“บิ๊กตู่” รับลูกอิตาเลียนไทย แก้ปัญหาเมียนมายกเลิกสัญญาทวาย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“บิ๊กตู่” รับลูกอิตาเลียนไทย แก้ปัญหาเมียนมายกเลิกสัญญาทวาย

Date Time: 20 ม.ค. 2564 08:16 น.

Summary

  • อิตาเลียนไทยส่งหนังสือขอ “บิ๊กตู่” ช่วย หลังถูกเมียนมายกเลิกสัญญาทวาย 7 ฉบับรวด ด้านนายกฯ มอบ “สุพัฒนพงษ์-อาคม” เจรจา มั่นใจจะทำให้ดีขึ้นได้

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

อิตาเลียนไทยส่งหนังสือขอ “บิ๊กตู่” ช่วย หลังถูกเมียนมายกเลิกสัญญาทวาย 7 ฉบับรวด ด้านนายกฯ มอบ “สุพัฒนพงษ์-อาคม” เจรจา มั่นใจจะทำให้ดีขึ้นได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 ม.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อกรณี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ส่งหนังสือขอความช่วยเหลือถึงนายกรัฐมนตรี หลังถูกคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ Dawei Special Economic Zone Management Committee : DSEZ MC) ยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย 7 โครงการรวด โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่ารัฐบาลไทยจะเดินหน้าโครงการทวายต่อหรือไม่อย่างไร และโครงการนี้สำคัญต่อยุทธศาสตร์ประเทศไทยหรือไม่

โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่า กำลังเดินหน้าตรงนี้อยู่ ช่วงที่ผ่านมามีปัญหามากพอสมควร “วันนี้มีการปรับปรุงในการเจรจาความร่วมมือดังกล่าว และได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ไปดูกติกาต่างๆ การคุ้มครองการลงทุนของประเทศต่างๆในอาเซียนเป็นอย่างไร และได้มอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ซึ่งเป็น ผู้เจรจามาก่อนหน้านี้ ได้หารือกับทางการเมียนมาต่อไป คิดว่าน่าจะทำให้ดีขึ้นได้ในส่วนตรงนี้”

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เร็วๆนี้จะหารือร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการร่วมมือไทย-เมียนมา เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา โดยเรื่องนี้ต้องรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อหาทางออกต่อไป “เรื่องนี้ต้องเชิญเอกชนไทยมาให้ข้อมูลก่อน มาถามถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยต้องการข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด”

ทั้งนี้ ต้องยอมว่าโครงการลงทุนในเมียนมา โดยเฉพาะโครงการท่าเรือน้ำลึก เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งเมืองทวาย เป็นเมืองเก่าแก่และเป็นเมืองแห่งท่องเที่ยวด้วย ดังนั้นต้องช่วยกัน เพื่อให้โครงการลงทุนเดินหน้า แต่จะเดินหน้าอย่างไรนั้น ต้องหารือให้ครบถ้วนก่อน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค.64 อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ตามที่อิตาเลียนไทยและคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนภายใต้บริษัทที่จดทะเบียนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ Project Companies รวม 5 บริษัท ได้รับสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก โดยได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ Dawei Special Economic Zone Management Committee : DSEZ MC เพื่อดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่รวม 27 ตารางกิโลเมตร พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จำเป็นต่อนิคมอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 5 ส.ค.58 จำนวน 6 ฉบับ และเมื่อวันที่ 29 มี.ค.59 อีก 1 ฉบับ รวมสัญญาสัมปทาน 7 ฉบับ

แต่เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา Project Companies ทั้ง 5 บริษัท ได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกสัญญาสัมปทานรวม 7 ฉบับ จาก DSEZ MC เนื่องจาก DSEZ MC อ้างว่า Project Companies ผิดนัดไม่ชำระค่าสิทธิตามสัญญาสัมปทาน และไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการ ในการเริ่มดำเนินการ ตามสัญญาสัมปทานได้ โดยอิตาเลียนไทยได้ทำหนังสือชี้แจงและโต้แย้งข้อกล่าวหาของ DSEZ MC แล้ว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ