ส่งออกเดือน พ.ย.ฟื้นตัวต่อเนื่อง ลดลงเพียง 3.65% หดตัวต่ำสุดในรอบปี หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว มีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม และมีข่าวดีวัคซีนโควิด–19 ช่วยกระตุ้นการผลิต การบริโภค ส่งให้ยอดรวม 11 เดือน ลบ 6.92% มั่นใจทั้งปีต่ำกว่าที่คาดลบ 7% ส่วนปี 64 ประเมินบวก 4%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เมื่อ เดือน พ.ย. การส่งออกมีมูลค่า 18,932 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 3.65% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.2562 เป็นการหดตัวต่ำสุดในรอบปีนี้ เป็นสัญญาณดีของการส่งออกของไทยที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อคิดเป็น เงินบาทมีมูลค่า 585,911 ล้านบาท ลดลง 0.65% แต่ถ้าหักมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ ที่มีความผันผวนด้านราคา และอาวุธออกจะติดลบเพียง 2.09% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 18,880 ล้านเหรียญฯ ลดลง 0.99% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 592,369 ล้านบาท เกินดุลการค้า 52.59 ล้านเหรียญฯ เมื่อคิดเป็นเงินบาทขาดดุล 6,458 ล้านบาท เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
ขณะที่ 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 211,385 ล้านเหรียญฯ ลดลง 6.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 6.575 ล้านบ้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 187,872 ล้านเหรียญฯ ลดลง 13.74% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 5.920 ล้านล้านบาท เกินดุลการค้า 23,512 ล้านเหรียญฯ หรือ 655,384 ล้านบาท
“ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นจากการที่หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และข่าวดีจากวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค และผลดีจากกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดีใน 3 กลุ่มหลัก คือ อาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์ และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ และลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และถุงมือยางที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง”
สำหรับการส่งออกเดือน พ.ย. ที่ลดลงเป็นการลดลงในทุกกลุ่ม โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรลดลง 2.4% จากการลดลงของน้ำตาล อาหารทะเลแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป แต่ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ข้าว สิ่งปรุงรสอาหาร ผัก ผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องเพิ่มขึ้น
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมลด 2.9% จากการลดลงของสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์รักษาสิว แต่สินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วน ประกอบ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์
“ตลาดส่งออกมีการฟื้นตัวดีขึ้น โดยตลาด หลักเพิ่ม 5.9% จากการเพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ 15.4% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.4% แต่สหภาพยุโรป (อียู) 15 ประเทศ ลด 8.5%, ตลาดศักยภาพสูงลด 11% โดยจีนลด 8.9% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 15% ซีแอลเอ็มวีลด 13% เอเชียใต้ลด 1.5%, ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 4.2% โดยทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 23.7% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 4.9% รัสเซียและกลุ่มประเทศซีไอเอส เพิ่ม 20.8% แต่ตะวันออกกลาง ลด 12.1% และละติน อเมริกา ลด 12.1%”
ดังนั้น ถ้าในเดือน ธ.ค. มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 18,000 ล้านเหรียญฯ คาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะติดลบ 6.86% แต่ถ้าได้มูลค่า 18,500 ล้านเหรียญฯ จะติดลบ 6.6% และได้มูลค่า 19,000 ล้านเหรียญฯ ติดลบเหลือ 6.45% ถือว่าต่ำกว่าที่ประมาณการเอาไว้ว่าทั้งปีติดลบ 7% มูลค่า 229,030 ล้านเหรียญฯ คาดว่าไตรมาสแรกปีหน้าตัวเลขการส่งออกอาจยังไม่ดีนัก เพราะมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบอยู่ทั้งโควิด-19 การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศยังไม่สะดวกมากนัก การส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ยังได้รับผลกระทบจากการปิดด่านหลายแห่ง
“แต่คาดว่าในปีหน้า เบื้องต้นประเมินว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 4% มูลค่า 238,477 ล้านเหรียญฯ โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก แม้มีการล็อกดาวน์เป็นจุดๆ แต่ไม่กระทบเศรษฐกิจรุนแรงเหมือนรอบแรก, วัคซีนน่าจะออกมาแล้ว แม้ยังฉีดไม่ได้ทุกคน แต่ก็สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น, ราคาน้ำมัน มีแนวโน้มฟื้นตัว หากโควิด-19 จำกัดการระบาดได้, สินค้าไทยทั้งกลุ่มอาหาร ทำงานที่บ้าน และดูแลสุขภาพ ยังคงส่งออกได้ดี ตามความ ต้องการซื้อ รวมถึงกลุ่มอื่นๆที่มีแนวโน้มดีขึ้น เช่น รถยนต์ ส่วนปัจจัยที่ต้องระวัง คือ ค่าเงินบาท นโยบายของสหรัฐฯ ภายหลังเปลี่ยนประธานาธิบดีคนใหม่”.