เปิดวิสัยทัศน์ “วิทัย รัตนากร” ยกระดับออมสินสู่ธนาคารเพื่อสังคมเต็มรูปแบบ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดวิสัยทัศน์ “วิทัย รัตนากร” ยกระดับออมสินสู่ธนาคารเพื่อสังคมเต็มรูปแบบ

Date Time: 14 ม.ค. 2564 08:58 น.

Summary

  • วิสัยทัศน์ในการทำงานต่อพนักงานว่ามีแผนจะผลักดันให้ธนาคารกลับมาเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” หรือ Social Bank อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ธนาคารเข้ามามีบทบาทสำคัญ

Latest

ยกระดับงานสถาปนิก ’68 เพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ รับอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้น

” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประกาศยกระดับสู่ธนาคารเพื่อสังคมเต็มรูปแบบ ปักหมุด “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม” พร้อมดูแลลูกค้าหลัก 3 กลุ่ม เปิดสงครามสินเชื่อรถยนต์กดดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์ลง 8-10% ในไตรมาสแรก ต่อยอดพัฒนา MYMO อุ้มผู้ประกอบการรายย่อยเต็มพิกัด

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยหลังเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ ว่าตนได้ประกาศวิสัยทัศน์ในการทำงานต่อพนักงานว่ามีแผนจะผลักดันให้ธนาคารกลับมาเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” หรือ Social Bank อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ธนาคารเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการ “ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม” ทำให้ประชาชนที่เป็นลูกค้ากลุ่มหลักของธนาคาร เข้าถึงบริการทางการเงิน ลดภาระ ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน และสร้างสังคมที่เป็นสุข

“หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ค.2563 จนถึงขณะนี้รวม 6-7 เดือน จึงมั่นใจว่าสามารถดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เราจึงได้เห็นธนาคารมีบทบาทในการดูแลช่วยเหลือลูกค้าในฐานะธนาคารเพื่อสังคมเพิ่มขึ้นตามแนวทางที่กำหนดไว้”

โดยเฉพาะการเข้าไปดูแลลูกค้า 3 กลุ่มหลัก เพราะเป็นฐานลูกค้าหลักของธนาคารประกอบด้วย 1.กลุ่มคนจน ผู้มีรายได้น้อย อาชีพอิสระ วินมอเตอร์ไซค์ 2.ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า-แม่ค้า เอสเอ็มอี และ 3.กองทุนหมู่บ้าน องค์กรชุมชนที่มีมากถึง 12.8 ล้านราย หรือ 61.6% ของลูกค้าธนาคารทั้งหมด

นายวิทัยกล่าวว่า แผนงานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการสินเชื่อก็คือการประกาศนำธนาคารรุกเข้าสู่ธุรกิจนอน แบงก์ (Non-Bank) หรือ “ผู้ให้บริการการเงิน ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์” อย่าง เต็มตัวที่เป็นที่รู้กันดีว่าสินเชื่อนอนแบงก์ถือเป็นสินเชื่อในระบบที่เป็นที่พึ่งยามยากของคนระดับฐานรากถึงคนชั้นกลาง ทั้งสินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น

“ผมจึงต้องการให้ธนาคารเข้าไปเป็นแหล่งเงินทุนที่ให้สินเชื่อนอนแบงก์ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยในตลาด 8-10% ที่ปัจจุบันเก็บกันสูงถึง 24-28% ต่อปี”

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวก็จะกดดันให้ผู้ประ-กอบการนอนแบงก์รายอื่นๆ ต้องหั่นดอกเบี้ยลงตามเพื่อรักษาฐานลูกค้า ซึ่งจะดึงให้อัตราดอกเบี้ยทั้งตลาดลดลงโดยอัตโนมัติ โดยจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าจากทุกที่เข้ามารีไฟแนนซ์หนี้กับธนาคารได้ เพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ผู้ที่มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสินเชื่อที่ดอกเบี้ยถูกลง โดยปัจจุบันลูกหนี้กลุ่มนอนแบงก์ ทั้งระบบมีมากถึง 25.38 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 481,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อบุคคลและบัตรกดเงินสด 48%, บัตรเครดิต 31% สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ 21%

ขณะเดียวกัน เมื่อปลายปีที่ผ่านมาธนาคารได้ประกาศร่วมทุนกับบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ที่ธนาคารจะเข้าไปลงทุนถือหุ้นไม่เกิน 49% ในบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด เพื่อร่วมให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ที่จะทำให้ดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ลดต่ำลงสู่ระดับ 18% จากปัจจุบันในระบบคิดดอกเบี้ยได้สูงสุดถึง 24% ซึ่งโครงการนี้จะเปิดดำเนินการได้ในไตรมาสแรกนี้

“ปัจจุบันตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์มีมูลค่ารวม 110,000 ล้านบาท แต่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพียง 2.6% มีผู้ใช้บริการ 3-3.5 ล้านคน หากลดดอกเบี้ยลงมาได้จะช่วยลดภาระลูกหนี้ได้จำนวนมาก”

เมื่อมีคนตั้งคำถามว่าเป็น Social Bank หรือโมบายแบงกิ้ง แล้วจะทำให้ธนาคารขาดทุนหรือไม่ นายวิทัยกล่าวชี้แจงว่า ขอทำความเข้าใจว่า ลูกค้าในฝั่ง commercial bank หรือธุรกิจลูกค้านิติบุคคล ธนาคารก็ยังดูแลและทำธุรกิจเหมือนเดิม แต่ก็ต้องมาเน้นลูกค้าฐานรากรายย่อยให้มากขึ้น โดยเอากำไรจากฝั่ง commercial bank มาดูแลลูกค้ากลุ่มนี้เพื่อช่วยเหลือสังคม ดังนั้นแม้เป็น Social Bank ก็ไม่ได้ทำให้ขาดทุนหรือกำไรลดลง ขณะที่ในส่วนของการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ออกตามนโยบายหรือมาตรการรัฐบาล ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลก็ได้ชดเชยให้ธนาคารอยู่แล้ว

สำหรับภารกิจต่อไปก็คือการเข้าไปช่วยลูกหนี้นอกระบบที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ทำให้ต้องแบกรับภาระหนี้นอกระบบ ที่คิดดอกเบี้ยตั้งแต่ 10% ต่อเดือน หรือ 30-40% ต่อปี โดยธนาคารจะใช้เครื่องมือโมบายแบงกิ้ง ผ่านแอป MYMO เป็นหัวหอกเข้าไปทำธุรกรรมในตลาดนี้ เพราะสามารถรองรับลูกค้ารายย่อยได้จำนวนมาก สะดวก รวดเร็วและเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเห็นได้จากการให้เงินกู้เสริมพลัง ฐานรากช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา 10,000 บาท และ 50,000 บาทต่อรายผ่าน MYMO ที่ทำธุรกรรมได้รวดเร็วกว่าการเข้ามาทำรายการที่สาขาของธนาคาร

ล่าสุด ธนาคารได้มีการพัฒนา MYMO เพื่อให้ลูกค้าหรือประชาชนที่เข้ามาใช้ MYMO สามารถขอกู้เงิน และรับชำระหนี้คืนเป็นรายวันได้ เช่น อาชีพอิสระผู้มีรายได้น้อย อาทิ วินมอเตอร์ไซค์ แม่ค้าในตลาดสดที่มีรายได้เป็นรายวันที่สามารถคิดดอกเบี้ย และลดดอกเบี้ยลดเงินต้นการกู้ให้ลูกหนี้เป็นรายวัน และเมื่อลูกหนี้จ่ายหนี้คืนไปถึงระดับหนึ่ง สามารถกู้เพิ่มผ่าน MYMO ได้อีกด้วย MYMO จึงเข้าไปช่วยลูกหนี้นอกระบบ ให้กลับมาเข้าระบบ ช่วยลดภาระดอกเบี้ย ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสินเชื่อ ขณะนี้มีคนโหลด MYMO รวม 8 ล้านราย

ดังนั้น การเป็น Social Bank เต็มรูปแบบ ทำให้ธนาคารต้องเป็นทั้งผู้ให้บริการทางการเงิน และมีบทบาทในการพัฒนา จึงได้มีการกำหนดบทบาทไว้อย่างชัดเจน คือต้องเป็นทั้งแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมให้ผู้มีรายได้น้อย, พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการรายย่อย, ส่งเสริมการออมและสร้างวินัยการเงิน และเป็นแหล่งเงินทุนให้ภาครัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงการช่วยเหลือสังคมในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ได้ช่วยเหลือลูกค้าและประชาชนทั่วไป ผ่านมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐรวม 5 ล้านราย จากการดำเนินโครงการ 18 โครงการ คิดเป็นความช่วยเหลือในวงเงินรวม 70,000 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ