“สุริยะ” โชว์ยุทธศาสตร์อุ้มเอสเอ็มอี 2,800 กิจการ แรงงาน 1 หมื่นคน ฝ่าโควิด-19 ระลอกใหม่ ภายใต้งบประมาณ 110 ล้านบาท ผ่าน 3 มาตรการเร่งด่วน เสริมทักษะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน, ใช้เครื่องมือการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์, พัฒนาทักษะเจ้าของกิจการ พร้อมเปิดผลสำรวจเอสเอ็มอีถึงผลกระทบการระบาดรอบใหม่
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อาจรุนแรงน้อยกว่าระลอกแรก แต่ก็เป็นการระบาดในจังหวะที่ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ จึงส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย เพราะการระบาดระลอกใหม่นี้ เสมือนโดนเจาะไข่แดง เห็นได้จากพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทั้ง 28 จังหวัด จึงส่งผลกระทบต่อภาพรวมของภาคอุตสาหกรรม,เอสเอ็มอี, แรงงาน และประชาชนทั่วไป ที่ยังไม่มีภูมิต้านทานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง ทำให้ไม่มีความสามารถในการรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาโดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้ผ่าน
วิกฤตินี้ไปให้ได้
อัดงบ 110 ล้านบาทฟื้น 2,800 กิจการ
ทั้งนี้ ระหว่างเดือน ธ.ค.2563-ม.ค.2564 ผมได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค ทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ ส่งเจ้าหน้าที่ กสอ.ลงไปสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการที่จะให้ภาครัฐช่วยเหลือ เพื่อรวบรวมนำมาวางนโยบายที่สอดรับกับปัญหาของแต่ละพื้นที่ และให้ความช่วยเหลือ แม้ว่าโควิด-19 ระลอกใหม่เริ่มคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง โดยการไปจัดเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการ 1,500 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1,095 ราย หรือ 73% และวิสาหกิจชุมชน (โอทอป) รวม 405 ราย หรือ 27%”
นายสุริยะกล่าวว่า กสอ.ได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อให้ความช่วยเหลือในโครงการนี้ ไว้รวม 110 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ 2,800 กิจการ จำนวนแรงงานที่จะได้รับการช่วยเหลือ 10,000 คน จากจำนวน 350 ผลิตภัณฑ์ และ 28 กลุ่ม/ชุมชน คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทภายในกลางปีนี้
“ผลสำรวจพบว่า 3 อันดับแรกของผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อเอสเอ็มอี คือกำลังซื้อของลูกค้าลดลง 84.87%, การแข่งขันทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้น 66.53% , สินค้าขายได้น้อยลง ที่จำเป็นต้องจัดโปรโมชันลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้า และการลงทุนลดลง 63.05% เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียน รายได้ลดลง การเก็บเงินจากลูกค้าทำได้ยากขึ้น ทั้งยังต้องจ่ายค่าจ้างเพื่อรักษาแรงงานและผู้ประกอบการ 3.08% หรือ 46 รายระบุว่าสามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ ขณะที่ 95.78% หรือ 1,431 รายระบุว่าได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไว้แล้ว และมีการปิดกิจการไปแล้ว 1.14% หรือ 23 ราย”
ผู้ประกอบการร้องขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
เมื่อถามว่าต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเพิ่มเติมหลังการระบาดระลอกใหม่อย่างไรบ้าง พบว่า 35.27% ต้องการให้เพิ่มความช่วยเหลือ ด้านการเงิน อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณา การขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ ขณะที่ 16.87% ต้องการให้เพิ่มความ ช่วยเหลือในการขยายตลาด และ 14.06% ต้องการให้ลดค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า สิทธิในการลดหย่อนภาษีต่างๆ เป็นต้น
ขณะที่จากการสำรวจพบว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่ เอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีการปรับตัวสอดคล้องไปกับแนวทางที่ กสอ.ได้แนะนำไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งการขยายตลาดสู่ออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขาย, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค, การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคการผลิต, การเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศต้นทาง เป็นต้น
“ผมได้สั่งการให้ กสอ. ไปจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในโครงการดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 45 โครงการที่เน้นให้สอดคล้อง กับความต้องการของเอสเอ็มอีในพื้นที่แต่ละแห่งทั่วประเทศ เพื่อต่อยอดกำหนดเป็นนโยบาย ที่เหมาะสมกับบริบทการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีในเชิงรุก โดยกำหนดเป็น 3 มาตรการเร่งด่วน”
เปิด 3 มาตรการพาเอสเอ็มอีพ้นวิกฤติ
ประกอบด้วย 1.มาตรการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ มีทักษะการบริหารการเงินที่ดี (Financial Literacy) ทั้งการวางแผนการบริการจัดการหนี้, การจัดการธุรกิจในภาวะวิกฤติ, การเตรียมความพร้อมการขอสินเชื่อผ่านทักษะการเขียนแผนธุรกิจเพื่อใช้ประกอบการขอสินเชื่อ
2.มาตรการสนับสนุนด้านการตลาดที่พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องใช้เครื่องมือที่เข้าถึงจูงใจให้เกิดความต้องการซื้อสินค้า ซึ่งต้องพัฒนาบุคลากรที่ กสอ.จะส่งคนเข้าไปเป็นเทรนเนอร์ ฝึกฝนนักศึกษาที่เป็น
คนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญการใช้โซเชียลมีเดียให้มีทักษะทางการขายออนไลน์ พัฒนาให้เป็น “นักส่งเสริมการตลาดออนไลน์” ช่วยขับเคลื่อนพลังทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ
3.มาตรการเพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ อาทิ การใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติที่สามารถ เริ่มต้นการทำงานได้เองผ่านการรันโปรแกรมที่วางไว้เพื่อช่วยในการควบคุม หรือสั่งงานของระบบควบคุมอัตโนมัติให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (ออโตเมชัน) เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่บางส่วนมีการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ การใช้ออโตเมชันในภาคการผลิตจะทำให้สามารถคำนวณข้อจำกัดต่างๆ และช่วยให้เกิดการวางแผนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
“นอกเหนือจาก 3 มาตรการแล้ว ยังต้องส่งเสริมผู้ประกอบการเพิ่มเติมให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการฝึกอบรมพัฒนาทักษะเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเครื่องจักร เครื่องทุ่นแรง การวางแผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดภาวการณ์ต่างๆได้อย่างรวดเร็ว”.