สุด เฉพาะเงินปันผลที่อินทัชได้รับจาก ADVANC ในปี 2562 มีมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท

โดยผลประกอบการของอินทัช ในปี 2560 มีรายได้ 22,543 ล้านบาท กำไร 10,673 ล้านบาท, ปี 2561 มีรายได้ 20,404 ล้านบาท กำไร 11,490 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้ 17,682 ล้านบาท มีกำไร 11,083 ล้านบาท

ธุรกิจแสนล้าน ใช้คนไม่ถึงร้อย

รายได้ของอินทัช ที่ลดลงในปีล่าสุด มาจากการลดลงของรายได้ในส่วนของธุรกิจดาวเทียม และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร จากการให้ส่วนลดกับลูกค้าในการเซ็นสัญญาระยะยาว


แต่ อินทัช ก็ยังสามารถรักษาระดับกำไรที่สูงกว่าหลักหมื่นล้านบาทไว้ได้ ปัจจุบันอินทัชมีมูลค่ากิจการสูงกว่า 176,000 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 19 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ที่น่าสนใจคือ แม้จะเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหลักแสนล้านบาท แต่ในปี 2562 อินทัชกลับมีพนักงานเพียง 61 คนเท่านั้น เหตุผลก็คือ ธุรกิจหลักของบริษัทเป็นการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่น จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้พนักงานจำนวนมากในการดำเนินงานเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ

การเสนอซื้อหุ้นอินทัช จากผู้ถือหุ้นรายย่อยของไทยเพื่อให้มีสิทธิมีเสียงในการบริหารกิจการ หรือร่วมกันบริหารธุรกิจด้วยความเป็นมิตรกับสิงเทล และเทมาเสก ของสิงคโปร์ จึงเป็นการลงทุนที่ถูกต้องแล้ว

“ทุกวันนี้ อินทัชถือหุ้นเอไอเอสอยู่ราว 40% ส่วนสิงเทล ถือหุ้นในอินทัชอยู่ 21% เทมาเสกถืออยู่อีกส่วน รวมกันราว 27% ส่วนกัลฟ์ มี 18.9% เราจะตั้งโต๊ะซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยในราคาสมเหตุสมผลที่มากกว่าราคาตลาด 65 บาท”



อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ ยังต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ก่อนว่า กัลฟ์ จะไม่ขอซื้อธุรกิจดาวเทียม (ไทยคม) จากสิงเทล และเทมาเสกได้หรือไม่ เนื่องจากมีปัญหากับรัฐ และท้ายสุดธุรกิจดาวเทียมน่าจะต้องยุติการดำเนินงานไป

เรื่องของธุรกิจดาวเทียมนี้ สื่อต่างประเทศรายงานว่า นักลงทุนรายใหญ่อย่าง เทสลา ของ นายอีลอน มัสก์ มีความเชี่ยวชาญในการยิงดาวเทียมทั้ง เพื่อการสื่อสารโทรคมนาคม และเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ มีแผนจะยิงดาวเทียมเป็นร้อยเป็นพันดวงขึ้นไปยังอวกาศแม้จะมีต้นทุนที่สูงก็ตาม

ใช้เงินกว่า 500,000 ล้านบาท

เมื่อใด ก.ล.ต.อนุมัติ กัลฟ์ก็จะสามารถตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากนักลงทุนรายย่อยได้ โดยประเมินมูลค่ารวมการซื้อหุ้นจากรายย่อยไว้ 170,000 ล้านบาท ส่วนเอไอเอส ซึ่งมีขนาดของธุรกิจใหญ่โตมากและมีผู้ใช้บริการเป็นอันดับหนึ่งของประเทศนั้น


นายสมิทธ์ กล่าวว่า กัลฟ์ ตั้งราคาเสนอซื้อไว้ที่ 122.86 บาทต่อหุ้น ต่ำกว่าราคาตลาด เนื่องจากโอกาสจะซื้อ เอไอเอส อาจเกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตาม กัลฟ์ เตรียมเงินที่จะต้องซื้อหุ้นเอไอเอส ไว้ประมาณ 365,491.21 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินเพื่อการซื้อหุ้น 2 ตัวนี้ 534,549. 72 ล้านบาท โดย กัลฟ์ จะไม่มีการเพิ่มทุน เนื่องจากมีวงเงินพร้อมซื้ออยู่แล้ว

โดยมีสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศพร้อมสนับสนุนวงเงินเพื่อการซื้อหุ้น

“อินทัช จ่ายเงินปันผลดีทุกปี ที่ผ่านมาปันผลเกินกว่าปีละ 3,500 ล้านบาท มากกว่าภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย 3%ให้แก่สถาบันการเงิน”

เมื่อถามถึงเหตุผลหลักในการลงทุนซื้อหุ้นอินทัช ซึ่งเป็นหุ้นโทรคมนาคม และการสื่อสาร ได้รับคำตอบว่า กัลฟ์ต้องการทรานส์ฟอร์มธุรกิจพลังงานไปสู่ Digital Infrastructure เป็นธุรกิจที่มีการดิจิทัลทรานฟอร์มอย่างแท้จริง เพราะอนาคต เทคโนโลยีดิจิทัล จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก ที่จะทำให้ธุรกิจพลังงานของกัลฟ์ มีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

“ในประเทศใหญ่ๆหลายประเทศ มีแพลตฟอร์มให้ผู้บริโภคเลือกได้ว่า จะใช้พลังงานไฟฟ้า ก๊าซ พลังงานลม หรือพลังงานทดแทน จากบริษัทใด ก็แค่ใช้ปลายนิ้วกดบนแพลตฟอร์มเท่านั้น...

นี่คือสิ่งที่กัลฟ์อยากทำ อยากเสนอขายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้รายย่อยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเช่นนี้ ในขณะที่ยังสามารถใช้แพลตฟอร์มจากอินทัช ไปต่อยอดหลายๆโครงการของกัลฟ์ได้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม นายสมิทธ์ กล่าวว่า กัลฟ์อาจจะเลือกเป็นเพียงนักลงทุนก็ได้ เพื่อจะรับเงินปันผลสูงจากอินทัช นั่นหมายถึงกัลฟ์ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นไปโดยอัตโนมัติ

วิสัยทัศน์การลงทุนของซีอีโอกัลฟ์

การลงทุนของกัลฟ์ในธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคมอย่างอินทัชและเอไอเอส หรือแม้แต่ย้อนหลังไปหาการลงทุนในสนามบิน ท่าเรือ และท่อก๊าซ ล้วนเป็นวิสัยทัศน์การลงทุนของนายสารัชถ์ ซีอีโอของกัลฟ์ ที่แสดงมุมมองทางรอดของประเทศไทยในวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า จะต้องเป็นการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเท่านั้น

นายสารัชถ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเสมอว่า ประเทศไทยมีโอกาสลงทุนตลอดเวลา แต่ปัญหาคือรายได้ของคนรากหญ้าไม่เติบโต ทำให้รายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ไทยไม่ขยายตัว ในขณะที่ความพยายามช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยกลับมีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะระบบสินเชื่อในประเทศเข้มงวดเกินไป

รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือมากขึ้นในทุกด้าน พร้อมกับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้อย่างแท้จริงในระบบเศรษฐกิจ ในเวลาเดียวกันก็ควรดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาด้วยการให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนเพิ่มขึ้นเหมือนๆกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามและฟิลิปปินส์

ที่สำคัญ ไทยต้องมีระบบสาธารณูปโภคสำคัญที่พร้อมรองรับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 5G หรือไปให้ถึง 6G ยิ่งดี

นายสมิทธ์ กล่าวกับเราในตอนท้ายว่า จริงๆ โอกาสทางธุรกิจยังมีอีกมาก และมีช่องทางเป็นร้อยๆช่องทาง “การปรับเปลี่ยนตัวเองให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีในอนาคต เป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจ และอุตสาหกรรมจะสามารถเดินหน้าต่อได้ ผมคิดว่าที่สุด ซอฟต์แวร์ กับฮาร์ดแวร์ มันจะต้องเดินไปด้วยกัน”

จับตาดูกัลฟ์ให้ใกล้ชิด เพราะการซื้อหุ้นอินทัชและเอไอเอส จากมือสิงคโปร์ น่าจะนำไปสู่หนทางการดึงอธิปไตยระบบการสื่อสารและโทรคมนาคมของไทยกลับคืนมา.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ