นิวเคลียร์..เพลียใจ เหตุผลประโยชน์ชาติ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

นิวเคลียร์..เพลียใจ เหตุผลประโยชน์ชาติ

Date Time: 2 มี.ค. 2564 05:01 น.

Summary

  • “นิวเคลียร์ เพลียใจ”...ประโยคตัดพ้ออันแผ่วเบา จาก “เครือข่ายคนรักษ์นครนายกมรดกธรรมชาติ” ที่เมื่อไม่นานมานี้ออกมาเคลื่อนไหวสะท้อนเงื่อนปัญหาใหญ่ยักษ์ต่อกรณี...

Latest

แมคโดนัลด์เปิด 3 สาขาใหม่ในแหล่งท่องเที่ยวรับเทศกาลปีใหม่

“นิวเคลียร์ เพลียใจ”...ประโยคตัดพ้ออันแผ่วเบา จาก “เครือข่ายคนรักษ์นครนายกมรดกธรรมชาติ” ที่เมื่อไม่นานมานี้ออกมาเคลื่อนไหวสะท้อนเงื่อนปัญหาใหญ่ยักษ์ต่อกรณี...“สำนักงานคลองห้า” ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาธาตุหายาก ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

วันนี้...หากจะพูดถึง “นิวเคลียร์ประเทศไทย” ก็ต้องมองย้อนหลังไปสัก 60 ปี ด้วยเหตุว่าสหรัฐอเมริกาได้บริจาค...กึ่งขาย “เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย” เครื่องแรก...ที่สำนักงานบางเขน รั้วติดมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ที่เรียกว่า...กึ่งขายคือเขาบริจาคเฉพาะตัวเครื่องปฏิกรณ์

ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ก็ต้องซื้อหามาจากบริษัทผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์ (general atomic) อีกทั้ง...การบำรุงรักษาดูแลก็ต้องมีค่าใช้จ่าย

อาจจะกล่าวได้ว่า...เหตุผลหลักที่เป็นเช่นนั้น คือสหรัฐอเมริกาอยากให้ชาวโลกมองตนว่าเป็นผู้รักสันติถึงได้ตั้งชื่อว่า “Atoms for Peace” โดยคำกล่าวนี้โดยประธานาธิบดี ไอเซนต์ฮาว ที่สหประชาชาติในปี 2496

เพื่อลบความทรงจำที่ร้ายๆของชาวโลกที่มองสหรัฐอเมริกา...ตอนไปหย่อนระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมา นางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2488 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3 แสนคน

แล้ว...ก็ส่งมอบความปรารถนาดีนี้ออกไปสู่ชาวโลกด้วยมุมมองที่ว่านี้ แล้วไทยก็ตั้งหน่วยงานชื่อ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ชื่อเดิม) มารองรับในปี พ.ศ.2504 ในปี พ.ศ.2505 เราก็ได้เดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเป็นครั้งแรกแล้วก็ใช้งานเรื่อยมา

หน้าที่หลักคือสร้าง “นิวตรอน” แล้วนำนิวตรอนนั้นไปใช้ประโยชน์ ซึ่งแตกต่างจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลัง มุ่งเน้นเพื่อผลิตความร้อนแล้วนำความร้อนไปใช้ประโยชน์ แต่หลักการด้านนิวเคลียร์เดียวกัน

กล่าวคือ...เป็น “นิวเคลียร์แบบแตกตัว (fission)” ประเด็นน่าสนใจมีว่า...นิวเคลียร์แบบนี้มีผลเสียมากข้อหนึ่งคือมีสารกัมมันตรังสี และ “สารกัมมันตรังสี”...นี่เองคือปัญหาหลักตลอดเวลากว่า 60 ปี?

“ประเทศไทย”...ไม่เคยมีฝังกลบถาวร ไม่ว่าจะเป็น “วัสดุกัมมันตรังสี” และ “รังสี” ระดับใด ก็ยังคงเก็บไว้ในอาคารผิวดิน ส่วนเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เมื่อหมดสภาพก็จะต้องจัดส่งกลับบริษัทผู้ผลิต แต่โดยความเป็นจริงเชื้อเพลิงดังกล่าวสามารถนำมาแปรสภาพ เพื่อสามารถทำให้นำมาใช้ใหม่ได้

“เครือข่ายคนรักษ์นครนายกมรดกธรรมชาติ” ย้ำว่า ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อสหประชาชาติ มีหน้าที่หลักในการให้คำแนะนำหลักการและวิธีปฏิบัติกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ แก่ทุกประเทศในโลก โดยเน้นย้ำหลักการ 2 อย่างหลักคือ...

“เพื่อปกป้องผู้คนและสิ่งแวดล้อม” ประเด็นสำคัญมีอีกว่า...หลักการต่างๆนี่เองที่เป็นแนวทางให้ประเทศต่างๆในโลกต้องปฏิบัติตาม ประเทศไทยเองก็เข้าไปเป็นสมาชิก มีพันธกรณีในการปฏิบัติตามข้อมติต่างๆ และปฏิบัติตามสนธิสัญญา อนุสัญญา รวมทั้งระเบียบ มาตรการต่างๆมากมาย

หากสังเกตให้ดี “IAEA” ไม่ได้มีผลบังคับต่อรัฐ เป็นแต่เพียงข้อแนะนำหลักการหลักปฏิบัติที่ดีในกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ แต่เนื่องจาก IAEA อยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ ดังนั้นก็สามารถบีบบังคับด้วยวิธีอื่นๆได้หลายทางเพื่อให้ประเทศนั้นๆปฏิบัติตาม

กฎระเบียบว่าที่ตั้งสถานประกอบการนิวเคลียร์ต้องอยู่ไกลสนามบินพาณิชย์และแหล่งชุมชน เป็นเหตุผลที่จะต้องย้ายเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จากสำนักงานบางเขนไปยัง อ.องครักษ์ จ.นครนายก ในปี 2533 แต่การย้ายเตาปฏิกรณ์ไม่สามารถทำได้เพราะไม่คุ้ม เลยมีมติคณะรัฐมนตรี สร้างใหม่เป็น 10 เมกะวัตต์ ในปี 2536

โดยวิธีจ้างเหมารายเดียวกัน และได้ผู้ชนะการประกวดราคาคือบริษัทเจนเนอรัลอะตอมมิค (GA) ในราคารวมทั้งหมดประมาณ 3,355 ล้านบาท ในปี 2540...เงื่อนปัญหามีว่าเนื่องจาก GA ไม่มีใบอนุญาตรับรองจาก
หน่วยงานด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา (USNRC) จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความล่าช้า

ประกอบกับขอต่อรองเพิ่มราคาเป็น 6,890 ล้านบาท จนแล้วจนรอด ทำให้ต้องเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันจนถึงปัจจุบัน มูลค่าสูงถึงกว่า 9,000 ล้านบาท

เครือข่ายคนรักษ์นครนายกฯ ตั้งข้อสังเกต เราได้ทำการซื้อเชื้อเพลิงนิวเคลียร์รอไว้ก่อนสร้างเตาปฏิกรณ์มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยสถานะตอนนั้นเป็นการซื้อและฝากไว้ที่ฝรั่งเศส...ถึงวันนี้สถานะปัจจุบันจะเป็นเช่นใดไม่ทราบได้ กระทั่งปี 2553 โครงการได้ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

โดยระบุสรุปในตอนท้ายของรายงานว่าให้ทำโครงการใหม่ โดยไม่เกี่ยวข้องกับโครงการเดิมด้วยเหตุผลหลักคือ “ผลประโยชน์ของชาติ”

...เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไม? ถึงจะต้องเลือกอำเภอองครักษ์ที่เดิม ทั้งนี้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ออกเรื่องเสร็จที่ 286/2552 ชี้แจงในตอนหนึ่งว่า...

แต่การที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติฯ จะมีสิทธิว่าจ้างผู้รับจ้างรายใหม่โดยให้ผู้รับจ้างรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้ก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงยุติได้ว่าผู้รับจ้างเป็นฝ่ายผิดสัญญา

น่าสนใจว่า...หากยึดตามข้อความนี้ นั่นหมายถึง GA ต้องจ่ายค่าปรับสูงถึงกว่า 9,000 ล้านบาทแล้วถึงจะหาผู้รับจ้างรายใหม่ได้ โดยที่ความคุ้มค่าโครงการในยุคปัจจุบัน พ.ศ.2564 ถูกเชื่อมโยงกับ พ.ศ.2535

ทั้งๆที่...รายงานความคุ้มค่าโครงการ พ.ศ.2535 ถูกคิดคำนวณในขนาด 10 เมกะวัตต์ และบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อม ประชากรกายภาพ ของอำเภอองครักษ์เกือบ 30 ปีก่อนนี้...รวมถึงการคัดเลือกพื้นที่อำเภอองครักษ์ ในปี 2533 ถูกนำมาใช้ประกอบในการตัดสินใจในปี พ.ศ.2564

ปัจจุบันมี...มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตองครักษ์ มีโรงพยาบาลศูนย์ ล่าสุดมีทางด่วนนครนายก-สระบุรี ตัดเฉียดผ่านพื้นที่โครงการ

พลิกแฟ้มข้อมูลรายงานความคุ้มค่าปี 2560 ที่ถูกจัดทำขึ้นอีกครั้ง ประเด็นสำคัญมีว่าในครั้งนี้ถูกระบุใน TOR ว่าให้ผู้รับจ้างทำรายงานเก็บเป็นความลับ ทั้งๆที่รายงานนี้ควรเป็นประโยชน์สาธารณะ

เมื่อดูรายงานความคุ้มค่าปี 2563 จากเอกสารตอบกลับจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติฯ โดยผู้อำนวยการสถาบันฯ ระบุว่าจะเสร็จปลายปี 2563 ปัจจุบัน...ก็ไม่ทราบสถานะใดๆอีกเช่นเดิม

ถึงตรงนี้...ความเพลียใจจึงเกิดขึ้น ในเมื่อความคุ้มค่ายังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด แต่กลับเดินหน้าโครงการโดยไม่รีรอ? นับตั้งแต่...ได้เริ่มการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHAI) ครั้งที่ 1 (ค.3) และ 2 (ค.3) เป็นที่เรียบร้อยและได้มีความพยายามจะจัดครั้งสุดท้าย (ค.3) แต่ต้องมีอันเลื่อนไปเพราะพิษโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน

ความจริงที่ไม่ค่อยบอก หรือ...บอกครึ่งเดียว ด้วยเหตุผลบางอย่างบังใจ เช่น นิวเคลียร์แบบแตกตัว (fission nuclear) เป็นช่วงขาลงของเทคโนโลยี จะสังเกตว่าประเทศต่างๆ...ลด...ละ...เลิก แทบทั้งสิ้น

ถ้าเป้าหมายหลักคือการผลิต “นิวตรอน” ปัจจุบันมีเทคโนโลยี fusion nutron generator แล้วด้วย ดังนั้นเปรียบเสมือนการกลับไปใช้กล้องฟิล์ม ในขณะที่มีกล้องดิจิทัลคุณภาพสูงในท้องตลาด

“...ไม่มีแล้วเราจะไม่มีรังสีรักษามะเร็ง...คำนี้ถูกอ้างเสมอเหมือนเอาความเป็นความตายมาขู่ ซึ่งปัจจุบันก็มีไซโครตรอนกำลังสูง มีให้เห็นประจำในโรงพยาบาลใหญ่ๆ มาทดแทนการสร้างไอโซโทปต่างๆ รวมถึงซินโครตรอนกำลังสูงก็สามารถให้กำลังงานที่สูงได้เช่นกัน และอีกหลายๆเรื่องที่ไม่อาจปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือได้”

เรื่องราวยุ่งๆวุ่นๆ “นิวเคลียร์...ผลประโยชน์ชาติ”...คงไม่จบลงง่ายๆอย่างแน่นอน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ