น้ำวิตามินยังมาวิน คาดปี 64 ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โต 1.99 แสนล้าน (คลิป)

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

น้ำวิตามินยังมาวิน คาดปี 64 ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โต 1.99 แสนล้าน (คลิป)

Date Time: 28 ม.ค. 2564 11:52 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเทรนด์ฟังก์ชันนอลดริงก์ น้ำวิตามิน น้ำดื่มผสมวิตามิน ยังมาวิน คาดปี 64 ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โตแตะ 1.99 แสนล้าน

Latest


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเทรนด์ฟังก์ชันนอลดริงก์ น้ำวิตามิน น้ำดื่มผสมวิตามิน ยังมาวิน คาดปี 64 ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โตแตะ 1.99 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินมูลค่าตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือ Non-alcoholic Beverage แบบพร้อมดื่มปี 64 รวมน่าจะอยู่ที่ 1.97-1.99 แสนล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 0.5% - 1.5% จากปี 2563 สอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกรณีที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ แต่ยังมีความไม่แน่นอนในการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กำลังซื้อยังเปราะบาง

สำหรับแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มแบบดั้งเดิมและทำตลาด Mass แปรผันตามกำลังซื้อ และสภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก และจะยังรักษาส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้ โดยเครื่องดื่มรูปแบบใหม่ เน้นตอบโจทย์ตลาด Niche ที่มีความต้องการเฉพาะมากขึ้น


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแข่งขันในตลาดจะยังมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด และดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งเราคงจะยังได้เห็นการปรับตัวของธุรกิจในหลายรูปแบบ เช่น

1. การหาช่องว่างของประเภทเครื่องดื่มดั้งเดิม เช่น น้ำผสมวิตามินที่ตอบโจทย์เทรนด์ฟังก์ชันนอลดริงก์ มีการเติมสารอาหาร/วิตามิน แต่มีรสชาติไม่แตกต่างจากน้ำดื่ม และให้พลังงานต่ำ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริงก์ในช่วงแรกที่มีการแต่งกลิ่นแต่งรสชาติ รวมถึงเครื่องดื่มวิตามินต่างๆ เพื่อทดแทนวิตามินจากอาหารได้บางส่วน

2. การตอบโจทย์ตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น กาแฟสำเร็จรูป Specialty อย่างกาแฟ Cold Brew กาแฟจากเมล็ดพันธุ์พิเศษ

3. การมุ่งเน้นเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น เครื่องดื่มชูกำลังรสชาติใหม่และปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากเดิม ให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ที่หันมาเน้นภาพลักษณ์ที่ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้เล่นกีฬา แต่ขยายฐานลูกค้าไปสู่ลูกค้าทุกกลุ่มที่มี Active Lifestyle

นอกจากการแข่งขันในตลาดที่เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะกำลังซื้อที่ยังเปราะบางในปี 2564 นี้แล้ว ยังมีปัจจัยระยะกลางที่ส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจและแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวในหลายด้าน อาทิ

- การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มครั้งที่ 3 ในทางหนึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนในการพัฒนาและทำตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการจัดเก็บภาษีจะมีความเข้มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราขั้นบันไดตามปริมาณน้ำตาลต่อเครื่องดื่มปริมาตร 100 มิลลิลิตร เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 และจะทยอยปรับอัตราขึ้นแบบก้าวหน้าทุก 2 ปี จนถึงอัตราเพดานที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวก็ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาด ซึ่งถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ผลิตทยอยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งสูตรลดน้ำตาล ลดความหวาน หรือใช้สารให้ความหวานทดแทน รวมถึงการมีฉลากสินค้า "ทางเลือกสุขภาพ" ที่จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องไปกับทิศทางความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จะเห็นได้จากสินค้าเครื่องดื่มสุขภาพ เครื่องดื่มให้พลังงานต่ำ และเครื่องดื่มวิตามินที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

- เทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าที่สอดคล้องไปกับความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคยุดใหม่ โดยเฉพาะปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค

อย่างขวดพลาสติกที่มีสัดส่วนปริมาณขยะในทะเลมากที่สุด เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ เครื่องดื่มชนิดขวดแก้ว/กระป๋องอะลูมิเนียม/กล่องกระดาษที่น่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และปรับไปใช้กับเครื่องดื่มหลายประเภทยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการนำขยะบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ประโยชน์ ด้วยกระบวนการรีไซเคิล หรืออัปไซเคิลได้อย่างเป็นระบบ ยังจำเป็นต้องมีระบบการเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์ไปคืนและได้รับเงินสดหรือส่วนลดการใช้บริการต่างๆ ได้ ก็มีโอกาสที่ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยจะนำมาปรับใช้ได้เช่นกัน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ