ทำความรู้จักกับ Game Developer ธุรกิจสร้างสรรค์ความบันเทิงในยุคดิจิทัล

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำความรู้จักกับ Game Developer ธุรกิจสร้างสรรค์ความบันเทิงในยุคดิจิทัล

Date Time: 18 ก.พ. 2564 08:30 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • เกมจะเป็นสื่อบันเทิงที่จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต จากทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะทำให้เกมเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางขึ้นและสามารถสร้าง engagement

Latest


วิดีโอเกมเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมเกม Newzoo ระบุว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมเกมทั่วโลกอยู่ที่ราว 1.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 ซึ่งสูงกว่ามูลค่าอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกในปี 2562 กว่า 2 เท่า

โดย EIC มองว่า เกมจะเป็นสื่อบันเทิงที่จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต จากทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะทำให้เกมเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางขึ้นและสามารถสร้าง engagement กับผู้เล่นได้สูงและยาวนานกว่าสื่อบันเทิงประเภทอื่น

ในบทความนี้ EIC ขอนำเสนอธุรกิจการพัฒนาเกมหรือเกมดีเวลลอปเปอร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของอุตสาหกรรมเนื่องจากเป็นผู้คิดค้นพัฒนาเกมใหม่ๆ ออกสู่ตลาด โดยการที่แต่ละเกมจะประสบความสำเร็จได้ นอกจากจะต้องทำให้ผู้เล่นสนุกแล้ว ยังต้องมีโมเดลธุรกิจที่สามารถดึงดูดให้ผู้เล่นชักชวนเพื่อนมาเล่นเกมและขยาย ecosystem ของเกม เพื่อรองรับโมเดลธุรกิจที่หลากหลาย

ปัจจุบันมีเกมดีเวลลอปเปอร์ไทยที่สามารถพัฒนาเกมระดับที่มีคุณภาพและนำเกมไทยออกสู่ตลาดโลกแล้วหลายราย เช่น เกมแนว Horror อย่าง Home Sweet Home ที่ได้สร้างเกมออกมา 2 ภาค กวาดรายได้ในไทยไม่ต่ำกว่าภาคละ 30 ล้านบาท และกำลังจะเปิดตัวเกมใหม่ชื่อ Home Sweet Home Survive หรือเกม Timelie จาก Urnique Studio ที่ขายได้มากว่า 20,000 ครั้งระหว่างการเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2563

เกมดีเวลลอปเปอร์ (Game Developer) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกม AAA และเกมอินดี้ นักพัฒนาเกมหรือดีเวลลอปเปอร์กลุ่มเกม AAA ที่เป็นเกมประเภทที่มักมีทีมงานกลุ่มใหญ่และมีงบประมาณที่สูง เนื่องจากเกม AAA มีรายละเอียดกราฟิกที่สมจริง และมักมีระยะเวลาการเล่นที่มีความยาว เช่น เกมใน Final Fantasy ซีรีส์หลายเกมต้องใช้เวลาเล่นกว่า 30 ชั่วโมงขึ้นไปจึงจะชนะ

ในขณะที่ดีเวลลอปเปอร์ของเกมอินดี้ซึ่งเป็นเกมที่โดยมากใช้งบประมาณไม่สูง มีทีมงานกลุ่มเล็กๆ หรือใช้นักพัฒนาเกมแค่คนเดียว เกม Timelie ที่กล่าวไปข้างต้นมีทีมเพียงแค่ 5 คน โดยทีมอินดี้ดีเวลลอปเปอร์อาจใช้เงินทุนของตัวเองในการพัฒนาเกมหรือระดมทุนจาก crowd funding แพลตฟอร์ม เช่น Indiegogo เป็นต้น

ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยหลายรายสามารถเข้าไปอยู่ใน ecosystem ของอุตสาหกรรมเกมได้ในฐานะอินดี้เกมดีเวลลอปเปอร์ โดยมีเกมอินดี้หลายเกมที่ประสบความสำเร็จและสามารถคืนทุนให้แก่ดีเวลลอปเปอร์ได้ แต่ก็แน่นอนว่าจำนวนผู้เล่นและรายได้จากเกมอินดี้ก็จะไม่สูงเท่าเกม AAA

ส่วนโมเดลธุรกิจในปัจจุบัน ธุรกิจของเกมไม่ได้เน้นการขายตัวเกมเป็นหลัก แต่เน้นการสร้าง network effects ให้ผู้เล่นชักชวนเพื่อนมาเล่นเกม เกมที่มีผู้เล่นจำนวนมากก็ยิ่งมีโอกาสสร้างรายได้ให้กับตัวเกมได้มาก ทั้งยังสร้าง engagement ของผู้เล่นให้อยู่ใน ecosystem ของเกมให้นานขึ้นอีกด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เกม Among Us ที่ให้ผู้เล่น 4-10 คนเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจบนยานอวกาศ แต่มีผู้เล่นที่เป็นเอเลี่ยนแฝงตัวมาเพื่อจะฆ่าทุกคน ผู้เล่นจึงต้องร่วมมือหาว่าใครปลอมตัวมาโดยการโหวตคนที่น่าสงสัยออกจากยานอวกาศ นั่นหมายความว่าเกมนั้นสามารถเล่นซ้ำได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด โดยในเดือนพ.ย. 63 มีผู้เล่น Among Us ทั่วโลกสูงถึง 500 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าความนิยมของเกมที่กลายเป็นกิจกรรมที่เพื่อนนัดเวลามาเปิดตี้กัน

โดยโมเดลธุรกิจแบบดิจิทัลของเกมเอื้อให้เกมดีเวลอปเปอร์สามารถสร้างรายได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น

1. การขายสินค้าดิจิทัลในเกม (in-app purchase) ซึ่งเกมดีเวลลอปเปอร์สามารถสร้างสินค้าดิจิทัลเพื่อนำเสนอผู้เล่นได้อย่างไม่จำกัด เช่น อาวุธ ความสามารถพิเศษต่างๆ หรือสกิน (เครื่องแต่งกาย) ได้ โดยผู้เล่นสามารถซื้อสินค้าที่สร้างบุคลิกภาพของตัวละครของตัวเองในเกมได้ เช่นเดียวกับการแต่งกายเพื่อแสดงออกถึงความเป็นตัวตนในชีวิตจริง ดังนั้น เกมดีเวลลอปเปอร์ก็สามารถหารายได้จากผู้เล่นอย่างสม่ำเสมอจากการนำเสนอไอเท็มใหม่ๆ ที่ผู้เล่นต้องการ

2. การขายสมาชิก (subscription) เพื่อสร้าง recurring revenue จากผู้เล่นประจำ เช่น Nintendo Switch Online membership ที่ให้ผู้เล่นสามารถเล่นเกมกับคนอื่นผ่านออนไลน์ได้ หรือ Fortnite Crew subscription รายเดือนที่ให้ผู้เล่นสามารถเข้าถึงเลเวลต่างๆ เข้าถึงรางวัล และสิ่งของในเกมได้มากกว่าผู้เล่นทั่วไป

3. การขายโฆษณาให้แก่ advertiser ที่ต้องการเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเกมดีเวลลอปเปอร์ยังสามารถสร้างรายได้จากการขายพื้นที่และสภาพแวดล้อมต่างๆ ภายในเกมให้แก่แบรนด์เพื่อทำโฆษณาได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การผสมผสานโฆษณาเข้ากับสถานที่ เครื่องแต่งกาย ไอเท็ม (product placement) ในเกม เป็นต้น

4. เกมที่เป็นที่นิยมยังสามารถใช้เนื้อเรื่อง ตัวละคร และสัญลักษณ์จากเกม ในการนำไปต่อยอดเพื่อผลิตเป็นสื่อบันเทิงชนิดอื่น เช่น ภาพยนตร์ เพลง หรือผลิตภัณฑ์อื่นอย่างสินค้าที่ระลึก (merchandise) และของเล่นจากเกมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้เกมดีเวลลอปเปอร์ได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคือ เกม Animal Crossing ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วง lockdown ได้ออกสินค้า ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา จิ๊กซอว์ เสื้อผ้า และของใช้ในบ้าน

5. เกมที่เล่นแบบหลายคนที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันสามารถผลักดันเกมของตนเองให้เป็นเกมที่ใช้ในการแข่งขันอีสปอร์ตได้ด้วย นอกจากการที่เจ้าของเกมจัดการแข่งขันเองแล้ว เจ้าของเกมสามารถขายใบอนุญาต (license) ให้แก่ผู้จัดการแข่งขัน (organizer) ในการจัดทัวร์นาเมนต์หรือลีคได้เช่นกัน และแบ่งรายได้จากการจัดแข่งขันระหว่างกัน

โดยรายได้จากการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตมาจากหลายช่องทาง อาทิ การขายโฆษณาทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด ค่าตั๋วเข้าชมจากแฟนคลับ และรายได้จากการจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวกับการแข่งขัน (merchandise)

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ecosystem ของอุตสาหกรรมเกมได้ขยายตัวไปมากกว่าการเล่นเกมแล้ว และยังสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ให้แก่ผู้เล่นทางธุรกิจที่สามารถถ่ายทอดความบันเทิงในรูปแบบดิจิทัล สู่ประสบการณ์ในรูปแบบออฟไลน์ได้ โดยเกมมีศักยภาพที่จะดึงดูดผู้เล่นให้อยู่ใน ecosystem ได้เหมือนกับ social media ประเภทอื่น

เช่น Facebook, YouTube หรือ TikTok เนื่องจากกิจกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น แชต แชร์ ฟังเพลง ซื้อขายของ หรือเรียนรู้สามารถทำได้ผ่านเกม ซึ่งแปลว่า ecosystem ของเกม จะขยายใหญ่ขึ้นมากกว่าปัจจุบัน ดังนั้น การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเกมจึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

บทความโดย
พิมใจ ฮุนตระกูล
ผู้อำนวยการฝ่าย Digital and New Business Model
Economic Intelligence Center
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ