สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ล่วงเลยมากว่า1 ปีเต็มๆ ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของโลกมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับ วิถีเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการหารายได้จากแหล่งใหม่และเพิ่มรายได้จากแหล่งรายได้เดิม ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เช่นเดียวกับบ้านเราต้องมีการปรับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศกันหลายครั้ง มีการพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องกับโครงสร้างวิถีใหม่ เช่น คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เป็นต้น ก็เพื่อมุ่งหารายได้จากเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เป็นโลกของปัจจุบันและอนาคต เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้โครงสร้างของกระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
พูดถึงรัฐวิสาหกิจก็ต้องพูดถึง ธุรกิจพลังงาน ที่เป็นแหล่งรายได้ที่เกือบจะเป็นแหล่งเดียวด้วยซ้ำที่จะนำรายได้เข้าประเทศ อุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยวและการบริการ ไม่ต้องไปพูดถึง คงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูอีกนาน
แหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซ หรือแหล่งผลิตปิโตรเลียมในบ้านเรา แหล่งใหญ่ที่สุดคือในอ่าวไทย มีสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยอยู่ 4-5 แหล่งด้วยกันที่จะหมดสัมปทานในวันที่ 23 เม.ย.นี้ ก็คือ แหล่งเอราวัณ หลังจากรัฐบาลได้มีการเปิดประมูลในรูปแบบแบ่งปันผลผลิต ปรากฏว่า ปตท.สำรวจและผลิต เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ (ปตท.สผ.อีดี) เป็นผู้ชนะการประมูล มีแผนที่จะเข้าไปผลิตก๊าซฯอย่างต่อเนื่องในปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
เลยมีการตั้งคำถามกันว่า ปริมาณการผลิต และ ความต่อเนื่องในการผลิต ที่จะต้องดำเนินการต่อจากบริษัทเอกชน ทำให้ต้องมีการนำเข้าเชื้อเพลิงสำหรับภาคอุตสาหกรรมในการผลิต เช่น LNG จากต่างประเทศ จะส่งผลกระทบกับต้นทุนในการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ หรือไม่ และการนำเข้า LNG จากต่างประเทศจะกระทบต่อราคาก๊าซหุงต้มหรือไม่ เพราะจะเป็นช่วงของหัวเลี้ยวหัวต่อในการส่งมอบสัมปทาน
เรื่องนี้ อธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท.ได้ออกมาชี้แจงว่า ในการจัดเตรียมแผนการผลิตก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ.อีดี ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานการผลิตแหล่งเอราวัณ ที่จะเริ่มผลิตในเดือน เม.ย.ปี 2565 เบื้องต้นพบว่า มีปัญหาคือไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่ง เอราวัณได้และอาจส่งผลกระทบความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ (เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากเอกชน)
ทาง ปตท.สผ.ได้มีการประสานงานและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเป็นหลัก ได้มีการเจรจากับผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยแหล่งอื่นๆในการเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานของประเทศบางส่วน
นอกจากนี้ ยังมีการเร่งรัดก่อสร้าง LNG Terminal แห่งใหม่ให้สามารถใช้งานได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 และมีแผนสำรอง นำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศลดผลกระทบที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมการผลิตและประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งเท่ากับเป็นการเริ่มต้นในกระบวนการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศและสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับพวกที่คอยจ้องหาเรื่องโจมตี น้ำมันแพง ก๊าซขึ้นราคา ก็จะได้เคลียร์กันล่วงหน้าให้เรียบร้อย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th