อ่วมล็อกดาวน์-ซมพิษโควิด-19 เศรษฐกิจปี 63 “นกปีกหัก” ร่วงไร้ทิศทาง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อ่วมล็อกดาวน์-ซมพิษโควิด-19 เศรษฐกิจปี 63 “นกปีกหัก” ร่วงไร้ทิศทาง

Date Time: 31 ธ.ค. 2563 06:25 น.

Summary

  • “ส่งท้ายปีเก่า” ในวันสุดท้ายของปี 2563 ก่อนเข้าสู่ปี 2564 ปีฉลู หรือปีวัว ที่เราจะต้อง “อดทน” กับความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

Latest

ยกระดับงานสถาปนิก ’68 เพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ รับอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้น

“ส่งท้ายปีเก่า” ในวันสุดท้ายของปี 2563 ก่อนเข้าสู่ปี 2564 ปีฉลู หรือปีวัว ที่เราจะต้อง “อดทน” กับความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ยังคงต้องดิ้นรนเพื่อที่จะฟื้นตัวจากความเสียหาย และความตกต่ำของเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

และแน่นอนว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายปีนี้ ได้เปลี่ยนแปลงทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ไปในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนยังเชื่อว่าบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19 และความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในปี 2563 ปีที่กำลังจะผ่านไปก็จะช่วยให้ “คนไทย และเศรษฐกิจไทย” ซึ่งเคยเผชิญหน้ากับความทุกข์ยาก หดหู่ และความเสียหายทางเศรษฐกิจตลอดปีเก่า “ชนะโควิด-19 ได้อีกครั้ง”

“ทีมเศรษฐกิจ” ใช้โอกาสนี้ “เหลียวหลังย้อนมองภาพเศรษฐกิจไทย” ตลอดปีที่ผ่านมา โดยย้อนกลับไปในแต่ละไตรมาส เพื่อใช้เป็น “กำลังใจ” ช่วยให้ทุกคนมีแรงฮึดที่จะฟันฝ่า พาตัวเราให้กลับมายืนขึ้นใหม่อีกครั้งอย่างมั่นคงขึ้นในปีใหม่นี้

ไตรมาสแรก : สะดุดพิษโควิด ผับ-สนามมวย Super Spreader

ทั้งนี้ หากหมุนเวลากลับไปในช่วงต้นปี 2563 เราเริ่มต้นปีนี้ ด้วยความสดใสในระดับหนึ่ง

การพยากรณ์ทิศทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ ในช่วงปลายปี 2562 ท่าม กลางการเริ่มต้นระบาดของโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจของเอกชน ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2-4% จากปี 2562 ที่ผ่านมา

โดยการท่องเที่ยว ถือเป็นพระเอกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความล่าช้าของการเริ่มใช้งบประมาณรายจ่ายในปี 63 ของรัฐบาล ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ของรัฐบาลมีความล่าช้า ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ต่อการส่งออกของไทย ได้ฉุดให้แนวโน้มการขยายตัวของจีดีพี ไทยลงบ้าง

แต่จุดที่ทำให้ชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และส่งผลให้กิจกรรมและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจไทยลดฮวบลงทันที คือ การระบาดที่รุนแรงขึ้นของโควิด–19 ในประเทศไทย หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด–19 เพิ่มขึ้นรวดเร็ว และแตะระดับมากกว่า 100 รายต่อวัน จากกรณีการติดเชื้อจากสนามมวย และสถานบันเทิงย่านทองหล่อในช่วงเดือน มี.ค.

วันที่ 17 มี.ค.คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบค. ให้ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคชั่วคราว เพิ่มเติมจากการปิดน่านฟ้า และปิดชายแดนที่ประกาศในช่วงปลายเดือน ม.ค.

โดยขอให้ปิดมหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา ปิดผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณและโรงมหรสพ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ งดจัดกิจกรรมที่รวมคนจำนวนมาก เช่น คอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า กิจกรรมทางศาสนา ขอความร่วมมือภาคเอกชนให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from home) เหลื่อมวันทำงาน ขณะเดียวกัน มีคำสั่งปิดไม่มีกำหนด สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

วันที่ 21 มี.ค. ประกาศปิดเพิ่มเติมร้านอาหาร โดยให้เปิดเฉพาะ การจำหน่ายเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น ปิดห้างสรรพสินค้า เว้นแต่ซุปเปอร์มาร์เกต ร้านขายยาหรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และร้านสะดวกซื้อ ปิดตลาดและตลาดนัด เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด-แห้ง อาหารปรุงสำเร็จ ร้านอาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ปิดโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร

ปิดร้านเสริมสวย ตัดผม สถานที่บริการสัก สถานที่เล่นสเกต โรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่นๆ ปิดสวนสนุก โบว์ลิ่ง ตู้เกม ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต ปิดสนามกอล์ฟ สนามซ้อมกอล์ฟ สระว่ายนํ้า สนามชนไก่ สนามซ้อมชนไก่ รวมทั้งปิดศูนย์พระเครื่อง พระบูชา ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม-จัดนิทรรศการ สถานบริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกความงาม สถานเสริมความงาม ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อความงาม อาบนํ้า ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์ อาบ อบ นวด อบไอนํ้า อบสมุนไพร โดยให้ปิดตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.

จากนั้นวันที่ 25 มี.ค. รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผลตั้งแต่ 26 มี.ค.- 30 เม.ย.2563

สิ้นสุดไตรมาสแรกของปี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวติดลบ 1.8%

ไตรมาส 2 : ล็อกดาวน์ประเทศ-ธุรกิจปิดตาย-เสียหาย 2 ล้าน ล.

เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของปีท่ามกลางความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศยังไม่ดีขึ้น วันที่ 2 เม.ย. รัฐบาลได้ประกาศเคอร์ฟิว หรือการห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกาถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น รวมทั้งประกาศยกเลิกเทศกาลสงกรานต์ และปีใหม่ไทยในช่วงวันที่ 12-15 เม.ย.ด้วย รวมทั้งได้มีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบของการดำเนินการดังกล่าวได้ทำให้ภาคธุรกิจ และภาคแรงงานเดือดร้อนอย่างหนัก โดยธุรกิจที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวจากคำสั่งของภาครัฐ และปิดกิจการเองเพราะไม่มีกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนใหญ่เลือกที่จะให้ลูกจ้างหยุดงาน โดยไม่ได้รับเงินค่าจ้าง รวมทั้งปลดพนักงานบางส่วนเพื่อรักษากิจการไว้ นอก จากนั้น ยังมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจปิดกิจการถาวร เพราะสู้ไม่ไหว

โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงคือ ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร โรงแรม สายการบิน สันทนาการ และการบันเทิง รวมถึงธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่ง “ทีมเศรษฐกิจ” ได้รายงานไว้ในรายงานธุรกิจดาวรุ่งและดาวร่วงของปีนี้ ที่ตีพิมพ์ในวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า มีจำนวนแรงงานไทยทั้งที่ตกงานจริงๆ และต้องลดเวลาการทำงานลง เหลือทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน ในไตรมาสนี้ในอัตราที่สูงมากกว่า 3 ล้านคน ซึ่งกระทบรุนแรงต่อรายได้ของแรงงาน รายได้ของครัวเรือน การผ่อนส่งหนี้และใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งกระทบต่อเนื่องโดยตรงต่อรายได้ของธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จากความซบเซาเกิดขึ้นทุกหัวระแหง

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยที่มาจากการล็อกดาวน์เศรษฐกิจนั้น คาดกันว่ามีการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ มีความเสียหายรายวันประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาทต่อวัน โดยพบว่า ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เป็นไตรมาสที่การขยายตัวเศรษฐกิจไทยตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เลวร้ายกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในช่วงปี 2540

สิ้นไตรมาสที่ 2 สศช.รายงานตัวเลขการขยายตัวของ GDP ประเทศไทยในระดับติดลบ 12.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน และเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ โดยหากคิดจากมูลค่าของ GDP ณ ราคาปัจจุบันที่ลดลงเทียบไตรมาสที่ 2 ปีนี้และปี 2562 ที่ผ่านมา จะพบมูลค่า GDP ไทยหายไปมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมูลค่าที่ลดลงนี้ จะสะท้อนด้วย “ความเป็นอยู่ที่แย่ลงของคนไทย”

ไตรมาส 3 : เอาอยู่-คุมโควิดได้-เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น

อย่างไรก็ตาม การยอม “กลืนเลือด” อย่างยากลำบากได้ทำให้ “ประเทศไทย” กลายเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถควบคุมการ แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้

เราสามารถคงอัตราการติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ได้ยาวนาน และส่งผลให้รัฐบาลสามารถที่จะผ่อนคลายข้อกำหนดในการล็อกดาวน์ และเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ภายในเวลาประมาณ 5 เดือนหลังการล็อกดาวน์

นอกจากนั้น การออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ ทำให้คนไทยเริ่มมีความมั่นใจในการใช้จ่าย และออกไปเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้า งานแสดงดนตรี การจัดงานอีเวนต์ที่กลับมาจัดมากขึ้น ได้ช่วยฟื้นฟูความเสียหายจากการล็อกดาวน์ได้ทีละเล็กทีละน้อย

ประกอบกับอีกข้อดี คือภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวได้ จากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมทั้งประเทศไทยได้รับคำสั่งซื้อในหลายหมวดสินค้าเพิ่มขึ้น จากผลของการเป็นประเทศที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม นักลงทุน และมีแผนที่เปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นการทั่วไป

ดังนั้น เมื่อจบไตรมาส 3 เรามีความหวังที่ว่า “เศรษฐกิจไทย” อยู่ในทิศทางของการทยอยฟื้นตัว แม้จะต้องใช้เวลาแต่ “เรามาถูกทางแล้ว” โดย สศช.เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 โดยติดลบที่ 6.4% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ไตรมาส 4 : กรุงแตก-โควิดพุ่งรอบใหม่-ติดตามภาคต่อไปปี 64

เดินทางมาถึงไตรมาสที่ 4 ไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งตามปกติจะเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองของปีที่มีการท่องเที่ยว และใช้จ่ายสูง และในช่วงต้นของไตรมาสข่าวความคืบหน้า และผลสำเร็จในการคิดค้น และเริ่มใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ของหลายบริษัทในหลายประเทศทั่วโลก สร้าง ความหวังและความดีใจให้กับคนทั่วโลก รวมทั้งคนไทย

และไม่ใช่แต่คนไทย นักลงทุนทั่วโลกก็คาดการณ์เช่นกันว่า หลังจากเริ่มใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ทั้งจากการลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยว ส่งผลให้มี “เงินร้อน” ไหลเข้ามาเก็งกำไรในประเทศไทยจำนวนมาก และส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าอย่างรวดเร็วหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่มีจำนวนแรงงานที่กลับเข้ามาทำงานในระบบแรงงานเพิ่มมากขึ้น

สถาบันวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจทั้งรัฐและเอกชน เตรียมที่จะปรับขึ้นประมาณการการขยายตัวของ GDP ทั้งปีนี้ของไทย และคาดว่าในปีหน้าเศรษฐกิจจะกลับขึ้นไปเป็นบวก โดยล่าสุด ธปท.ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ว่าจะติดลบเพียง 6.6% ลดลงมากจากการประมาณการครั้งแรกๆที่ 8.1%

อย่างไรก็ตาม ข่าวร้ายที่สุดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นจนได้ เพราะ ณ วันนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ซึ่งมีความรุนแรงของการแพร่ระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่าระลอกแรก โดยเริ่มจากการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวใน จ.สมุทรสาคร และล่าสุดแพร่กระจายไปทั่วประเทศ และทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ และปีหน้ามีแนวโน้มสูงที่จะดิ่งลงต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยคาดกันว่า ความเสียหายของเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 45,000-60,000 ล้านบาท

และแม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีคำสั่งล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าทุกคนสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของความเงียบเหงา โดยเฉพาะเมื่อทุกฝ่ายพร้อมใจกันยกเลิกการจัดกิจกรรมรื่นเริงในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และแม้ยังไม่มีการล็อกดาวน์ แต่เราเริ่มเห็นสัญญาณของการลดลงของการใช้จ่าย และการตัดสินใจชะลอการลงทุนออกไป รวมทั้งได้เห็นลูกหนี้หารือกับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น

นอกจากนั้น โอกาสที่เราจะกลับมาใช้ชีวิตปกติ และเตรียมการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศคงยืดระยะเวลาออกไปโดยไม่รู้กำหนด เพราะวันนี้เราต้องกลับมา “ยกการ์ดสูง” ปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขในการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด เพื่อความหวังที่จะยุติ “ดาวกระจาย” ของการแพร่ระบาดระลอกใหม่โดยเร็ว และไม่กระทบรุนแรงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

***********

ท้ายที่สุด ท่ามกลางความไม่แน่นอน และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่พุ่งขึ้น “สูงปรี๊ด” อีกครั้ง หลังการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ซึ่งในรอบนี้มีผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ ทั้งแรงงานต่างด้าว และคนไทยรวมกันแล้วแตะหลักพันในเวลาอันรวดเร็ว ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ให้เวลา รัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์ครั้งนี้ให้ได้ โดยไม่มีการล็อกดาวน์ประเทศภายใน 1-2 เดือน หากไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

แล้วหนทางข้างหน้าของเศรษฐกิจไทย และประเทศไทยในปี 2564 จะเป็นอย่างไร ประเทศไทยมีโอกาสรอดมากแค่ไหน และ อะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามใกล้ชิด และจะระวังอย่างไรไม่ให้เหยียบถูก “กับระเบิด” ที่ซ่อนอยู่

ในหน้า 7 หรือในหน้าถัดไปนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ผู้นำของหน่วยงานที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทย ทั้งใน 3 ภาค คือภาคการคลัง นโยบายการเงิน และหน่วยงานที่เป็น “คลังสมอง” ของประเทศ

เริ่มต้นด้วย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) ตามมาด้วย “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และปิดท้ายด้วย ดร.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รวมพลัง "ฟื้นฟูประเทศ" คลัง-ธปท.-สภาพัฒน์ มองทิศทางเศรษฐกิจปี 64

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2564 เศรษฐกิจจะยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการเติบโตของเศรษฐกิจเมื่อเทียบปีต่อปีจะกลับเป็นบวกในไตรมาส 2 และทั้งปีจะโตได้ที่ 3.2% แต่อย่างไรก็ตาม จะสังเกตพบการฟื้นตัวในครั้งนี้ของแต่ละภาคธุรกิจมีไม่เท่ากัน (uneven) และเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช้เวลา

“ที่บอกว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้ว จะดูได้อย่างไรว่าฟื้นกลับมาเท่าไหร่ ถ้าดูจากตัวเลขจะเห็นว่า บางธุรกิจฟื้นกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว เห็นได้จากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นกลับมา 101% ของระดับก่อนโควิด และการส่งออกสินค้าที่ฟื้นกลับมา 98% รวมทั้งการผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็กลับมา 97% แล้ว”

แต่ถ้าถามว่าเศรษฐกิจฟื้นกลับมาเหมือนเดิมจริงหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่”

ในขณะที่ เราเห็นบางภาคธุรกิจฟื้นได้ดี บางธุรกิจ เช่น โรงแรมฟื้นกลับมาประมาณ 34% ของระดับก่อนโควิดเท่านั้น อีกทั้งรายได้คนบางกลุ่มก็ยังหายไปเยอะ เห็นได้จากจำนวนคนที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน ที่เรียกกันว่า “ผู้เสมือนว่างงาน” ในเดือน พ.ย. ก็ยัง สูงอยู่ที่ 2.2 ล้านคนเทียบกับก่อนเกิดโควิดที่ 1.9 ล้านคน

อีกอย่าง คือ การฟื้นตัวรอบนี้ต้องใช้เวลา เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด และกว่าจะเห็นกลับมาเท่าเดิม คาดว่าเป็นช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565 หรือใช้เวลาอีกถึงเกือบ 2 ปี

“ต้องยอมรับว่า ที่เราใช้เวลานานกว่าคนอื่น เพราะเราโดนหนักกว่าคนอื่น เห็นได้จาก GDP ทั้งปี 2563 ของไทยหล่นไปเหลืออยู่ 93% ของปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโควิด โดยหนักกว่าเกือบทุกประเทศในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย (94%) สิงคโปร์ (94%) อินโดนีเซีย (98%) และเกาหลีใต้ (99%) และเมื่อดู GDP ปี 2564 ก็คาดว่าเราจะฟื้นมาอยู่ที่ 96% ของปี 2562 แต่ GDP ของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ น่าจะกลับไปเท่ากับหรือดีกว่าก่อนโควิดแล้ว”

และเหตุที่เราโดนหนักกว่าคนอื่นก็เพราะ 1.เราพึ่งพาท่องเที่ยวสูงมากถึง 11% ของ GDP ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคพึ่งพาน้อยกว่าเรามาก เช่น ฮ่องกง 7% สิงคโปร์ 6% และอินโดนีเซียแค่ 2% และเรามีจำนวนแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสูงถึง 20% ของแรงงานทั้งหมด 2.การส่งออกสินค้าฟื้นตัวช้าสุดเทียบกับประเทศหลักในภูมิภาค เพราะไทยส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้า เช่น ยานยนต์และเครื่องจักรและอุปกรณ์ ส่วนสินค้าที่ฟื้นตัวได้เร็ว เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เรามีสัดส่วนส่งออกน้อยกว่าประเทศอื่น แถมเราช้ากว่าคู่แข่งในการพัฒนาความสามารถการแข่งขัน โดยเฉพาะเวียดนามที่ทำ FTA (Free Trade Agreement) กับประเทศต่างๆ มากกว่าไทยเกือบ 3 เท่า

3.ไทยโดนซ้ำเติมจากหนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด ซึ่งอยู่ราว 80% ของ GDP และเพิ่มขึ้นอีกหลังโควิดเป็น 84% สูงกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายของประชาชน

“การฟื้นตัวในระยะต่อไปอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง 2 เรื่อง คือ การระบาดของโควิดในไทยช่วงสิ้นปีนี้ถึงต้นปีหน้า หากขยายเป็นวงกว้าง ควบคุมได้ช้าอาจทำให้การบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้นมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดทรุดลงอีกครั้ง และต้องติดตามการท่องเที่ยวว่าจะฟื้นในช่วงปลายปีหน้าตามที่หวังไว้หรือไม่เพราะยังมีความไม่แน่นอนหลายด้าน”

โดยเฉพาะประสิทธิผลและแผนการกระจายการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้ประชาชน ซึ่งจะกระทบการท่องเที่ยว เพราะแม้คนไทยจะฉีด แต่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาไทยไม่ได้ฉีด เราอยากจะให้มาเที่ยวเมืองไทยไหม หรือถ้าเราเองไม่ฉีด แล้วนักท่องเที่ยวที่มาฉีด ก็อาจมีทั้งประเทศที่ยอมและไม่ยอมมา คนจีนที่มาเที่ยวไทยสูงถึง 28% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดอาจจะยังไม่มาจนกว่าไทยจะมีวัคซีน ส่วนประเทศอื่นที่ได้ฉีดวัคซีนก่อน เช่น สหรัฐฯและอังกฤษ ซึ่งมักจะอยู่เที่ยวนานกลับมีสัดส่วนเพียง 5% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้วัคซีนมาก็ไม่ได้แปลว่าจะช่วยเศรษฐกิจไทยทั้งหมดได้ เราจึงไม่ควรรอ ใครช่วยอะไรได้ต้องรีบทำ

“แม้เศรษฐกิจไทยจะมีความเสี่ยง แต่เรามั่นใจว่าประเทศจะผ่านวิกฤติไปได้ เพราะการฟื้นรอบนี้อยู่บนพื้นฐานที่ดี ทั้งจากความมั่นคงด้านต่างประเทศ และระบบการเงินที่เข้มแข็งกว่าวิกฤติปี 2540 ที่ชัดที่สุดคือ เรามีหนี้ต่างประเทศต่ำ เงินสำรองฯสูงจึงเพียงพอรองรับ shock จากตลาดการเงินได้ และรอบนี้ระบบธนาคารเข้มแข็ง เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 20% ติดอันดับ 3 ในภูมิภาค ด้านการคลัง หากเทียบกับอดีตยังเข้มแข็ง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังต่ำเทียบกับที่ผ่านมา ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1-1.2% แสดงว่ายังมีกระสุนที่จะดูแลเศรษฐกิจอยู่”

ดังนั้น แม้ครั้งนี้อาการจะหนัก แก้ยาก แต่พื้นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง และด้วยความร่วมมือร่วมใจของทั้งภาครัฐและเอกชน
ทำให้เรามั่นใจว่าประเทศไทยจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เศรษฐกิจปี 2564 ถ้าเราดูตามเงื่อนไข ณ วันนี้ว่า จะมีวัคซีนเข้ามาเดือน มิ.ย.2564 หรือในครึ่งปีหลัง ฉะนั้น ช่วงครึ่งปีแรกยังต้องบริหารเศรษฐกิจบนความไม่แน่นอน โดยเฉพาะจากการระบาดของโควิด–19 จึงต้องใช้วิธีประคับประคองเศรษฐกิจไปก่อนด้วยมาตรการภาครัฐที่มีอยู่

ขณะเดียวกัน งบประมาณปี 2564 ที่ออกมา 3 เดือนแล้ว จะต้องเร่งการเบิกจ่ายของภาคราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปีงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย

“สิ่งที่ต้องห่วงของปี 2564 คือเรื่อง “แรงงาน” ที่จะต้องดูสถานการณ์ช่วงครึ่งปีแรก ต้องจับตาดูการลงทุน การส่งออก ถ้าต่างประเทศไม่ได้มีวิกฤติมากถึงขนาดต้องล็อกดาวน์กันเยอะๆอีกรอบ การส่งออกก็ไปได้ เพราะเศรษฐกิจภายในประเทศเดินไปได้ระดับหนึ่ง ค่อยๆ ผงกหัวขึ้นอยู่แล้ว ก็จะมีเรื่องแรงงานในภาคท่องเที่ยวที่ต้องประคับประคองต่อ ถ้าต่างประเทศมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดได้ระดับหนึ่งอย่างที่เริ่มฉีดกันและวัคซีนไม่ได้มีปัญหาก็เป็นไปได้ที่หลังจากช่วงปีใหม่จะต้องเริ่มเปิดรับนักลงทุนจากต่างประเทศที่จะมาดูลู่ทางลงทุนในไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนพิเศษเข้ามา”

โดยมีกระบวนการที่รัฐเตรียมไว้แล้วว่ากลุ่มนี้มาจะติดตามอย่างไร และเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวในครึ่งปีหลัง เพราะนักท่องเที่ยวฝั่งยุโรปจะจองการเดินทางช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ถ้าเราเตรียมความพร้อมไว้ ทั้งระบบสาธารณสุข การกักกันตัวและระบบติดตาม ภาคท่องเที่ยวจะเริ่มดีขึ้น คงไม่ได้ดีแบบกลับไปสู่จุดเดิม แต่บรรเทาเบาบางลงบ้าง

ขณะเดียวกัน มีความเป็นห่วงสภาพคล่องของธุรกิจเอสเอ็มอี ในส่วนที่ยังได้รับผลกระทบจะต้องประคับประคองให้เขายืนระยะต่อไปให้ได้ และต้องไปไล่ดูว่าบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ออกไปค้ำประกันสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาอย่างไร รวมทั้งมีความเป็นห่วงหนี้ครัวเรือน ซึ่งตอนนี้หนี้เสียตามตัวเลขยังอยู่ไม่มากที่ 3% กว่า ถ้ายังคุมได้และมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะรายเพื่อให้จำนวนที่จ่ายต่อเดือนลดลง จะได้มีกำลังใช้จ่ายในชีวิต แต่หากหนี้ครัวเรือนต่อเดือนสูงมากกำลังซื้อจะหดลง และเดี๋ยวก็ไปก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งไม่ควรเป็นอย่างนั้น

สำหรับค่าเงินบาทที่มีบางช่วงแข็งค่าขึ้นและถูกจับตามอง จากผลของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มีเงินทุนไหลเข้า และนำเข้าสินค้าทุนน้อย ปีหน้าต้องหาทางให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนเพื่อปรับประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งนำเข้าเครื่องจักรทันสมัยมาปรับโครงสร้างตัวเอง ต้องมองไปข้างหน้าว่า ต้องปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้ วิกฤติรอบนี้มีมาแล้วต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ทั้งการปรับโครงสร้างราชการและภาคอุตสาหกรรม

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จะเกิดในปี 2564 ต้องจับตาดูให้ดีและทิศทางที่อยากให้เป็น ภาครัฐต้องมีวิธีการดึงนักลงทุนที่เป็นเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) ตัวไหนที่ควรต้องเดินไปข้างหน้า เช่น ดิจิทัล อีวีแบตเตอรี่ เครื่องมือแพทย์ และการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยต้องดึงนักลงทุนในเชิงยุทธศาสตร์ ต้องดูว่าคนไหนที่เก่งและมีทีมไปหาทางดึงดูดเข้ามาและอาจต้องมาเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทไทยที่มีความแข็งแรง ซึ่งรัฐบาลกำลังเตรียมเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ปีหน้าก็ยังต้องอาศัยเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก

“ย้ำว่าการดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาต้องทำเป็นยุทธศาสตร์ไม่ใช่เปิดให้ใครก็ได้เข้ามา ต้องดูประเทศไทยต้องการอะไรและดึงคนเก่งระดับท็อป 10 ท็อป 20 ของโลกเข้ามาลงทุนในไทย ที่ผ่านมารัฐบาลใช้วิธีการตั้งแรงจูงใจให้เข้ามาลงทุน มีการไปโรดโชว์เป็นรอบๆและรอให้ต่างประเทศสนใจเข้ามาติดต่อ แต่สิ่งที่จะทำไม่ใช่ จะเป็นการดึงดูด การลงทุนเชิงรุก สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องไปดูว่าจะปรับปรุงสิทธิประโยชน์อย่างไร”

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องดูควบคู่ไปในปี 2564 คือ เศรษฐกิจฐานราก ต้องใช้เงินกระตุ้นให้สร้างรายได้มั่นคงและเข้าไปอยู่ในระบบการค้าใหม่ ในเวลานี้พอทำได้ โดยต่อยอดจากโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เรามีฐานข้อมูลร้านค้ารายเล็กหรืออยู่ในชุมชน หากเอาขึ้นแพลตฟอร์มและหาวิธีการลงไปช่วยปรับปรุงผลิตภัณฑ์ก็จะสร้างโอกาสในการขายของออนไลน์ให้เขาได้สุดท้าย สำหรับเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000

ล้านบาท ยังไม่ได้ลงไปในพื้นที่ตามที่คาดไว้ จึงมีการทำหลักเกณฑ์กระจายเงินไปตามจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดก็มีหลักเกณฑ์คำนวณวงเงินที่ได้ตามจำนวนประชากรและสภาพเศรษฐกิจ และใช้กลไกขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้รัฐมนตรีแต่ละคนรับผิดชอบจังหวัด ตรงนี้ก็ต้องไปช่วยกันดูว่าจังหวัดมีศักยภาพอะไร มีปัญหาอะไรและจะทำอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการในพื้นที่ ซึ่งเมื่อจังหวัดทำออกมาผ่านรัฐมนตรีที่กำกับดูแลจังหวัดแล้ว ก็จะมาเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จากนั้นนำเข้าคณะรัฐมนตรีและนำไปทำโครงการได้ โดยให้แต่ละจังหวัดเริ่มคิดและส่งกลับมาในปลายเดือน ก.พ.2564

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เป็นในทิศทางเดียวกัน ทั้งกระทรวงการคลัง สศช. และ ธปท.มอง คือ มีแนวโน้มเป็นบวก โดยคลังคาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 4% ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับสภาพัฒน์ และ ธปท. แต่หากจะได้ตัวเลขจริงๆ น่าจะในเดือน ม.ค.64 ซึ่งจะมีการประเมินอีกครั้ง

โดยในปี 2564 รัฐบาลยังคงจะเดินหน้ากระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ ผ่านมาตรการต่างๆของรัฐบาล ทั้งโครงการคนละครึ่งที่จะมีผู้ใช้ราว 15 ล้านคน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน การเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการหักลดหย่อนภาษี เป็นต้น เชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงนี้ต้องพึ่งเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก เพราะการส่งออก การท่องเที่ยว ยังหดตัวอยู่

“การกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ถือเป็น เครื่องจักรกลตัวแรก ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต และทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวด้วยการสนับสนุนให้คนไทยเที่ยว ผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพื่อให้ธุรกิจโรงแรมกลับมาเปิดกิจการได้ ซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้าต่อไป และเมื่อโรงแรมกลับมาเปิดกิจการได้ ก็จะเกิดห่วงโซ่การจ้างงาน การใช้จ่ายซื้อสินค้า อาหาร ผัก ผลไม้ จากชาวไร่ ชาวสวน เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ”

“ภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 18% ของ GDP แบ่งเป็นการท่องเที่ยวจากต่างชาติ 12% ที่ยังไม่ฟื้นตัว เพราะเรายังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวแบบเต็มตัว แต่การท่องเที่ยวในประเทศ 6% ขณะนี้เริ่มฟื้นตัวแล้ว ค่อยๆขยับมาเป็น 3% แล้ว เหลืออีก 3% ต้องช่วยกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวต่อเนื่อง ส่วนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว 5 ล้านคนในปี 2564 นั้น ขณะนี้เราเตรียมความพร้อมรองรับแล้ว แต่นั่นคือก่อนเหตุการณ์ “สมุทรสาคร” ตอนนี้ก็ต้องรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ก่อน “เราพร้อมฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ทางต้นทางที่จะมาเที่ยว พร้อมจะมาท่องเที่ยวด้วย”

ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยวว่า ธุรกิจท่องเที่ยวจะค่อยๆฟื้นตัว และจะฟื้นตัวจริงๆ ใช้เวลา 4 ปี โดยปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยว 5 ล้านคน ปี 2565 มีนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน ปี 2566 มี 20 ล้านคน และปี 2567 จะกลับมาที่ 40 ล้านคน และขอให้ติดตามอย่างใกล้ชิด เปิดประเทศเมื่อใด นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลมาแน่นอน เพราะประเทศไทยปลอดภัยมาก แต่วิถีการท่องเที่ยวต้องปรับเปลี่ยนไป คุมเข้มมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

สำหรับโครงการคนละครึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากเฟสแรกที่มีการจับจ่ายใช้สอยกัน คนมีรายได้น้อยได้ประโยชน์ ร้านค้าย่อยก็ได้ประโยชน์ และเชื่อว่าเมื่อเริ่มมีการใช้จ่ายคนละครึ่งเฟส 2 ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2564 ก็จะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอีกแน่นอน

ขณะที่ เครื่องจักรกลตัวที่ 2 คือ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการลงทุนของภาครัฐนั้นเดินหน้าตลอดมา ไม่มีหยุด เพราะข้าราชการยังคงรับเงินเดือนเหมือนเดิม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่หยุดยังคงเดินหน้าก่อสร้างต่อเนื่อง ซึ่งทุกคนก็จะเห็นจากงานก่อสร้างรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ ถนนหนทางต่างๆมีการก่อสร้างตลอดเวลา และทยอยเปิดให้บริการอย่างต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนเอกชน ยังลงทุนต่อเนื่อง โรงงานหยุดก่อสร้างไม่ได้ เพราะเงินทุกบาทที่ลงทุนไปมีค่า หยุดก่อสร้าง
โรงงาน แต่ดอกเบี้ยเงินลงทุนไม่หยุด ดังนั้น ก็ต้องเดินหน้าก่อสร้างลงทุนต่อไป

“ค่ายรถยนต์บางราย ยังลงทุนต่อเนื่อง และแจ้งเพิ่มกำลังผลิต ทำงานทุกวัน ไม่เว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และช่วงสงกรานต์จะไม่หยุดทำงานเพราะยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นเป็นลักษณะทยอยดีขึ้น แต่ไม่เท่าก่อนการล็อกดาวน์เมื่อช่วงต้นปี ขณะที่ตลาดทุนยังดี เพราะมีหลายๆบริษัทออกหุ้นกู้ เพื่อนำเงินมาลงทุน ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวส่งสัญญาณดีขึ้น”

ทั้งนี้ ต้องเร่งส่งเสริมการลงทุน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้บีโอไอ เร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริง หลังจากได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ให้ไปแล้ว เพราะการลงทุนทั้งภาครัฐ และเอกชน ถือเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปได้

“ผมเชื่อว่าปี 2563 ติดลบแล้ว ปี 2564 จีดีพีจะต้องเป็นบวก และทยอยบวกขึ้นเรื่อยๆ เพราะการใช้จ่ายในประเทศ เริ่มกระเตื้องขึ้นมาแล้ว การระบาดรอบใหม่นี้น่าจะเป็นช่วงสั้น การกำจัดการแพร่ระบาด การติดตามบุคคลที่ติดเชื้อ เราก็ทำได้เร็ว หากสกัดการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว ประชาชนก็จะมีความเชื่อมั่น”

เรามีประสบการณ์มาแล้ว เมื่อช่วงต้นปี คงไม่มีใครอยากให้มีการล็อกดาวน์อีก หากจะล็อกดาวน์จริงๆ คงเป็นแบบจำกัดพื้นที่มากกว่า ขณะเดียวกันประชาชนต้องร่วมมือ ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพราะความร่วมมือสำคัญมาก จะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน และ “เราจะสู้ไปด้วย”.


ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ