ไทยได้ประโยชน์ทั้งการค้า-ลงทุน ภาครัฐ-เอกชนประสานเสียงขานรับ “ไบเดน”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไทยได้ประโยชน์ทั้งการค้า-ลงทุน ภาครัฐ-เอกชนประสานเสียงขานรับ “ไบเดน”

Date Time: 22 ม.ค. 2564 08:20 น.

Summary

  • ภาครัฐและเอกชนขานรับ “โจ ไบเดน” ขึ้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชี้ไทยได้ประโยชน์ ทั้งการค้าและการลงทุน ความตึงเครียดจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนจะลดลง เศรษฐกิจโลกจะกลับมาดีขึ้น

Latest

ยกระดับงานสถาปนิก ’68 เพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ รับอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้น

ภาครัฐและเอกชนขานรับ “โจ ไบเดน” ขึ้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชี้ไทยได้ประโยชน์ ทั้งการค้าและการลงทุน ความตึงเครียดจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนจะลดลง เศรษฐกิจโลกจะกลับมาดีขึ้น ขณะที่พาณิชย์มองส่งออกไทยรับอานิสงส์จากมาตรการสหรัฐฯ อัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ ส.อ.ท.มองไทยถูกหวยทั้งการค้าการลงทุน ด้านกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ชี้ต้องระวังนโยบาย สิ่งแวดล้อม อาจทำให้สินค้าหลายกลุ่มได้รับผลกระทบ

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการติดตามนโยบายด้านการค้าของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ พบว่า มีทั้งผลดีและผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนของไทย โดยในส่วนของผลดีการที่ไบเดนมีนโยบายลดความตึงเครียดจากสงครามการค้า โดยใช้วิถีทางของกฎหมายการค้ามากขึ้น การยกเลิกนโยบายโดดเดี่ยว หันมาสร้างพันธมิตร รวมถึงอาจใช้นโยบายจำกัดการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงจากจีน, การฟื้นฟูมิตรภาพกับสหภาพยุโรป (อียู) และให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้นนั้น ส่งผลดีทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับเอเชียดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสการค้าการลงทุนของธุรกิจสหรัฐฯในไทย และเพิ่มโอกาสให้ไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ “ไทยยังได้รับผลดีจากการที่สหรัฐฯ ไม่ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน ในกลุ่มสินค้าที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เคยประกาศขึ้นภาษีไปก่อนหน้านี้ในทันที ก็ทำให้ไทยยังได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯได้”

ส่วนด้านผลกระทบนั้น ไทยต้องระวังกรณีที่สหรัฐฯ จะพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น เช่น เวชภัณฑ์ สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้สหรัฐฯจะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาโลกร้อน และการมุ่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะทำให้สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงสินค้าอื่นๆด้วย นอกจากนี้ ไทยยังต้องระวังเรื่องการย้ายฐานการผลิตมาไทยที่จะลดลง หลังจากสงครามการค้าชะลอตัว เพราะไบเดนมีนโยบายสนับสนุน Buy America ซึ่งจะมีส่วนให้ธุรกิจของสหรัฐฯในต่างประเทศ อาจย้ายฐานการผลิตคืนสู่สหรัฐฯ รวมถึงยังต้องจับตานโยบายด้านการเงินการคลังของสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจส่งผลต่อค่าเงินบาทในอนาคตได้

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเข้ารับตำแหน่งของโจ ไบเดน ส.อ.ท.มองว่าจะส่งผลดีต่อการค้าของไทย เนื่องจากความตึงเครียดจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนจะลดลง เศรษฐกิจโลกจะกลับมาดีขึ้น ความต้องการสินค้าต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิตจะมีมากขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้าไทย รวมถึงจะผ่อนคลายนโยบายอเมริกัน เฟิร์ส ที่ไบเดนจะหันมาสร้างพันธมิตรทางการค้ามากขึ้น เรียกว่าไบเดนมาไทยถูกหวยทุกๆเรื่องทั้งด้านการค้าการลงทุน “ที่สำคัญไบเดนให้ความสำคัญต่อการต่อสู้โลกร้อน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กฎระเบียบมาตรฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของพันธมิตร การค้าการลงทุนของสหรัฐฯ ก็จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกสินค้าทุกประเภทของไทยที่จะส่งไปสหรัฐฯ ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงเรื่องกระบวนการผลิต ที่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

ขณะที่นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า โจ ไบเดน ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการแจกเงินมหาศาล ทำให้ประชาชนสหรัฐฯจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เพราะสามารถส่งออกสินค้าไปขายสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น “ผมมองว่า ประเทศไทยควรเข้าร่วม CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิกโดยเร็ว เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของไบเดน และทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้น”

สำหรับประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เชื่อว่า ไบเดนจะประนีประนอมกับจีนมากกว่าทรัมป์ และอาจเปลี่ยนวิธีการจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เพื่อลดความสามารถในการแข่งขัน ของสินค้าจีนในสหรัฐฯ มาเป็นความพยายามให้จีนเปิดตลาดให้สหรัฐฯขายของในจีนได้มากขึ้น ลดกฎระเบียบการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯในจีน และให้จีนดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเชื่อว่าจะมีการสานต่อมาตรการ CPTPP ด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมของไทยที่น่าจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือในกลุ่ม CPTPP และได้โอกาสส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก และกลุ่มอาหารแปรรูปและอาหารกระป๋อง ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP และการที่สินค้าจากสหรัฐฯ จะเข้ามากระทบผู้ผลิตในประเทศได้แก่ อุตสาหกรรมยา ปุ๋ย อาหารสัตว์ เนื้อสุกร และพันธุ์พืช.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ