เจาะมุมมอง ชีวิตและการทำงาน 4 ผู้หญิง "แกร่ง" อนาคตใหม่ของ ปตท.

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เจาะมุมมอง ชีวิตและการทำงาน 4 ผู้หญิง "แกร่ง" อนาคตใหม่ของ ปตท.

Date Time: 21 ธ.ค. 2563 05:20 น.

Summary

  • ประชากรเพศหญิงของปี 2020 มีอัตราสัดส่วนสูงกว่าเพศชายร้อยละ 51 ต่อ 49 หรือประมาณ 33.4 ล้านคน ต่อ 32.1 ล้านคน

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

ประชากรเพศหญิงของปี 2020 มีอัตราสัดส่วนสูงกว่าเพศชายร้อยละ 51 ต่อ 49 หรือประมาณ 33.4 ล้านคน ต่อ 32.1 ล้านคน แม้ตัวเลขจะดูต่างกันไม่มากนัก แต่ที่น่าสนใจก็คือ พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้หญิงสมัยใหม่มีกำลังสูงถึง 85% และเป็นคนสำคัญ

ในการตัดสินใจซื้อบ้าน รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ สินค้าสุขภาพ ตลอดจนถึงอาหารสูงถึง 91% ในจำนวนนี้ไม่ใช่เพียงผู้นำเทรนด์ในการจับจ่ายใช้สอย หรือช็อปปิ้งเท่านั้น แต่พวกเธอยังดำรงตำแหน่งในโลกธุรกิจอยู่ถึง 37% ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลก

การเป็นตัวของตัวเอง กล้าตัดสินใจ เรียนหนังสือสูงกว่า ทำให้ผู้หญิงไทยรั้งตำแหน่งสูงสุดในบริษัทต่างๆถึงร้อยละ 33 สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอาเซียน 21% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 15%

ข้างล่างนี้ คือ บทสัมภาษณ์ที่ทำให้ ทีมเศรษฐกิจ เห็นถึง “พลัง” ของผู้บริหารหญิงที่อยู่ในแวดวงไม่ธรรมดา เรื่องของพลังงานในบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. จำกัด (มหาชน) หนึ่งในองค์กรที่เปิดกว้างให้ทุกคนได้มีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องการทำงาน จากบทสัมภาษณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยไฟแห่งความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจในการทำงานของผู้หญิง 4 คนที่อนาคตอาจเป็นหนึ่งที่ถูกคัดสรรให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของ ปตท.

พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน

หนึ่งในทีมผู้บริหารหญิงที่ทำหน้าที่ดูแลการเงิน และบัญชีขององค์กรที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ชื่นชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งการท่องเที่ยวและติดตามเทคโนโลยี และนำมาปรับใช้กับงานและสร้างแรงบันดาลใจให้ชีวิต

ถ้าจะพูดถึง ปตท. นอกจากมีหน้าที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศแล้ว ปตท.ยังให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปให้ได้

ทั้งนี้ รายได้ของ ปตท.ส่วนหนึ่งยังนำไปใช้ดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ปตท.ก็เป็นหนึ่งในกลไกของรัฐที่ดำเนินตามนโยบาย Restart Thailand ด้วยมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายด้าน เช่น การจ้างงานของกลุ่ม ปตท.มากกว่า 25,000 อัตรา (ปี 63-64) สนับสนุนให้พนักงานท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน เป็นต้น ในส่วนของ ปตท.เองก็ต้องรักษาสภาพคล่อง วางแผนการใช้เงิน และการจัดหาเงินอย่างรอบคอบ เพราะไม่รู้ว่าวิกฤติครั้งนี้จะมีผลกระทบยาวนานขนาดไหน

เราจึงต้องรักษาความแข็งแกร่ง เสถียรภาพ และวินัยทางการเงิน สร้างความเชื่อมั่น และความมั่นใจให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ทั้งนี้สายงานการเงินและการบัญชีมีบทบาทสำคัญในการร่วมกำหนดกลยุทธ์ และนโยบายองค์กรในภาวะวิกฤติ เช่น ลด ละ เลื่อน ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน จัดตามลำดับความจำเป็นก่อนหลัง รวมถึงมีแผนบริหารความเสี่ยง เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆด้วย

“เช่น เตรียมจัดหาเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ โดยได้จัดหาเงินล่วงหน้า (Pre-Fund) ผ่านการออกหุ้นกู้ทั้งสกุลเงินบาท และเหรียญสหรัฐฯช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.จำนวน 56,000 ล้านบาทรักษาอันดับความน่าเชื่อถือของ ปตท. ให้มีความน่าเชื่อถือที่ดีเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน เจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นกู้วิเคราะห์และบริหารความเสี่ยงของคู่ค้าและลูกค้า โดยจ่ายเงินให้คู่ค้าตามกำหนดเวลา ดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบและมีมาตรการให้ความช่วยเหลือคู่ค้าที่เหมาะสมเรียกได้ว่า“ช่วยเขาด้วย ช่วยเราด้วย” ปตท.ขอเป็นกำลังใจให้ทุกภาคธุรกิจฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้”

อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนรู้ และเข้าใจดีคือ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัว ไม่เว้นแม้แต่งานการเงิน และบัญชีที่ดิฉันดูแลอยู่ เราจึงต้องศึกษา และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต เช่น FinTech, Big Data เป็นต้น ซึ่ง ปตท. ได้นำเทคโนโลยี Robotic Process Automation (RPA) มาช่วยทำงานด้านบัญชีในส่วนงานที่ทำซ้ำๆ ไม่มีความซับซ้อน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดเวลาการทำงาน เพราะ RPA ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

การเตรียมความพร้อมของพนักงานในสายงานการเงินและบัญชีจำนวน 300 คนคือความท้าทายที่ต้องสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงานพร้อมยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้นให้มีความพร้อมทำงานในสภาพที่เปลี่ยนไปเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นรอบตัวให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

เพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย

“ปัจจุบันประเทศไทยมี CEO และผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้หญิงสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นอันดับ 2 ของโลก ดังนั้นในการทำงานทุกวันนี้จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะฝึกฝนหรือพัฒนาตัวเองอย่างไร”

คุณเพียงพนอ ชอบการอ่านหนังสือ และการเดินทางซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นการไปเที่ยวเท่านั้นแต่รวมถึงการเดินทางไปทำงานที่ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศด้วย เริ่มจากการชื่นชอบธรรมชาติ กระทั่งให้ความสนใจหลากหลายขึ้น ชอบศึกษา และเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ผู้คน ศิลปะ วัฒนธรรม เมื่อประกอบกับการชอบอ่านหนังสือทำให้เธอเห็นโลกกว้าง เข้าใจผู้คนมากขึ้น เมื่อโลกกว้าง ใจเธอก็กว้างขึ้นด้วยเช่นกัน

“ยิ่งทำงานด้านกฎหมายด้วยแล้ว ยิ่งต้องเปิดใจรับฟัง และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น บางคนอาจไม่เห็นว่ากฎหมายสำคัญกับชีวิต ทั้งที่ชีวิตผู้คนยุ่งเกี่ยวกับกฎหมายตลอดเวลา” ยิ่งสังคมซับซ้อน ยิ่งมีปัญหายากขึ้น เราจึงได้ยินผู้คนพูดถึงประเด็นทางกฎหมายบ่อยขึ้น...ตั้งแต่ขับรถออกจากบ้านก็เจอกฎหมายจราจรแล้ว ฯลฯ

คุณเพียงพนอ กล่าวว่า เธอได้เริ่มเปิดเพจในเฟซบุ๊ก ‘In House : Matters that Matter’ เขียนบทความอ่านง่ายๆ ให้นักกฎหมายภายใน (In-house Lawyers) นำไปใช้ แต่พอเกิดโควิด-19 ธุรกิจได้รับผลกระทบมาก กิจการต่างๆ ทยอยปิดตัวลง สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีแนวคิดรวมผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ด้านต่างๆ รวมทั้งผู้ที่จะสื่อความด้านกฎหมายมาร่วมกันทำเพจ ‘ห่วงใย Thai Business’ เรารับจัด Legal in Action ตั้งใจพูดเรื่องกฎหมายให้ฟังเข้าใจง่ายๆ นำไปใช้กับธุรกิจได้ โดยไลฟ์สดหนึ่งชั่วโมงครึ่งจากเดิม 45 นาที มีคนติดตามเฉลี่ยในแต่ละตอน 4-5 พันคน ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ต่อไปเราจะทำเป็นพ็อดแคสต์สั้นๆ 15-30 นาทีให้ได้ฟังด้วย

ในฐานะที่ทำงานด้านกฎหมายมานาน และดูแล ปตท. ซึ่งเป็นทั้งรัฐวิสาหกิจ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สำนักกฎหมายของ ปตท.มีจำนวนนักกฎหมายเทียบเท่าสำนักงานกฎหมายขนาดกลางเนื่องจากมีกฎหมาย กติกา และธุรกรรมมากมาย จึงแบ่งการทำงานออกเป็นฝ่ายต่างๆ เหมือนสำนักงานกฎหมาย ทั้งฝ่ายดูแลคดี ดูแลสัญญา ดูแลการลงทุน หน่วย Compliance และหน่วยให้บริการด้านกฎหมายกับบริษัทในเครือ ถ้าขยายการลงทุนกับต่างประเทศ จำเป็นต้องประสานนักกฎหมายต่างประเทศหรือพึ่งพานักกฎหมายภายนอก ถ้ามีประเด็นใหญ่ๆ เกิดขึ้นกับบริษัทในเครือก็ต้องให้คำปรึกษาด้วย เรียกได้ว่ามีงานเต็มมือแต่งานที่ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก คือการสร้างคนรุ่นใหม่ให้สามารถนำพาและเป็นคู่คิดให้กับคนในองค์กรเพื่อก้าวไปข้างหน้า โดยมีฝ่ายกฎหมายช่วยระวังหลังให้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยีที่มีการแข่งขัน และท้าทายมากขึ้น ถือเป็นความท้าทายสำหรับเธอว่าเราจะสร้างคนรุ่นใหม่แบบไหน อย่างไร

“เรื่องสำคัญที่สุดคือการปรับ Mindset ว่าโลกภายนอกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ต้องยอมรับว่าทุกคนมีข้อผิดพลาดได้ ตราบใดที่ไม่ใช่เรื่องทุจริต รวมทั้งการลดขั้นตอนการบริหารจัดการ เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจ ส่วนเราทำหน้าที่เป็นโค้ช ซึ่งต้องเข้าใจการทำธุรกิจสามารถเป็นคู่คิดได้ ขณะเดียวกันต้องรู้ว่าเส้นแบ่งไหนอันตราย ข้ามไม่ได้ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องฝึกเรื่อยๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าในอนาคต”

อรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร

“กิจกรรมที่ชอบทำคือการไปเที่ยวพร้อมกับหาของอร่อยๆ ทานกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง แม้จะต้องรอเป็นชั่วโมงก็ไป ถือเป็นการปลดปล่อยและสอนให้รู้จักความอดทน ซึ่งการรอแบบนี้ก็ทำให้เราเข้าใจลูกน้องด้วย เพราะบางครั้งกว่าเขาจะส่งงานให้เราได้ เขาเองก็ต้องรอข้อมูลจากหน่วยงานอื่นเหมือนกัน การที่เราไปเร่งก็ไม่ต่างอะไรกับการนั่งรอคิวร้านอาหาร เพราะเร่งไป เมื่อไม่ได้ก็คือไม่ได้ ต้องรู้จักปล่อยวาง”

คุณอรวดี ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพ หลังไม่เคยชอบออกกำลังกาย แต่พอคิดว่าถ้าตัวเราไม่ทำแล้วใครจะทำแทนได้ จึงชอบออกกำลังกายมาจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งทำแล้วเห็นผล ยิ่งตั้งใจทำมากขึ้น เวลาทำสิ่งใดจึงชอบมองเห็นผลที่จะได้ เพราะความตั้งใจอยู่ที่ตัวเรา ซึ่งตรงนี้สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานได้ด้วยเพราะงานด้านกลยุทธ์องค์กรคือการวางทิศทางการดำเนินธุรกิจหรือประเมินสภาพธุรกิจในอนาคต โดยใช้ข้อมูลที่คาดว่ามีโอกาสจะเกิด

“สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจประจำที่ทุกบริษัทหรือองค์กรต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันคือ การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ แต่พอเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่ง ปตท.เองไม่เคยเจอมาก่อน ส่งผลให้มีการลดการใช้พลังงาน ราคาน้ำมัน และพลังงานตกลง การวางแผนอนาคตองค์กรที่เราต้องมองล่วงหน้าสิบปี ทำให้ต้องทบทวนกลยุทธ์ใหม่หมด พร้อมกับนำกลยุทธ์ 4R ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ใช้มองทั้งระยะสั้นและระยะยาวมาใช้ในวิกฤตินี้

“4R ประกอบด้วย 1.Resi-lience (ล้มแล้วลุกได้ทันที) ต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์ เช่น ปตท.มองว่าวิกฤติโควิด-19 จะทำให้ภาวะต่างๆ ทั้งในประเทศ ไทย และต่างประเทศแย่ไปถึงสองปี หลักสำคัญในเวลานี้คือ บริหารการเงินอย่างระมัดระวัง ต้อง ‘ลด ละ เลื่อน’ ดูว่าสิ่งใดต้อง ‘ลด’ คือทำน้อย สิ่งใดที่ไม่ต้องการทำเลยคือ ‘ละ’ และอะไรที่ต้องทำแต่ ‘เลื่อน’ได้...”

...สิ่งสำคัญ ในการทำให้กลยุทธ์นำไปสู่การปฏิบัติได้คือ ข้อมูลที่เรานำไปบอกคนอื่นหรือหน่วยงานอื่นๆต้องมีน้ำหนักพอที่จะทำให้เขาเชื่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงและเข้มข้นในระดับใดและควรเข้าไปดำเนินการอย่างไร 2.Restart เมื่อทุกอย่างพร้อมกลับสู่สภาพปกติ ปตท.ต้องพร้อมทำงานทันที บริษัทในเครือของเราทำธุรกิจคล้ายกันจำนวนมาก จึงต้องมาคุยกันมากขึ้นว่า จะบริหารองค์กรร่วมกันอย่างไร เป็นต้น

3.Re-imagination คือ จินตนาการว่าในอนาคต ปตท. ควรทำอะไรเพื่อให้รับกับ New Normal เช่น ราคาน้ำมันลดลง

และมีโอกาสที่ราคาจะขึ้นไประดับเดิมได้ยากมาก เพราะปรับเปลี่ยน Demand/Supply อย่างฉับพลัน เมื่อก่อนสินค้าล้นตลาดจนไม่จำเป็นต้องผลิตเองอาจนำเข้าจากประเทศที่มีฐานการผลิต ต้นทุนต่ำ เช่น จีน แต่ทุกวันนี้โลจิสติกส์ระหว่างประเทศยังมีปัญหา หลายประเทศจึงต้องสร้างฐานการผลิตของตัวเองขึ้นมาเองและ 4.Reform คือปรับกระบวนการโครงสร้างและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีความเป็นไปได้ เช่น New Energy, Battery & Hydrogen Fuel Oil หรือแม้กระทั่งธุรกิจ Life Science ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์

“หลายคนชอบถามว่า การเป็นผู้บริหารหญิงในองค์กรด้านพลังงานที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นสายงานของผู้ชาย ต้องมีวิธีคิดและวางตัวต่างออกไปไหม อยากจะบอกว่าการที่เราจะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนา เพิ่มความรู้ความสามารถ ให้เขามั่นใจว่าเราสามารถรับผิดชอบงานระดับสูงได้ โชคดีที่...ดิฉันเรียนด้านวิศวกรรมและการบริหารมา ทำให้เข้าใจในธุรกิจขององค์กรและสามารถบริหารงานได้ไม่ยากเกินไป เริ่มตั้งแต่สมัยทำงานเป็นวิศวกรโรงกลั่นน้ำมัน จนมาทำงานบริหารในสายธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี

ก่อนจะย้ายมาทำงานในปัจจุบัน โชคดีที่ ปตท.และองค์กรหลายๆ แห่งของบ้านเราให้โอกาสผู้หญิงมากกว่าแต่ก่อน จากความสามารถมากกว่าจะมองว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่ก็อยากเห็นว่า สักวันหนึ่ง CEO ปตท. จะเป็นผู้หญิง “หลักสำคัญที่ดิฉันนำมาใช้ในการบริหารเสมอๆ คือ ต้องตัดสินใจให้ทันเวลาบนพื้นฐานข้อมูลและข้อเท็จจริงมากที่สุด ต้องตั้งเป้าหมายความสำเร็จที่ชัดเจนร่วมกับทีมงาน เปิดรับฟังข้อคิดเห็นหรือข้อกังวล และคอยสนับสนุนพวกเขาให้ทำงานได้อย่างราบรื่น”

งานที่รับผิดชอบได้แก่ งานกำกับดูแลธรรมาภิบาลขององค์กร (Governance, Risk, Com pliance) ที่มุ่งเน้นให้มีการกำกับดูแลอย่างเหมาะสมในกระบวนการทำงานทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากความผิดพลาด ทุจริต หรือการทำผิดกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ต่อมาคืองานกิจการเพื่อสังคม พัฒนาชุมชนและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกับการเติบโตทางธุรกิจของ ปตท. อย่างยั่งยืน สุดท้ายคือ งานบริหารชื่อเสียงองค์กร ซึ่งต้องสื่อสารให้เข้าถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ให้เขาเข้าใจตัวตนและบริบทขององค์กร เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยเหลือสังคมของ ปตท. ชื่นชอบ และสนับสนุน ปตท.ต่อไป

“เราได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในการทำงานเช่นการทำระบบรับข้อร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสทุจริต ผ่านระบบออนไลน์ และใช้ Data Analytic เพื่อจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว รวมทั้งนำความรู้ความสามารถเรื่องเทคโนโลยีพลังงาน เทคโนโลยีเกษตรสมัย ใหม่ และการบริหารจัดการมาประยุกต์ใช้ในโครงการ ‘ชุมชนยิ้มได้’ ที่ ปตท.ได้ริเริ่ม โดยมี 2 โครงการหลัก คือ

“Smart Farming เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเกษตรกรลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลิตผล เช่น ติดตั้งโซลาร์เซลล์ใช้กับเครื่องมือเกษตรกรรม การใช้โดรนวิเคราะห์พื้นที่ รดน้ำและปุ๋ย Smart Marketing เป็นการทำแพลตฟอร์มออนไลน์ www.ชุมชนยิ้มได้.com เพื่อให้ชุมชนนำผลผลิตมาโพสต์ขาย ช่วยยกระดับคุณภาพสินค้า และแพ็กเกจ รวมทั้งการจัดส่งและการตลาดออนไลน์ ก็เชื่อมั่นว่าการพัฒนาชุมชนและสังคมในรูปแบบการมีส่วนร่วมจะส่งผลให้สังคม ชุมชน และประเทศมีความยั่งยืน”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ