ชง “สมุดปกขาว” กู้เศรษฐกิจ “หอการค้า” ห่วงชุมนุมรุนแรง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชง “สมุดปกขาว” กู้เศรษฐกิจ “หอการค้า” ห่วงชุมนุมรุนแรง

Date Time: 27 พ.ย. 2563 08:12 น.

Summary

  • “เอกชน” ห่วงชุมนุมการเมืองรุนแรง ฉุดการค้าการลงทุน-การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ชี้หากมีความรุนแรงเศรษฐกิจฟื้นช้าทันที “หอการค้าไทย” เตรียมทำสมุดปกขาวฟื้นเศรษฐกิจไทยปี 64 เสนอสุพัฒนพงษ์

Latest

ยกระดับงานสถาปนิก ’68 เพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ รับอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้น

“เอกชน” ห่วงชุมนุมการเมืองรุนแรง ฉุดการค้าการลงทุน-การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ชี้หากมีความรุนแรงเศรษฐกิจฟื้นช้าทันที “หอการค้าไทย” เตรียมทำสมุดปกขาวฟื้นเศรษฐกิจไทยปี 64 เสนอสุพัฒนพงษ์ แนะรัฐแก้ปัญหาน้ำ ห่วงค่าเงินบาท-ส่งออกไทย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยระหว่างเปิดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 38 ในระหว่างวันที่ 26-27 พ.ย.63 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรุงเทพฯ ว่าครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อระดม

ความคิดเห็นจากหอการค้าทั่วประเทศ และนำมาจัดทำเป็นสมุดปกขาว สรุปผลแนวทางในการผลักดันเศรษฐกิจไทยปี 64 เพื่อเสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน โดยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโควิด-19 นั้น สิ่งที่หอการค้าให้ความสำคัญและต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น คือปัญหาน้ำ โดยต้องการให้รัฐบาลกักเก็บน้ำจากปัจจุบันมีเพียง 7% ให้เป็น 14% รวมทั้งการพัฒนาด้านบริการ ผลักดันสินค้าชุมชน พัฒนาบุคลากร ป้องกันการแพร่ระบาดรอบ 2 ส่งเสริมการท่องเที่ยว

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 64 มองว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะดีขึ้น แต่มีข้อกังวล คือ ภาคการส่งออกของไทย ที่ติดปัญหาค่าขนส่งทางเรือที่แพงขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์มีไม่เพียงพอ ขณะที่การจะซื้อตู้มาจากต่างประเทศก็มีต้นทุนแพงขึ้น อีกทั้ง ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งต้องหารือร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ปัญหา

ขณะที่การชุมนุมทางการเมืองนั้น ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงและกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และยังทำให้นักลงทุนกังวลเช่นกัน จึงต้องการให้ภาครัฐกับผู้ชุมนุมหาแนวทางเจรจาร่วมกันด้วยสันติวิธี เพื่อยุติการชุมนุม
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันนั้น ยังยากที่จะวิเคราะห์ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด แต่ในปัจจุบัน มองว่ายังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่จุดสำคัญอยู่ที่ผู้ชุมนุมมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ที่สำคัญคือต้องไม่มีการปะทะ

“การชุมนุมยังไม่มีการค้างคืน เป็นเพียงการแสดงออกทางการเรียกร้อง ไม่มีความรุนแรงปรากฏ แต่ความวุ่นวายใจยังมีอยู่ ทำให้เศรษฐกิจโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนั้น หากมีการยกระดับ และมีความรุนแรงเมื่อใดก็จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าทันที จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวไตรมาสที่ 2 ปี 64 หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไปฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังปี 64 ได้ โดยทั้งปี 64 คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะโตได้ 4%”

วันเดียวกัน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวแบบช้าๆ ขณะที่ประเทศไทยในปีหน้าการส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี โดยปัจจัยที่ต้องจับตามีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1.ความชัดเจนในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือปัจจัยการเมืองต่างๆ ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าประเทศไทย จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัจจัยทางการเมือง แต่ก็ต้องพยายามจัดการไม่ให้สะดุด

2.ค่าเงินบาท ที่ปัจจุบันแข็งค่ามาก ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกเมื่อเปลี่ยนเป็นเงินบาทก็จะลดลง ศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งก็จะลดลง 3.การดูแลไม่ให้โควิด-19 มีการระบาดรอบสอง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าถ้าวัคซีนสามารถนำมาใช้ได้เร็วจะทำให้เศรษฐกิจกลับฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และ 4.สงครามการค้า ซึ่งไทยเองไม่ควรเลือกข้าง ต้องใช้กลยุทธ์เอียงจีนอ่อนตามสหรัฐฯ โดยพยายามค้าขายกับจีนผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงเดินหน้าตามสหรัฐฯ หากมีมาตรการส่งเสริมการค้าหรือการลงทุน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ